๖.อาสิงสวรรค
พระบรมศาสดาทรงปรารภภิกษุผู้ละความเพียรรูปหนึ่งให้เป็นเหตุ แล้วทรงแสดงชาดกเรื่องนี้ให้เป็นผล มีเนื้อความว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่ภิกษุผู้ละความเพียรว่า เหตุใดเธอผู้บวชในศาสนาของเรา อันเป็นศาสนาที่จะนำผู้ปฏิบัติตามให้ข้ามพ้นจากทุกข์เช่นนี้แล้ว จึงสละความเพียรเสียเล่า บัณฑิตในปางก่อนกลับได้อิสริยยศอีกก็เพราะอำนาจความเพียร ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีท้าวเธอมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าสีลวราชกุมาร เมื่อท้าวเธอสวรรคตแล้ว สีลวราชกุมารก็ได้ทรงผ่านราชสมบัติแทนพระองค์ ทรงพระนามว่า พระเจ้ามหาสีลวะ ๆ นั้น เป็นผู้ประกอบด้วยคุณธรรมหลายประการ มีทาน ศีล ขันติ เมตตา กรุณา เป็นต้น ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชนโดยยุติธรรมเสมอมา
ครั้งนั้น มีอำมาตย์คนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ทุจริตต่อนางฝ่ายในลอบรักกับนางฝ่ายใน ภายหลังเมื่อมีเรื่องปรากฏขึ้น หมู่อำมาตย์จึงนำความขึ้นกราบทูลแด่ท้าวเธอ ๆ จึงให้หาตัวอำมาตย์ทุจริตนั้นเข้าเฝ้า เมื่อทรงตรัสถามได้ความจริงแล้ว จึงทรงเนรเทศเสียจากบ้านเมือง อำมาตย์ทุจริตนั้นได้หนีออกจากกรุงพาราณสีไปยังกรุงสาวัตถี เข้าถวายตัวเป็นข้าเฝ้าแห่งพระเจ้ากรุงสาวัตถี ปฏิบัติราชการเป็นอันดี จนได้เป็นข้าราชการผู้ใกล้ชิด
อยู่มาวันหนึ่ง อำมาตย์ทุจริตจึงกราบทูลพระเจ้ากรุงสาวัตถีว่า ทุกวันนี้กรุงพาราณสีอ่อนแอในทางปกครอง เปรียบเหมือนรวงผึ้งที่ปราศจากแม่หวงแหน ถ้าพระองค์ยกแสนยากรไปแม้แต่เพียงเล็กน้อย ก็จะยึดเอาราชสมบัติได้โดยไม่ต้องสงสัย เมื่อพระเจ้ากรุงสาวัตถีได้ทรงสดับก็ทรงระแวงว่า ชะรอยอำมาตย์ผู้นี้จะเป็นคนสอดแนมแห่งพระเจ้ากรุงพาราณสี เพราะกรุงพาราณสีเป็นเมืองใหญ่หลวงนัก แต่เหตุไรอำมาตย์ผู้นี้จึงกราบทูลเราว่า อาจยึดเอาราชสมบัติได้โดยง่าย ครั้นทรงพระดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสถามขึ้นว่าเป็นคนสอดแนมหรือ อำมาตย์ทุจริตนั้นจึงกราบทูลว่า หามิได้ ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อถ้อยคำแห่งข้าพระบาทที่กราบทูลมานี้ไซร้ ขอพระองค์ได้โปรดส่งโยธาเพียงเล็กน้อย ปลอมเป็นโจรไปปล้นสะดมในปลายอาณาเขตแห่งพระเจ้าพาราณสีดูก่อนจะเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอกราบทูลล่วงหน้าว่า เมื่อพลโยธาที่ปลอมเป็นโจรถูกจับไป พระเจ้าพาราณสีจะไม่ทรงลงโทษประการใด กลับจะพระราชทานทรัพย์สินเงินทองให้แล้วปล่อยตัวมา