๔๖. อารามทูสกชาดก (ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ไม่มีความสุข)

          พระบรมศาสดา ทรงปรารภผู้ทำลายสวนให้เสียไป ในโกศลคามตำบลหนึ่งมีเรื่องราวมาว่า เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จไปแคว้นโกศล ประทับที่หมู่บ้านตำบลหนึ่ง อันมีกุฎุมพีผู้หนึ่งอยู่ในบ้านนั้น กุฎุมพีผู้นั้นได้นิมนต์พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปประทับที่สวนของตน จัดไทยทานถวายเสร็จแล้ว จึงเผดียงสงฆ์ให้ไปเที่ยวชมสวน เมื่อพระภิกษุสงฆ์เที่ยวชมสวนได้พบลานหญ้าแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่มีต้นไม้สักต้น จึงถามว่า เหตุไรในที่นี้จึงไม่มีต้นไม้ กุฎุมพีจึงตอบว่า เพราะเมื่อเอาต้นไม้มาปลูกในที่นี้ ได้ใช้ให้เด็กบ้านนอกรดน้ำ เวลาจะรดเขาได้ถอนต้นไม้ขึ้นมารดรากด้วยความโง่ของเขาต้นไม้จึงได้ตายหมด ที่แห่งนี้จึงได้กลายเป็นสนามหญ้าไป เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้น จึงกลับไปกราบทูลแด่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ได้เคยมีมาแล้วในปางก่อน แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตผ่านสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ครั้นถึงวันนักขัตฤกษ์ประจำปีคราวหนึ่ง นายอุทยานคิดอยากจะไปเล่นนักขัตฤกษ์กับเขา จึงเรียกวานรตัวเป็นนายฝูง ซึ่งอยู่ในพระราชอุทยานนั้นมาสั่งว่า บัดนี้เราจักเข้าไปดูนักขัตฤกษ์ในเมือง เจ้าจงพาบริวารช่วยกันรดน้ำต้นไม้แทนเราจนกว่าเราจะกลับมา เพราะว่าเจ้าทั้งหลายได้พากันอาศัยกินผลไม้อยู่ในพระราชอุทยานนี้มานานแล้ว เจ้าจะรับอาสาได้หรือไม่ ลิงนายฝูงก็ตอบว่าได้ แล้วนายอุทยานก็เข้าไปดูนักขัตฤกษ์ในเมือง ฝ่ายลิงนายฝูงก็ได้เรียกบริวารมาสั่งการมอบถังน้ำให้ตัวละใบ แล้วลิงทั้งหลายก็พากันตักน้ำรดต้นไม้ และลิงนายฝูงกลัวจะเปลืองน้ำจึงสั่งบริวารว่า ก่อนแต่จะรดน้ำต้นไม้อ่อน ๆ พวกเจ้าควรถอนขึ้นดูเสียก่อนว่า รากต้นไม้นั้นหยั่งลงลึกสักเท่าไร จะได้รดน้ำลงไปให้พอเหมาะกัน บริวารก็ทำตามคำสั่ง จนกว่านายอุทยานจะกลับมา ในเวลาสิ้นนักขัตฤกษ์ ๗ วัน แล้วต้นไม้อ่อน ๆ ในพระราชอุทยานก็ได้ตายหมด ในคราวนั้นบุรุษบัณฑิตคนหนึ่งได้ไปพบเข้าจึงกล่าวเป็นโอวาทสุภาษิตไว้ว่า น เว อนตฺถกุสเลน เป็นอาทิ แปลว่า ผู้ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้มีผลดีไม่ได้เลย คนโง่เขลาย่อมทำประโยชน์ให้เสียไป เหมือนลิงที่รดน้ำต้นไม้ในสวนฉะนั้น ดังนี้

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องในอดีตดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เด็กบ้านนอกคนนั้นจะได้ทำให้สวนเสียไปเพียงแต่ในปัจจุบันกาลนี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงในอดีตกาลก็เหมือนกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า ลิงนายฝูงในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นเด็กบ้านนอกคนนี้ ฝ่ายบุรุษบัณฑิตในครั้งนั้น คือเราตถาคตนี้เอง ในชาดกนี้มีเนื้อความเด่นชัดอยู่แล้วว่า คนโง่ย่อมทำประโยชน์ให้เสียไป ถึงแม้ตั้งใจจะทำให้เป็นประโยชน์แต่กลับเป็นโทษ ดังเรื่องที่แสดงมาแล้วนั้น

“ผู้ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงจะทำความเจริญ

ก็ไม่สามารถจะนำความสุขมาให้ ผู้มีปัญญาทรามย่อม

ทำประโยชน์ให้เสีย เหมือนกับลิงผู้รักษาสวน ฉะนั้นฺ”

อารามทูสกชาดกจบ.