๔๙. นักขัตตชาดก (ว่าด้วยประโยชน์คือฤกษ์)

           พระบรมศาสดาทรงปรารภอาชีวก คือนักบวชนอกศาสนาผู้หนึ่งแล้วจึงทรงแสดงชาดกนี้ว่า ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตผ่านสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีมีตระกูล ๆ หนึ่งในกรุงพาราณสี ได้ออกไปขอกุลสตรีในหัวเมืองเพื่อบุตรของตน ได้ตกลงนัดวันแต่งงานกันไว้แล้ว จึงกลับไปถามอาชีวกผู้เป็นชีต้นของตนว่าฤกษ์แต่งงานที่กำหนดไว้นั้น จะดีหรือร้ายประการใด อาชีวกนึกขัดใจที่ไม่ถามตัวเสียก่อน ไปด่วนนัดแต่งงานเสียเช่นนี้ จึงแกล้งบอกว่าฤกษ์ไม่ดี ตระกูลนั้นก็เชื่อถือตามไม่ไปแต่งงานตามกาลเวลาที่กำหนดไว้ เขาจึงยกหญิงนั้นให้แต่งงานกับบุรุษอื่นเสีย ครั้นวันหลังจึงพากันไปใหม่ แต่ก็ได้รับความเสียใจกลับมา ในเวลานั้นมีนักปราชญ์คนหนึ่งได้กล่าวขึ้นในที่ประชุมนั้นว่า

นกฺขตฺตํ   ปฏิมาเนนฺตํ     อตฺโถ   พาลํ   อุปจฺจคา

อตฺโถ   อตฺถสฺส  นกฺขตฺตํ    กึ   กริสฺสนฺติ   ตารกาติ

          แปลว่า ประโยชน์ย่อมล่วงเลยคนพาลซึ่งมัวแต่คอยหาฤกษ์อยู่ ประโยชน์นั่นแหละเป็นฤกษ์ของพวกต้องการด้วยประโยชน์ ดาวทั้งหลายในท้องฟ้าจักทำอะไรได้ ดังนี้

          ครั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเรื่องอดีตดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาชีวกนั้นได้ทำให้ตระกูลนั้นขาดประโยชน์ เพียงแต่ในชาตินี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงในชาติปางก่อนก็ได้เคยทำมาแล้วเหมือนกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า อาชีวกในครั้งก่อนนั้น ได้เกิดมาเป็นอาชีวกคนนี้ ตระกูลที่เชื่อถืออาชีวกในครั้งก่อนนั้น ได้เกิดมาเป็นตระกูลนี้ ส่วนบุรุษผู้เป็นบัณฑิตที่กล่าวสุภาษิตไว้นั้น คือเราตถาคตนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้แสดงให้เห็นว่า ความชั่วและความดีย่อมไม่เกี่ยวกับฤกษ์ยามตามคัมภีร์พราหมณ์ทั้งหลาย เกี่ยวกับการทำเท่านั้น คือถ้าบุคคลทำชั่วในเวลาใด เวลานั้นก็เป็นฤกษ์ชั่วของผู้ทำนั้น เหมือนอย่างผู้ทำโจรกรรมถ้าไปลักทรัพย์ของเขาในเวลาใด เวลานั้นก็นับว่าเป็นฤกษ์ร้ายของผู้นั้น ผู้นั้นได้ชื่อว่าทำบาปในเวลานั้น หรืออีกอย่างหนึ่ง คนไปจับไฟในเวลาไดเวลานั้นจัดว่าเป็นฤกษ์เจ็บของคนนั้น ถ้าบุคคลทำดีในเวลาใด เวลานั้นนับว่าเป็นฤกษ์ดี เหมือนอย่างบุคคลให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรมเทศนาในเวลาใด เวลานั้นก็จัดว่าเป็นฤกษ์ดียามดี อันธรรมดาฤกษ์ยามย่อมไม่ทำความชั่วความดีให้แก่ผู้ใด เมื่อผู้ใดคิดจะทำความดี แต่ไปหวังคอยฤกษ์ยามอยู่ ผู้นั้นจะต้องขาดประโยชน์เสียเวลาเปล่า เหมือนดังเรื่องที่มีมาในชาดกนี้เป็นตัวอย่างที่อ้างอิง เมื่อความจริงมีอยู่เช่นนี้ท่านผู้มีวิจารณญาณทั้งหลาย จะประกอบกิจการสิ่งใดควรพิจารณาดูเสียก่อนว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี เมื่อเห็นว่าไม่ดีก็อย่าทำ เมื่อเห็นว่าดีจึงทำ ไม่ต้องรอฤกษ์ยามเป็นประมาณ จึงจะไม่เสียประโยชน์และเสียกาลเวลา ดังนี้

ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลาผู้มัวคอยฤกษ์อยู่

ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้.

นักขัตตชาดกจบ.