เมื่อพระเจ้ากรุงสาวัตถีได้ทรงสดับคำกราบทูลดังนี้ ก็ยิ่งทรงสงสัยมากขึ้น จึงได้ทรงจัดส่งพลโยธามีประมาณเล็กน้อย ให้ปลอมเป็นโจรไปปล้นปลายแดนแห่งเขตแคว้นกรุงพาราณสี เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายกรุงพาราณสีจับตัวได้ ก็คุมตัวไปถวายพระเจ้ากรุงพาราณสี ๆ ทรงรับสั่งถามว่า เหตุไรพวกเธอจึงทำโจรกรรมเช่นนี้ เมื่อพวกโจรปลอมกราบทูลว่า เป็นเพราะความยากจนขัดสนไม่มีหนทางอื่นที่จะหาเลี้ยงชีวิตจึงได้คิดทำโจรกรรมเช่นนี้ พระองค์ตรัสว่า เหตุไรพวกเธอจึงไม่มาชี้แจงต่อเรา นับแต่วันนี้ไปพวกเธออย่าพากันทำโจรกรรมอีก ถ้ายากจนขัดสนจงมาบอกเรา ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงพระราชทานทรัพย์ตามสมควรแล้วปล่อยตัวไป โจรปลอมเหล่านั้นก็พากันกลับไปกราบทูลให้พระเจ้ากรุงสาวัตถีทรงทราบตามเหตุการณ์ที่เป็นมา แต่พระเจ้ากรุงสาวัตถียังไม่ทรงแน่พระทัยว่า เมืองพาราณสีมีกำลังอ่อนแอพอจะไปตีเอาได้โดยง่าย จึงโปรดให้พลโยธาหาญปลอมเป็นโจรไปปล้นตำบลต่าง ๆ เลยชายแดนเข้าไปอีกเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อพวกนั้นถูกจับไป ก็ได้รับพระราชทานทรัพย์แล้วถูกปล่อยเหมือนกับพลโยธาหารพวกที ๑ พระเจ้ากรุงสาวัตถีจึงโปรดให้พลโยธาปลอมเป็นโจรเข้าไปปล้นหัวเมืองใกล้เคียงกับกรุงพาราณสีอีกเป็นครั้งที่ ๓ เมื่อพวกนั้นถูกปล่อยตัวมา ก็ทรงแน่พระราชหฤทัยว่า สามารถจะยึดเอาราชสมบัติในกรุงพาราณสีได้โดยง่าย จึงเสด็จยาตราทัพหลวงออกจากกรุงสาวัตถีโดยลำดับ จนล่วงเข้าไปถึงปลายอาณาเขตแห่งประเทศกาสี แล้วทรงพักกองทัพคอยดูท่วงที ว่าจะมีกองทัพมาต่อต้านหรือไม่ประการใด ฝ่ายอำมาตย์ผู้คอยดูเหตุการณ์ในชายอาณาเขต เมื่อทราบเหตุว่าพระเจ้ากรุงสาวัตถียกทัพมาจึงรีบให้ม้าใช้นำความไปกราบทูลแด่พระเจ้ากรุงพาราณสีให้ทรงทราบ พระองค์จึงมีพระราชโองการรับสั่งว่า อย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งทำการขัดขวางกองทัพเขาเลย จงให้เขายกกองทัพเข้ามาโดยสะดวก ในขณะนั้น สหชาติโยธาหาญของพระองค์ ซึ่งแกล้วกล้าในการรณรงค์สงครามอันมีประมาณพันหนึ่ง ได้ทูลรับอาสาจะออกไปกำจัดกองทัพที่ยกมาให้พ่ายแพ้กลับไป แต่พระเจ้าพาราณสีรับสั่งว่า พวกท่านทั้งหลายตลอดถึงราษฎรทุกถ้วนหน้าอย่าเดือดร้อนเพราะเราผู้เดียวเลยเราจะยกราชสมบัติให้แก่เขาโดยดี อย่าให้มีภัยอันตรายแก่ราษฎรทั้งหลาย เมื่อตรัสดังนี้ ฝ่ายสหชาติโยธาหาญตลอดถึงพลเสนาเหล่าอื่นก็พากันนิ่งอยู่ ไม่มีผู้ใดจะกล้าขัดขืนพระราชโองการ เมื่อพระเจ้ากรุงสาวัตถีทรงทราบว่าไม่มีกองทัพทางกรุงพาราณสียกไปขัดขวาง