๓๘. พกชาดก (ว่าด้วยผู้ฉลาดแกมโกง)

          พระบรมศาสดาได้ทรงปรารภภิกษุผู้เป็นช่างจีวร มีเรื่องราวมาว่า ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ฉลาดในการตกแต่งจีวร เมื่อได้จีวรเก่า ๆ มาก็ตกแต่งให้เป็นเหมือนกับจีวรใหม่ ๆ ได้ด้วยการย้อม เป็นต้น เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ผ้าสำหรับทำจีวรมา จึงไปขอให้ภิกษุนั้นทำเป็นจีวรให้ ภิกษุรูปนั้นจึงเอาจีวรเก่าที่ตนทำไว้ดีแล้วแลกเอาผ้าใหม่ของภิกษุเหล่านั้นเสีย ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่าเป็นจีวรเก่าก็ยอมแลกเอาไป แต่เมื่อไปนุ่งห่มในไม่ช้าก็ปรากฏว่าเป็นจีวรเก่า ภิกษุเหล่านั้นก็พากันเสียใจ ครั้นต่อมา มีภิกษุช่างจีวรอีกรูปหนึ่งไปจากบ้านนอก เที่ยวหลอกลวงด้วยการแลกจีวรเก่ากับจีวรใหม่เหมือนกับภิกษุนั้น จนกระทั่งถึงพระเชตวันมหาวิหาร ภิกษุที่เป็นสหายก็บอกแก่เธอว่า ที่พระเชตวันมหาวิหารนี้ มีภิกษุช่างทำจีวรรูปหนึ่ง ทำการหลอกลวงภิกษุทั้งหลายอยู่เสมอ ภิกษุบ้านนอกนั้นก็คิดจะทดลองดู จึงแต่งจีวรของตนให้เป็นเหมือนจีวรใหม่แล้วห่มไปหาภิกษุนั้น ภิกษุนั้นเมื่อแลเห็นก็นึกชอบใจจึงไต่ถามว่าจีวรผืนนี้ท่านทำเองหรือ เมื่อได้คำตอบว่าทำเอง จึงขอเอาจีวรผืนนั้น แต่ภิกษุชาวบ้านนอกตอบว่า เมื่อข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่านแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่มีจีวรจะห่มต่อไป ภิกษุนั้นจึงตอบว่าถ้าอย่างนั้นท่านจงเอาผ้าใหม่ของข้าพเจ้าไปกระทำเป็นจีวรเถิด แล้วได้ให้ผ้าใหม่ของตนแลกจีวรเก่าของภิกษุชาวบ้านนอกนั้นไว้ เมื่อเธอห่มจีวรนั้น อยู่มาเพียง ๒-๓ วันจึงทราบว่าเป็นจีวรเก่า ความเรื่องนี้ก็ฉาวไปในหมู่ภิกษุสงฆ์ว่า ภิกษุชาวบ้านนอกได้หลอกลวงภิกษุชาวพระนครผู้ที่อวดตัวว่าเก่งในทางทำจีวรเสียแล้ว เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องภิกษุ ๒ รูปนั้นได้เคยมีมาแล้วในปางก่อน  กล่าวคือ ในอดีตกาลมีรุกขเทพยดาอยู่องค์หนึ่ง สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ใกล้สระบัวแห่งหนึ่งในกลางป่า ในเวลาหน้าแล้งน้ำในสระนั้นก็แห้งไป ในสระนั้น มีฝูงปลาอยู่เป็นอันมาก ครั้งนั้นมีนกยางตัวหนึ่งได้แลเห็นฝูงปลาแล้วคิดว่า เราจะหลอกลวงกินฝูงปลาเหล่านี้ ด้วยอุบายอันหนึ่งซึ่งเป็นอุบายอันลี้ลับ คิดแล้วก็ไปจับอยู่ริมชายเลนฝูงปลาได้แลเห็นนกยางนั้นแล้วจึงถามว่า ท่านนั่งคิดอะไรอยู่ในที่นี่ นกยางตอบว่าเรานั่งคิดสงสารพวกท่านทั้งหลายอยู่ ฝูงปลาทั้งหลายจึงถามว่า ท่านนั่งคิดสงสารพวกข้าพเจ้าด้วยเหตุผลเป็นประการใด นกยางจึงตอบว่า ด้วยเหตุว่าน้ำในสระนี้มีน้อย ทั้งอาหารก็น้อย พอถึงฤดูแล้งน้ำก็แห้งหายไปหมด เมื่อน้ำแห้งไปหมดฝูงปลาจะทำอย่างไร  แต่เราคิดอยู่ว่าถ้าพวกท่านจักทำตามถ้อยคำของเรา เราจะคาบพวกท่านไปปล่อยที่สระใหญ่ทีละตัว ๆ ในสระใหญ่นั้นเป็นสระที่ดาดาษไปด้วยปทุมชาติ ๕ ประการ ปลาทั้งหลายจึงคัดค้านว่าตั้งแต่ไหนแต่ไรมาขึ้นชื่อว่านกยางแล้วจะคิดอย่างนี้ไม่มีเลย เราทั้งหลายหาเชื่อถ้อยคำของท่านไม่ นกยางจึงตอบออกไปว่า เราขอสาบานต่อท่านทั้งหลายด้วยความจริงใจว่าเราจักไม่กินท่านทั้งหลายเป็นอันขาด ถ้าท่านทั้งหลายไม่เชื่อก็ลองส่งปลาให้ไปกับเราสักตัวหนึ่งก่อน ปลาทั้งหลายก็เชื่อถ้อยคำแห่งนกยางนั้น