๑๐๘. พาหิยชาดก ( เป็นคนควรศึกษาศิลปะ)

          พระบรมศาสดาทรงปรารภลิจฉวีองค์หนึ่งให้เป็นต้นเหตุ มีเนื้อความว่า กษัตริย์ลิจฉวีพระองค์นั้น เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประธาน พระชายาของลิจฉวีพระองค์นั้นเป็นผู้มีร่างกายอ้วนพีทั้งไม่มีอากัปกิริยาดีด้วย เมื่อสมเด็จพระพุทธองค์ทรงเสวยเสร็จแล้ว ก็พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เสด็จกลับไปยังกูฏาคารศาลา

          ฝ่ายภิกษุทั้งหลายได้เริ่มสนทนากันในธรรมสภา ถึงพระชายาของลิจฉวีพระองค์นั้น ว่าเหตุไรนางจึงเป็นที่โปรดปรานของพระสวามี เพราะนางมีรูปร่างอ้วนพี ทั้งกิริยาไม่สมประกอบ ไม่น่าที่พระราชสามีจะพอพระทัย เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงสดับ จึงเสด็จไปประทับ ณ ธรรมสภา แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กษัตริย์ลิจฉวีพระองค์นั้นจะได้พอพระทัยในสตรีอ้วนพีแต่ในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงแม้ในอดีตชาติปางก่อนก็เหมือนกัน แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า

          ในกรุงพาราณสี มีสตรีชาวชนบทคนหนึ่งเป็นคนมีรูปร่างอ้วนพี แต่มีอากัปกิริยาไม่ดี เที่ยวรับจ้างทำการงานเลี้ยงชีพอยู่เป็นนิตยกาล วันหนึ่ง ได้ไปที่หน้าพระราชวัง ก็พอดีปวดท้องทุกข์ขึ้นมาจึงนั่งลงริมทางเอาผ้านุ่งคลุมศีรษะถ่ายอุจจาระแล้วลุกไป ครั้งนั้น พระเจ้าพาราณสีได้ทอดพระเนตรเห็น ก็ทรงพระดำริว่าสตรีคนนี้ดูเป็นคนมีความละอายดี พอถ่ายอุจจาระแล้วก็รีบลุกไปไม่ชักช้า น่าจะเป็นหญิงปราศจากโรคาพาธ สตรีที่มีรูปร่างอ้วนพีเช่นนี้เห็นจะมีบุตรปราศจากโรคภัย ทั้งบุตรจะมีปัญญาเฉียบแหลมควรเราจะรับมาเป็นสนม เมื่อทรงพระดำริเช่นนี้แล้วก็โปรดให้อำมาตย์ไปตามหญิงคนนั้นมาเฝ้า เมื่อทรงทราบว่าเป็นหญิงไม่มีสามีจึงตั้งให้เป็นอัครมเหสีเป็นที่โปรดปรานของท้าวเธอ แล้วมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง ภายหลังพระราชโอรสพระองค์นั้นก็ได้สืบราชสมบัติแทน ครั้งนั้น อำมาตย์คนหนึ่งได้กราบทูลว่า ขึ้นชื่อว่าศิลปศาสตร์สมควรที่บุคคลจะต้องศึกษาไว้ ดูแต่พระอัครมเหสีผู้ถ่ายอุจจาระด้วยความละอาย และได้ปกปิดร่างกายด้วยเครื่องนุ่งห่มก็ยังเป็นที่นิยมโปรดปรานของพระมหากษัตริย์ถึงเพียงนี้ แล้วกราบทูลว่า

สิกฺเขยฺย   สิกฺขิตพฺพานิ          สนฺติคจฺฉนฺทิโน   ชนา

พาหิยาปิ   สุหนฺเนน          ราชานํ   อภิราธยีติ

          แปลความว่า บุคคลควรศึกษาศิลปะ เพราะคนทั้งหลายที่สนใจในศิลปะยังมีอยู่ ดูแต่สตรีที่มีกิริยาอายกระมิดกระเมี้ยนนั้นเถิด ยังเป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์ได้ ดังนี้

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาโปรดประทานเทศนาเรื่องอดีตดังนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า คู่สามีภรรยาในครั้งนั้น ก็คือสามีภรรยาคู่นี้ ส่วนอำมาตย์ผู้กราบทูลแสดงคุณแห่งศิลปวิทยา คือเราตถาคตนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นว่  การแสดงความละอายกระมิดกระเมี้ยนแห่งสตรีทั้งหลาย จัดเป็นศิลป์เสน่หาอย่างหนึ่ง ควรที่สตรีทั้งหลายจะถือไว้เป็นแบบอย่าง ส่วนในทางบรรพชิตก็เหมือนกัน คือถ้าบรรพชิตรูปใดมีความละอายประจำตัว บรรพชิตรูปนั้นก็เป็นที่รักใคร่นับถือแห่งคนทั้งหลาย เป็นอันได้ใจความว่า สตรีกับบรรพชิตต้องวิจิตรงดงามด้วยกิริยา คือต้องมีหิริความละอายออกหน้าเสมอไป แต่ไม่ใช่อายเหนียมจนเป็นที่ดูถูกแห่งบุรุษ และคนทั้งหลายควรละอายตามสมควรแก่เพศของตน อีกประการหนึ่ง อย่าแสดงความละอายให้เป็นเชิงล่อชาย ต้องแสดงความละอายให้เป็นเชิงที่ชายจะรัก และเกรงกลัว คือต้องให้แสดงความละอายอย่างผู้ใหญ่ หรืออย่างสุภาพสตรีที่มีกันอยู่โดยมาก และควรต้องมีความกลัวออกหน้าด้วย ความกลัวนั้นให้กลัวความเสียหายอันจะเกิดมีแก่ตน และแก่บิดามารดาตลอดถึงวงศาคณาญาติ ไม่ให้กลัวบุรุษ ต้องให้กล้าต่อบุรุษ คือให้กล้าแสดงกิริยาองอาจผ่าเผยต่อบุรุษ อย่าให้บุรุษดูถูกได้ เวลาบุรุษพูดจาแทะโลมอย่ามัวก้มหน้าละอาย ต้องเงยหน้าขึงตาใช้วาจาต่อสู้โดยว่ากล่าวจนให้ชายละอาย ขอสตรีทั้งหลายจงปฏิบัติตามโอวาทนี้เถิด ดังนี้

“บุคคลควรศึกษาศิลปะทั้งหลาย ชนทั้งหลายที่พอใจใน

ศิลปะนั้นก็มีอยู่แม้แต่หญิงที่เกิดในจังหวัดชั้นนอก ก็ยังทำ

ให้พระราชาทรงโปรดปรานได้ด้วยความกระมิดกระเมี้ยนของเธอ.

พาหิยชาดกจบ.