ก็ทรงยาตราทัพล่วงเลยเข้ามาตามลำดับ จนถึงจังหวัดกลางประเทศกาสีเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ปกครองหัวเมืองย่านนั้น ได้เข้าไปกราบทูลพระเจ้ากรุงพาราณสีเป็นครั้งที่ ๒ พระเจ้ากรุงพาราณสีก็ตรัสเหมือนอย่างหนหลัง จนกระทั่งกองทัพล่วงเลยเข้าไปถึงชายพระนคร พระองค์ก็ทรงเฉยอยู่เหมือนอย่างเดิม ฝ่ายสหชาติโยธาหาญทั้งหลาย ต่างคนก็ขัดแค้นให้แก่กองทัพที่ยกมาได้พร้อมกันทูลรับอาสาว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะออกไปกำจัดอริราชศัตรูที่ยกมาล้อมพระนครให้ถึงปราชัยพ่ายแพ้ในชั่วเวลาพริบตาเดียว ขอพระองค์ได้ทรงอนุญาตเถิด ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะไม่ให้เดือดร้อนแก่พลนิกรเหล่าอื่นเป็นอันขาด เพียงแต่ข้าพระบาททั้งพันคนก็สามารถกำจัดข้าศึกได้แน่นอน การที่กราบทูลดังนี้ เพราะว่าสหชาติโยธาเหล่านั้นล้วนแต่เป็นผู้มีกำลังกายกำลังใจเข้มแข็ง ชำนิชำนาญในการรณรงค์สงครามเป็นอันดี ถ้าว่าถึงกำลังกายแต่ละคน ๆ ก็สามารถจับช้าง เสือ ราชสีห์ ฟาดลงให้ถึงความตายกับที่ได้ ถ้าว่าถึงกำลังใจ แต่ละคนก็ไม่มีใครจะย่อท้อต่อสิ่งใด แม้อสุนีบาตผ่าลงมาในที่ใกล้ก็ไม่หวาดหวั่น ถ้าจะว่าถึงความเชี่ยวชาญในการสงคราม ก็ไม่มีผู้ใดจะเสมอเหมือน เพราะล้วนได้ศึกษามาเป็นอันดี ถ้าจะว่าถึงความภักดีต่อเจ้านายก็ล้วนแต่ไม่มีตัวจับ แต่ละคน ๆ ยอมตายแทนเจ้านายได้ทั้งนั้น แต่เมื่อพระเจ้ากรุงพาราณสีไม่ทรงอนุญาตตามที่ทูลรับอาสาก็พากันจนใจไม่รู้จะทำประการใด เมื่อพระเจ้ากรุงพาราณสีทรงทราบว่ากองทัพยกเข้ามาถึงชายพระนครแล้ว ก็โปรดให้จัดที่ประทับรับเสด็จสมเด็จพระเจ้ากรุงสาวัตถีและที่พักพลโยธาหาญให้พร้อมเสร็จ ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงสาวัตถี จึงส่งพระราชสาส์นเข้าไปเป็นใจความว่า พระเจ้ากรุงพาราณสีจะทรงยกพระราชสมบัติให้เราโดยดี หรือจะทรงยกกองทัพออกมาต่อตีประการใด จงตอบมาโดยเร็วอย่าได้ช้า เมื่อพระเจ้ากรุงพาราณสีได้ทรงทราบพระราชสาส์นนั้น ก็ทรงตอบไปว่า เรายินดีจะยกสมบัติให้ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้ามารับเถิด เมื่อพระเจ้ากรุงสาวัตถีได้ทรงทราบพระราชสาส์นที่ตอบออกไปดังนั้นแล้ว จึงเสด็จยกกองทัพล่วงเข้าไปในพระนคร เข้าไปถึงพระบรมมหาราชวัง ขึ้นประทับบนที่รับเสด็จแล้วโปรดให้นำพระเจ้าพาราณสีกับโยธาหาญพันหนึ่งไปฝังทั้งเป็นในป่าช้าผีดิบ พลโยธาทั้งหลายก็ทำตามรับสั่ง ได้จับเอาพระเจ้ากรุงพาราณสีกับพลโยธาพันคนนำออกไปสู่ป่าช้าผีดิบขุดหลุมลึกไปเพียงคอโผล่พ้นปากหลุมเท่านั้น ที่เขาทำดังนี้โดยมีความประสงค์จะให้พวกสุนัขจิ้งจอกมากัดกินในเวลากลางคืน ครั้นฝังเสร็จแล้วพวกเขาก็กลับไป