จึงให้ปลาหมอตัวใหญ่ไปตัวหนึ่งด้วยเข้าใจว่าปลาหมอตัวนั้นเป็นปลาที่กล้าหารทั้งทางน้ำและทางบก นกยางก็คาบปลาหมอตัวนั้นไปปล่อยไว้ในสระใหญ่แห่งหนึ่ง ให้ว่ายเล่นพอสมควรแก่เวลา แล้วนกยางก็คาบปลาหมอตัวนั้นกลับไปส่งอีก ปลาหมอตัวนั้นได้พรรณนาสระอันใหญ่กว้างให้ปลาทั้งหลายฟังดังที่ตนได้เห็นมาทุกประการ เมื่อปลา ทั้งหลายได้ฟังต่างก็อยากจะไป จึงขอให้นกยางนำไปส่งนกยางก็คาบปลาหมอตัวใหญ่นั้นไปก่อน ตรงไปถึงที่ใกล้สระแล้วก็ย้อนกลับมาที่ต้นกุ่ม วางปลาหมอตัวนั้นลงไปที่ค่าคบ จิกด้วยจะงอยปากให้ตายแล้วจิกเนื้อกินเป็นอาหาร ทิ้งกระดูกอันเหลือเศษจากอาหารลงไปที่โคนต้นไม้แล้วกลับไปบอกฝูงปลาอีก ได้คาบเอาปลาไปจากสระนั้นทีละตัว ๆ จนปลาในสระนั้นหมด ยังเหลืออยู่แต่ปูอีกตัวหนึ่ง นกยางคิดจะกินจึงกล่าวว่า ปูเอ๋ยปลาทั้งหลายที่อยู่ในสระเราได้นำไปปล่อยไว้ในสระใหญ่เสียหมดแล้ว  ถ้าตัวท่านคิดจะไปเราก็จะพาไป ปูจึงถามว่าท่านจะพาเราไปด้วยอาการอย่างไร นกยางตอบว่า เราจะคาบท่านไป ปูตอบว่า เราจะไปกับท่านไม่ได้ เพราะเรากลัวจะหล่นลง นกยางตอบว่า อย่ากลัวเลยเราจะคาบท่านไปให้ดี  ปูคิดว่านกยางนี้จะได้คาบปลาไปปล่อยในสระเหมือนอย่างว่านี้หามิได้ แต่อย่างไรก็ตามที ถ้าว่านกยางนี้พาเราไปปล่อยที่สระจริงก็เป็นการดี ถ้าไม่พาเราไปปล่อยที่สระไซร้เราจะหนีบคอนกยางตัวนี้ให้ตาย ครั้นคิดแล้วจึงกล่าวกับนกยางว่า ดูก่อนนกยางผู้สหาย เราเห็นว่าท่านไม่สามารถจะคาบเราไปให้ดีได้ เพราะเหตุว่าร่างกายของเราแข็ง ถ้าเราหนีบคอของท่านแล้วเราก็จะไปกับท่านได้ นกยางนั้นจะได้รู้ว่าปูล่อลวงก็หามิได้จึงรับคำว่าดีละ ปูก็เอาก้ามทั้งสองหนีบคอนกยางนั้นให้มั่นคงดังคีมเหล็ก แล้วจึงกล่าวว่า ท่านจงพาเราไปเถิด นกยางก็พาปูตัวนั้นไป พอให้ได้แลเห็นสระใหญ่แล้วก็เลี้ยวไปสู่ต้นกุ่มต้นนั้นอีก ปูจึงถามว่าข้าแต่ลุง สระใหญ่อยู่ที่นี่หรือเหตุไรจึงพาเรามาที่นี่ นกยางจึงตอบว่า ปากเจ้าก็พูดได้ว่าข้าเป็นลุง ตัวเจ้าเป็นลูกน้องสาวของข้า เจ้าจึงเข้าใจว่าข้าจะพาเจ้ามาปล่อยไว้ในสระเหมือนกับข้าเป็นบ่าวของเจ้าซิ เจ้าจงดูกระดูกที่เป็นกองใหญ่อยู่ใต้ต้นกุ่มเถิดล้วนเป็นกระดูกปลาที่เรากินแล้วทั้งนั้น ถึงตัวเจ้าเราก็จักกินเหมือนปลาเหล่านั้น ปูจึงตอบว่า ท่านกินได้แต่ปลาเหล่านี้เท่านั้น เพราะปลาเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปลาที่โง่เขลา ส่วนตัวเราท่านจะกินไม่ได้เป็นอันขาด เราจักทำให้ท่านถึงความพินาศในบัดนี้ ท่านไม่รู้ว่าท่านถูกล่อลวงแล้ว เรากับท่านจักต้องตายด้วยกัน เราจักหนีบคอท่านให้ขาดตกลงไปบนแผ่นดินในบัดนี้ ครั้นปูว่าแล้วก็หนีบคอนกยางด้วยก้ามอันแข็งแรงมีอุปมาประหนึ่งว่าคีมเหล็ก เมื่อนกยางถูกหนีบด้วยก้ามปูดังนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่อ้าปากน้ำตาไหลมีความกลัวต่อความตายเป็นกำลัง จึงร้องออกไปว่า ข้าแต่นาย เราจะไม่กินท่านเป็นอันขาด ขอท่านจงให้ชีวิตแก่เราสักครั้งหนึ่งเถิด ปูจึงตอบว่า ถ้าท่านกลัวตายก็จงนำเราไปปล่อยในสระในบัดนี้ นกยางก็รีบบินลงไปสู่สระทันที วางปูไว้ที่โคลนริมสระ แต่พอจะผละตัวออกไปให้ห่าง ปูก็หนีบคอนกยางตัวนั้นให้ขาดเหมือนกับบุคคลหนีบก้านปทุมชาติด้วยกรรไกร แล้วจึงหนีลงไปเสียในสระน้ำ ส่วนเทวดาซึ่งสิงสถิตอยู่ที่ต้นกุ่ม เห็นอัศจรรย์ดังนั้นแล้ว จึงทรงสรรเสริญปูด้วยคาถาว่า

