เล่ม ๑
คำนำ
หนังสือ “นิทานชาดก” หรือ “พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ” เล่มนี้ ได้คลอดออกมาเพราะเหตุและผลที่ ข้าพเจ้าทำการเผยแผ่ธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามานานหลายสิบปี สอนทั้งในด้านเขียนเป็นหนังสือ บันทึกลงเทป ซีดี วีซีดี ดีวีดี เทศนา คุยสนทนา ตอบปัญหา และให้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานตามศรัทธาด้วย
วัดหนองริวหนัง เริ่มตั้งและเปิดเป็นสำนักวิปัสสนา ฯ พ.ศ. ๒๕๑๗ ทำพิธีเปิดโดยพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระสุขุมวาทเวที (สุข สุขโณ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ และได้อบรมสั่งสอนให้ผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติจริงเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ และจักอบรมสั่งสอนต่อไปไม่มีหยุด จัดว่า ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญประโยชน์ตอบแทนบุญคุณโลกทั้ง ๓ อย่างพร้อมๆกันด้วย คือ สั่งสอนคนมิจฉาทิฏฐิให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ๑ สั่งสอนคนให้ปฏิบัติตามกุศลธรรมโดยงดเว้นจากอกุศลธรรม ๑ สั่งสินคนผู้มีจิตศรัทธาจะได้ปฏิบัติวอปัสสนากัมมัฏฐานก็ให้ปฏิบัติด้วย ๑
พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้ในสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๓ จตุกกฺ อังฺ ข้อ ๑๓๓ ไว้ว่า บุคคลผู้รับฟังคำสั้งสอนของสัตบุรุษมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ในโลกนี้มี ๔ จำพวก คือ
๑. อุคฆฏิตัญญู บุคคลผู้ฟังธรรมของสัตบุรุษแล้วรู้ได้ฉับพลัน
๒. วิปจิตัญญู บุคคลผู้ฟังธรรมของสัตบุรุษแล้วรู้และเข้าใจได้ต่อเมื่อท่านอธิบายขยายความแล้ว
๓. เนยยะ บุคคลผู้ที่สัตบุรุษพอจะแนะนำให้ปฏิบัติกุศลธรรมได้บ้าง แต่อาศัยเวลานานพอสมควร
๔. ปทปรมะ บุคคลผู้ที่สัตบุรุษไหน ๆ ก็สั่งสอนให้รู้และเข้าใจเนื้อหาหรือเข้าใจความหมายในธรรมภาคปฏิบัติจริงไม่ได้ แต่จะเป็นผู้มากไปด้วยการเรียนธรรม (ปริยัตติพหุโล) มากด้วยการบัญญัติธรรมนำไปเทศนาสั่งสอน (ปัญญัตติพหุโล) มากด้วยการสาธยายหรือการสวดธรรม (สัชฌายพหุโล) และมากด้วยการตริตรึกนึกคิดธรรม (วิตักกพหุโล) เท่านั้น
ปทปรมะ บุคคลผู้มีบทเป็นอย่างยิ่งนั้น หมายถึง บุคคลผู้รู้และจดจำได้แต่บทพยัญชนะหรือคำพูดที่เป็นบทธรรมคำสั่งสอนเท่านั้น ไม่สามารถจะรู้เนื้อหาหรือรู้ความหมายในธรรมได้ เพราะหมกมุ่นมัวเมาอยู่ในโลกธรรมมีลาภ ยศ เป็นต้น ชีวิตทั้งชาติจึงมากไปด้วยการเรียนปริยัติธรรม บัญญัติธรรม สวดหรือสาธยายธรรม ตริตรึกนึกคิดธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นนักธรรมวิหารี คือ ไม่ใช่ผู้มีชีวิตอยู่ในธรรมที่เป็นกุศลธรรมหรืออัพยากตธรรมเลย
มีคำสั่งสอนไว้ในสุตตันตปิฎกฉบับภาษาไทย เล่ม ๑๔ ปัญจก – ฉักกนิบาตอังคุตตรนิกาย ข้อ ๗๓ ธรรมวิหาริกสูตรที่ ๑ ความว่า
ดูกรภิกษุ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มากด้วยการเรียนธรรมบ้าง มากด้วยการแต่งหรือบัญญัติธรรมนำไปเทศน์บ้าง มากด้วยการสวดหรือสาธยายธรรมบ้าง มากด้วยการนึกคิดธรรมบ้าง ภิกษุทั้ง ๔ จำพวกนี้ไม่ชื่อว่าเป็นนักธรรมวิหารี คือ ไม่ใช่ผู้มีชีวิตอยู่ในธรรม (ที่เป็นกุศลธรรม) เลย (โน ธัมมวิหารี) ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ใช่นักธรรมวิหารีแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นปทปรมบุคคล ผู้เหมือนดอกบัวเพิ่งเกิดใหม่ ๆเจริญงอกงามอยู่ที่เหง้าบัว อาจจะตกเป็นอาหารของปลาและเต่าได้
การเผยแผ่ธรรมของข้าพเจ้านั้น ได้เผชิญหน้ากับบุคคลทุกจำพวกเหล่านี้นี่เอง จึงเกิดแรงบันดาลใจให้ระลึกถึง “นิทานชาดก” หรือ “พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ” ในหนังสือพระไตรปิฎก มหาวิตถารนัย ๕๐๐๐ กัณฑ์ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ ส. ธรรมภักดี เห็นว่าเหมาะสมแก่คนทุกจำพวก แม้ปทปรมบุคคลที่ยังไม่เต็มที่ก็ยังเห็นว่าเหมาะสมอยู่ เพราะเรื่องในชาดกแต่ละชาดก ๆ นั้น ย่อมเป็นประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ ประโยชน์ คือ ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้า ประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าผู้อ่านใช้สติอ่านด้วยความใครครวญดูดีๆ จะได้ประโยชน์จริง (นิสมฺม กรณํ เสยฺโย) และเมื่ออ่านแล้วให้มองย้อนเข้ามาดูตัวเองด้วย (โอปะนะยิโก)
ดังนั้น จึงได้รวบรวมเรียบเรียงข้อมูลนำมาพิมพ์เป็นเล่ม ถ้าขาดตกบกพร่องด้วยประการใดๆ ยินดีรับคำแนะนำจากท่านผู้รู้ด้านนี้ทุก ๆท่าน สาธุ.
พระครูสุคนธ์คณารักษ์
เจ้าอาวาสและเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด วัดหนองริวหนัง
ตำบลลำหนองแสน อำเภอหนองกุงศรี
จังหวัดกาฬสินธุ์
๒๘ มีนาคม ๒๕๕๕