มหาสิลวราชา ปน ฝ่ายพระเจ้ามหาสีลวราช ผู้เถลิงราชสมบัติในกรุงพาราณสี เมื่อถูกศัตรูประทุษร้ายพระองค์กับเหล่าพลโยธาหาญด้วยอาการอันหยาบช้าเช่นนั้น พระองค์ก็ยังทรงมั่นอยู่ในศีลธรรม หาได้ทรงเสียพระทัยแม้แต่น้อยหนึ่งไม่พระองค์ได้ทรงให้โอวาทแก่สหชาติทวยหาญทั้งหลาย ให้แผ่เมตตาไปถึงข้าศึกทุกถ้วนหน้า อย่าให้มีผู้หนึ่งผู้ใดโกรธเคืองเคียดแค้นต่อข้าศึกเลย สหชาติโยธาทั้งหลายก็กระทำตามพระบรมราชโอวาท พากันตั้งใจแผ่เมตตาไปให้อริราชศัตรูทุกหมู่เหล่า
พอตกถึงกลางคืนฝูงสุนัขจิ้งจอกที่มีจำนวนตั้งร้อย ๆ พัน ๆ พากันไปเพื่อจะกินซากศพในป่าช้าตามที่เคยมา แต่เมื่อได้ยินเสียงร้องตวาดแห่งพระเจ้า มหาสีลวราชกับพลโยธาพันหนึ่ง สุนัขเหล่านั้นก็สะดุ้งตกใจกลัว แล้วพากันหนีไป แต่เมื่อไม่เห็นมีคนติดตาม สุนัขจิ้งจอกเหล่านั้นก็กลับมาอีกเป็นคำรบที่ ๒ เมื่อได้ยินเสียงร้องตวาดก็พากันแตกหนีกลับไปอีก แต่เมื่อเห็นว่าไม่มีคนติดตามมา ก็พากันกลับมาอีกเป็นคำรบ ๓ ด้วยพากันเข้าใจว่าคงจะเป็นพวกนักโทษที่นำมาฝังไว้ทั้งเป็นหรือนำมาผูกไว้เพื่อให้เป็นอาหารแห่งตน แล้วสุนัขจิ้งจอกนายฝูงจึงตรงเข้าไปเพื่อจะกัดพระเจ้ามหาสีลวราช แต่พระบาทท้าวเธอทรงฉลาดในอุบายจึงเงยพระศอขึ้น พอสุนัขกระโดดเข้าไปจะงับพระศอของพระองค์ ๆ จึงเอาคางกดคอสุนัขลงไว้กับพื้นดินจนสุนัขดิ้นไม่ได้ ด้วยพระกำลังของพระองค์ได้แต่ ร้องและตะกุยดินเท่านั้น เมื่อสุนัขจิ้งจอกที่เป็นบริวารได้ยินเสียงนายฝูงร้อง ก็เข้าใจว่านายฝูงเป็นอันตรายแล้วก็พากันหนีกลับไปด้วยกลัวตาย ฝ่ายสุนัขจิ้งจอกที่เป็นนายฝูงนั้นก็ร้องตะกุยดินหนักขึ้นจนดินในหลุมนั้นพร่องไปเป็นอันมาก เมื่อพระเจ้า มหาสีลวราชทรงเห็นดินในหลุมหลวมพอพระองค์จะขึ้นไปได้แล้ว จึงทรงปล่อยสุนัขจิ้งจอกไป แล้วพระองค์ก็ทรงโยกพระกายไปมาจนเขยื้อนขึ้นได้จากหลุม แล้วพระองค์ได้ขุดเอาพลโยธาขึ้นมาได้ทีละคน แล้วช่วยกันขุดพลโยธาเหล่าอื่นอีกจนขึ้นได้หมดทั้งพัน แล้วประทับยับยั้งอยู่ในกลางป่าช้านั้น