นาจฺจนฺตํ   นิกติปฺปญฺโญ            นิกตฺยา   สุขเมธติ

อาราเธติ   นิกติปฺปญฺโญ       พโก   กกฺกฎกามิวาติ

          แปลว่า ผู้มีปัญญาล่อลวงผู้อื่น จะได้ความสุขเพราะล่อลวงผู้อื่นเสมอไปหามิได้ ผู้ที่ล่อลวงจะต้องได้รับผลร้าย เหมือนอย่างนกยางที่ถูกปูหนีบคอตายฉะนั้น  ดังนี้ แล้วทรงประชุมชาดกต่อไปว่า นกยางในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นภิกษุผู้เป็นช่างทำจีวรซึ่งอยู่ในพระเชตวันมหาวิหารนี้ปู ตัวนั้น ได้มาเกิดเป็นภิกษุช่างทำจีวรชาวบ้านนอก ส่วนเทพยดาที่สถิตอยู่ใต้ต้นกุ่มนั้น ได้มาเกิดเป็นเราตถาคตในบัดนี้แล ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า การหลอกลวงผู้อื่นย่อมจะต้องมีผู้หลอกลวงตนบ้าง ไม่คราวใดก็คราวหนึ่งเป็นแน่นอน เพราะฉะนั้น คนทั้งหลายจึงไม่ควรหลอกลวงผู้ไดเป็นอันขาด ถึงแม้ตัวเองก็ไม่ควรจะหลอกลวงตัวเอง ควรเป็นผู้ตั้งอยู่ในสัตย์สุจริตเสมอไป พระพุทธองค์ได้ทรงสอนให้เวไนยสัตว์ทั้งหลาย ทำกาย วาจา ใจ ให้ซื่อตรง ไม่ให้คดแม้แต่เล็กน้อย เพราะคดกาย วาจา ใจ ย่อมเป็นของให้โทษทั้งปัจจุบันและอนาคต การคดจะลงโทษแก่ผู้ที่คด ในเวลาใดเวลาหนึ่งจงได้ มีเรื่องนกยางนี้เป็นตัวอย่าง ดังนี้

“บุคคลผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงคนอื่น ย่อมไม่ได้ความสุข

เป็นนิตย์ เพราะผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงคนอื่น ย่อมประสบ

ผลแห่งบาปกรรมที่ตนทำไว้ เหมือนนกยางถูกปูหนีบคอ ฉะนั้น.”

พกชาดกจบ.