พระบรมศาสดา ทรงปรารภเหตุที่พระองค์ประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่โลก จึงทรงแสดงชาดกนี้ให้เป็นผล เรื่องที่ทรงปรารภนี้มีแจ้งอยู่ใน มหากัณฑหาชาดกข้างหน้าส่วนในชาดกนี้มีแต่เพียงเรื่องอดีตเท่านั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องอดีตไว้ว่าในครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระองค์มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งมีพระนามว่า พรหมทัตราชกุมาร เมื่อพรหมทัตราชกุมารมีพระชนมายุได้ ๑๖ ปี ก็เสด็จไปทรงศึกษาศิลปะศาสตร์อยู่ในเมืองตักกสิลา เรียนได้สำเร็จไตรเพทและวิชา ๑๘ ประการแล้ว ก็เสด็จกลับมายังกรุงพาราณสี ครั้นต่อมาสมเด็จพระราชบิดาก็ได้พระราชทานตำแหน่งมหาอุปราช ให้แก่พระราชกุมารนั้น
ในสมัยนั้น ชาวกรุงพาราณสีได้พากันถือการฆ่าสัตว์บูชาเทวดา โดยเชื่อถือว่าเทวดาอาจบันดาลความสุขความเจริญให้แก่ตนได้ทุกประการ ฝ่ายพรหมทัตราชกุมาร เมื่อได้เป็นมหาอุปราชแล้วจึงทรงดำริว่า ในเวลานี้ชาวเมืองได้พากันถือการฆ่าสัตว์บูชาเทวดาซึ่งเป็นการไม่สมควร เมื่อเราได้เสวยราชสมบัติแทนพระราชบิดาแล้ว เราจะไม่ให้ผู้ใดฆ่าสัตว์บูชาเทวดาเช่นนี้เลย ครั้นทรงพระดำริอย่างนี้แล้ว พระองค์ก็ทรงเริ่มออกอุบาย คือพระองค์ได้เสด็จออกไปทอดพระเนตรมหาชนประชุมกันฆ่าสัตว์บูชาเทวดา ที่ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งนอกพระนคร พระองค์จึงเสด็จลงจากรถบทจรไปด้วยพระบาทเข้าไปที่ต้นไทรนั้น ทรงบูชาด้วยดอกไม้และของหอม ทรงรดด้วยน้ำและทำประทักษิณเวียนขวา ๓ รอบ ทำอาการประหนึ่งว่าทรงนับถือเทวดาแล้วเสด็จกลับเข้าสู่พระนคร ต่อแต่นั้นมาก็เสด็จไปทรงทำกิริยาอย่างนั้นเสมอเป็นนิจ จนคนทั้งหลายเชื่อถือว่าพระองค์เสด็จไปบวงสรวงเทพยดาเพื่อปรารถนาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นแน่ เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้วก็ได้เสด็จขึ้นสืบราชสมบัติแทน เมื่อพระองค์ได้ทรงเสวยราชสมบัติแล้ว ก็ทรงเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีสมดังพระราชประสงค์ที่ทรงตั้งไว้แต่เดิม จึงมีพระราชโองการให้ประชุมอำมาตย์ราชเสวกและพสกนิกรทุกถ้วนหน้า แล้วตรัสถามว่า ท่านทั้งหลายทราบหรือไม่ว่า การที่เราได้เสวยราชสมบัตินี้เพราะเหตุใด คนทั้งหลายก็กราบทูลว่าหาทราบไม่ จึงตรัสว่า การที่เราได้เสวยราชสมบัตินี้เป็นเพราะเราได้บวงสรวงบูชาเทพยดาที่ต้นไทรนั้น คือ เมื่อก่อนเราได้บนไว้ว่าถ้าข้าพเจ้าได้ครองราชย์สมบัติเมื่อใดแล้ว จะทำเครื่องสังเวยเทพยดาที่ต้นไทรนั้นอย่างมโหฬาร บัดนี้เราก็ได้สมประสงค์แล้ว ขอท่านทั้งหลายจงจัดแจงเครื่องสังเวยเทพยดาโดยพลัน คนทั้งหลายจึงกราบทูลถามว่า จะให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจัดสิ่งไรไปบ้าง จึงตรัสตอบว่าเราได้ขอพรต่อเทพยดาเจ้าไว้ว่า ในรัชกาลของเรานี้ ถ้าผู้ใดทำบาปอกุศลมีการฆ่าสัตว์เป็นต้น เราจะนำผู้นั้นเอาเลือดเนื้อไปเซ่นสรวงเทวดา เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงตีกลองร้องประกาศให้ทราบทั่วพระราชอาณาจักรว่า เราได้ขอพรต่อเทวดาไว้ดังนี้ หมู่อำมาตย์ก็ได้จัดการประกาศป่าวร้องตามพระราชโองการ แล้วพระองค์จึงตรัสว่า จำเดิมแต่บัดนี้ไป คนเหล่าใดยังทำทุจริตด้วยกาย วาจา จิต เราจักฆ่าคนเหล่านั้นบูชาเทพยดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสถิตอยู่ที่ต้นไทร แล้วได้พระราชทานพระนิพนธ์ไว้ว่า
ทุมฺเมธานํ สหสฺเสน ยญฺโญ เม อุปยาจิโต
อิทานิ โขหํ ยชิสฺสามิ พหุ อธมฺมิโก ชโนติ
แปลว่า เราได้บนกับเทวดาไว้ว่า จะฆ่าคนจำพวกทุจริตมาบูชาถึงพันคน ในเวลานี้ถึงกำหนดที่เราจะทำการบูชาเทวดา เพราะคนทั้งหลายยังทำการทุจริตกันอยู่มาก ดังนี้ ต่อแต่นั้นมาก็มิได้มีผู้ใดที่จะทำการทุจริตผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง เป็นต้นว่า ฆ่าฟันกันหรือฆ่าสัตว์บูชายัญบวงสรวงเทวดา โดยกลัวพระราชอาชญาที่จะนำไปฆ่าบูชาเทวดา ส่วนสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตก็ได้ทรงเสวยราชสมบัติโดยทศพิธราชธรรม อยู่จนตราบพระชนมชีพของพระองค์ แล้วพระองค์ก็ได้พาประชาชนทั้งหลายไปเกิดในพรหมโลก
ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องอดีตดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตได้ทำให้เป็นประโยชน์แก่โลกเพียงแต่ในปัจจุบันกาลนี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงในอดีตกาลเราก็ได้ทำให้เป็นประโยชน์แก่โลกมาแล้วเหมือนกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชาวเมืองพาราณสีในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ส่วนพระเจ้ากรุงพาราณสี ได้อุบัติมาเป็นเราตถาคต นี้แล ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า การฆ่าสัตว์เซ่นสรวงเป็นการไม่สมควรเพราะเหตุว่าเทพยดาทั้งหลายจะยินดีรับการเซ่นสรวงนั้นก็หาไม่ ด้วยเทพยาดาทั้งหลายล้วนแต่กินอาหารทิพย์ ไม่กินอาหารมีเนื้อและปลาเป็นต้นเหมือนอย่างมนุษย์ อีกอย่างหนึ่ง การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตก็เป็นบาปตามธรรมดา นักปราชญ์จึงได้ห้ามเสีย ดังนี้
ทุมเทธชาดกจบ.
……………………………………………………………………………..
จบอัตถกามวรรค