ในขณะนั้น มียักษ์สองตนเกิดวิวาทกันด้วยเรื่องชิงซากศพในป่าช้า เมื่อไม่ตกลงกันว่าใครควรจะได้ยักษ์ตนหนึ่งจึงกล่าวว่า บัดนี้พระเจ้าสีลวราชผู้ทรงมีศีลธรรมกับอำมาตย์พันหนึ่งเสด็จอยู่ ณ กลางป่าช้านี้ เราทั้งสองพากันไปขอให้พระองค์ทรงวินิจฉัยให้เถิด แล้วยักษ์ทั้งสองนั้นก็พากันไปดังที่ตกลงกันไว้ ฝ่ายพระเจ้ามหาสีลวราชตรัสว่า เรายังวินิจฉัยให้ไม่ได้ก่อนเพราะตัวเรายังมอมแมมอยู่ด้วยฝุ่นด้วยดิน ทั้งข้าวปลาอาหารก็ยังมิได้กินให้อิ่มหนำสำราญ เครื่องนุ่งห่มก็เศร้าหมอง เมื่อยักษ์ทั้งสองได้ฟังพระดำรัสดังนี้แล้ว จึงพากันเหาะไปนำน้ำในพระเต้าแก้วสำหรับพระเจ้ากรุงสาวัตถีพร้อมด้วยเครื่องทรงและพระกระยาหารในพระบรมมหาราชวังมาถวาย เมื่อพระองค์ทรงสรงและทรงเครื่องประดับสำหรับกษัตริย์เสร็จแล้ว ก็ทรงเสวยพระกระยาหารเป็นที่สำราญพระทัยแล้ว จึงตรัสสั่งยักษ์ทั้งสองให้ไปนำพระขรรค์ของพระองค์ในพระบรมมหาราชวังมาถวาย ยักษ์ทั้งสองก็กระทำตามพระราชโองการ ไปนำพระขรรค์มาถวายแล้วพระองค์ทรงถือพระขรรค์เสด็จไปผ่าซากศพตั้งแต่ศีรษะไปจนตลอดตัว แบ่งให้แก่ยักษ์ตนละซีก เมื่อยักษ์ทั้งสองได้กินซากศพอิ่มหนำสำราญแล้ว ก็มีใจผ่องแผ้วเบิกบานชื่นชมต่อบรมราชวินิจฉัยว่าตัดสินโดยเที่ยงธรรม แล้วจึงกราบทูลถามว่า บัดนี้จะให้ข้าพเจ้าทั้งสองทำอย่างไร จึงตรัสสั่งให้ยักษ์ทั้งสองนำพระองค์ไปวางไว้ในห้องบรรทมของพระเจ้ากรุงสาวัตถี ให้นำสหชาติโยธาทั้งพันคนกลับไปไว้ในบ้านของตน ๆ ยักษ์ก็กระทำตามพระราชโองการ เมื่อยักษ์วางพระองค์ลงในห้องบรรทมของพระเจ้ากรุงสาวัตถี ในขณะที่พระเจ้ากรุงสาวัตถีทรงบรรทมหลับสนิทแล้ว ดังนั้น พระองค์จึงชักพระขรรค์ออก แล้วเสด็จตรงไปสู่พระแท่นบรรทมแห่งบรมกษัตริย์ผู้เป็นศัตรู แล้วเอาพระขรรค์ฟาดลงตรงพระอุระแห่งพระเจ้ากรุงสาวัตถีแต่เบา ๆ พระเจ้ากรุงสาวัตถีก็ทรงผวาตื่นขึ้น พอทรงเห็นพระเจ้ามหาสีลวราชก็ทรงจำได้จึงเกิดฉงนในพระราชฤทัย แล้วรีบเสด็จจากแท่นบรรทมถามว่า เหตุไรพระองค์จึงมาในที่นี้ได้ เมื่อพระเจ้ามหาสีลวราชทรงเล่าเรื่องถวายตามเป็นจริงตั้งแต่ต้น จนอวสาน ก็ทรงสลดพระราชหฤทัย จึงตรัสว่า ข้าพเจ้าผิดไปแล้วในการที่ไม่รู้จักคุณความดีของพระองค์ สู้แต่ยักษ์ ๒ ตนนั้นก็ไม่ได้ ข้าพเจ้าขอถวายสมบัติคืนแก่พระองค์และจะไม่ประทุษร้ายต่อพระองค์อีกเป็นอันขาด ครั้นตรัสดังนี้แล้วจึงกระทำสัตย์สาบานถวายพระเจ้ามหาสีลวราช พระองค์ก็ทรงให้โอวาทตอบแทนแล้วทรงรับซึ่งสมบัติคืนดังเก่า ฝ่ายพระเจ้ากรุงสาวัตถีก็โปรดให้ตีฆ้องร้องป่าวแก่ชาวพระนครให้มาสโมสรพร้อมหน้ากันในท้องพระลาน ทรงอัญเชิญพระเจ้ามหาสีลวราชให้เสด็จประทับต่อหน้าประชาชนแล้ว พระเจ้ากรุงสาวัตถีก็ทรงสรรเสริญซึ่งพระบรม เดชานุภาพ พระคุณธรรมแห่งสมเด็จพระเจ้ากรุงพาราณสีให้ทรงทราบทั่วกัน แล้วก็ทรงขอขมาโทษต่อพระเจ้ากรุงพาราณสีให้ปรากฏแก่ประชาชนทั้งหลาย จากนั้นก็กราบถวายบังคมลายกพลพยุหเสนากลับสู่พระนครของพระองค์ ครั้นแล้วได้โปรดให้ลงโทษแก่อำมาตย์ผู้ทูลยุยงนั้น เป็นมหันตโทษให้สมควรแก่ความผิด แล้วทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชนให้มีความสุขความเจริญโดยยุติธรรมตลอด พระชนมชีพของพระองค์ ส่วนพระเจ้ามหาสีลวราชเมื่อพระองค์ทรงได้ราชสมบัติคืนโดยชอบธรรมแล้ว ก็ทรงดำรงเศวตราชฉัตรสืบต่อไปโดยทศพิธราชธรรม อยู่มาวันหนึ่ง พระองค์ทรงนึกขึ้นมาได้ว่าเราได้ราชสมบัติคืนมาด้วยกำลังแห่งความเพียร จึงทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า อาสึเสเถว ปุริโส เป็นอาทิ แปลว่า บุรุษพึงหวังเถิดว่า ถ้าเราพากเพียรเราก็จักพ้นทุกข์ได้โดยไม่ต้องสงสัย บัณฑิตไม่ควรเบื่อหน่ายต่อความเพียรเพราะเราเห็นตัวเราเองเป็นตัวอย่าง คือ เราต้องการอย่างใดก็ได้สำเร็จอย่างนั้นสมความต้องการ ดังนี้
ครั้นเทศนาเรื่องอดีตดังนี้แล้ว พระองค์จึงทรงประชุมชาดกว่า อำมาตย์ผู้ทุจริตในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นพระเทวทัตในบัดนี้ สหชาติโยธาทั้งพันหนึ่งนั้น ได้มาเกิดเป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ส่วนพระเจ้ามหาสีลวราชาธิบดี ได้มาเกิดเป็นเราตถาคตนี้แลในชาดกนี้ชี้ให้เห็นว่า พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายล้วนแต่เป็นผู้แกล้วกล้าเด็ดเดี่ยว ไม่ย่อท้อต่อภัยอันตรายแม้แต่ประการใดประการหนึ่ง เมื่อทรงถือคุณธรรมข้อใดก็ทรงถือไว้มั่นคงไม่ทำลายคุณธรรมข้อนั้นเสีย เหมือนอย่างในชาดกนี้ การที่พระเจ้ามหาสีลวราชไม่ทรงทำสงคราม ก็เพราะพระองค์ทรงมั่นอยู่ในศีล กลัวศีลของพระองค์จะขาดวิ่น กลัวคุณธรรมอย่างอื่นมีเมตตา กรุณา เป็นต้น จะเสื่อม เสียไป ทั้งทรงเห็นว่าความลำบากแห่งประชาชนจะเกิดมีเพราะการทำสงครามเพราะอาศัยพระองค์ผู้เดียวเป็นต้นเหตุ พระองค์จึงยอมยกราชสมบัติให้แก่ข้าศึกเสียโดยง่าย ส่วนนักปราชญ์ทั้งหลายเหล่าอื่นก็ล้วนแต่เป็นผู้มีอัธยาศัยประกอบด้วยพระคุณธรรมเหมือนกัน การที่แกล้วกล้าต่ออันตรายก็ดี แกล้วกล้าในการทำสิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์ก็ดี เรียกตามบาลีว่าความเพียร นักปราชญ์ทั้งหลายล้วนเป็นผู้มั่นอยู่ในความเพียร คือความแกล้วกล้าทั้งนั้น ขอพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจงถือไว้เป็นแบบฉบับสำหรับตนตามเรื่องที่แสดงมาแล้วนี้เถิด ก็จักเกิดสาระประโยชน์แก่ตน ทั้งในปัจจุบันและอนาคตภายภาคหน้า ดังนี้
“บุรุษผู้เป็นบัณฑิตควรมุ่งหมายไปกว่าจะสำเร็จผล ไม่ควรจะ
ท้อถอยดูเราเป็นตัวอย่าง เราปรารถนาอย่างใดได้อย่างนั้น.”
มหาสีลวชาดกจบ.