๕๓. ปุณณปาติชาดก (การกล่าวถ้อยคำไม่จริง)

        พระพุทธองค์ทรงปรารภสุราอันเจือด้วยยาพิษ แล้วจึงแสดงชาดกเรื่องนี้ มีเรื่องปรากฏมาว่า ครั้งหนึ่งนักเลงสุราในเมืองสาวัตถีได้ประชุมปรึกษากัน ว่าบัดนี้สุราของพวกเราหมดเสียแล้วทำอย่างไรเราจึงจักได้สุรามาดื่ม นักเลงสุราคนหนึ่งพูดขึ้นว่า พวกท่านทั้งหลายอย่าได้เป็นทุกข์ร้อนไปเลย เราคิดอุบายได้อย่างหนึ่ง คือพวกเราจงเอายาพิษชนิดดื่มแล้วสลบมาปนลงไว้ในสุรา เมื่อเห็น อนาถบิณฑิกเศรษฐีเดินผ่านมา พวกเราก็พร้อมกันเชิญให้เข้ามาดื่มสุราให้จงได้ ครั้นเศรษฐีสลบไป พวกเราก็ปลดเอาทรัพย์มาจับจ่ายให้เป็นค่าสุราต่อไป แล้วจึงพร้อมกันทำตามอุบายของนักเลงคนนั้น เมื่อเห็นเศรษฐีเดินผ่านมาจึงร้องเชิญ แต่อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นพระโสดาบัน โดยนักเลงสุรานั้นไม่รู้ เมื่อเศรษฐีได้ฟังคำร้องเชิญ จึงแวะเข้าไปในร้านสุราของพวกนั้นแล้ว ก็เข้าใจได้ทันทีว่ามียาพิษอยู่ในสุรา ด้วยการสังเกตกิริยาอาการของพวกนั้น พร้อมด้วยสังเกตขวดสุราไม่บกพร่อง แล้วจึงจ้องหน้าพวกนักเลงทั้งหลายพร้อมกับกล่าวว่า พวกเธอพากันเอายาพิษใส่ไว้ในสุราเพื่อหมายจะทำการทุจริตต่อผู้คนที่สัญจรไปมา จงพากันหลีกไปจากที่นี้อย่าได้ช้า เมื่อนักเลงสุราได้ฟังดังนั้นก็มีความเกรงกลัวเป็นอันมาก ได้พากันหลบหนีไปจากที่นั้นโดยมิได้รอช้า ฝ่ายเศรษฐีก็ได้เลยไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลเรื่องนั้นให้ทราบทุกประการ พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี เรื่องนี้ได้เคยมีมาแล้วในปางก่อน แล้วจึงทรงแสดงเรื่องในอดีตต่อไปว่า

        ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตผ่านราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี มีนักเลงพวกหนึ่งซึ่งได้ปรุงสุราเจือด้วยยาพิษไว้ แล้วคอยร้องเชื้อเชิญเศรษฐีคนหนึ่งให้แวะเข้าไปดื่มสุรา ในขณะที่เศรษฐีเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงพาราณสี แต่เศรษฐีหาได้แวะไม่ เมื่อกลับจากเฝ้าแล้วจึงได้แวะเข้าไปดู เมื่อเข้าไปถึงแล้วจึงตั้งใจสังเกตกิริยาของนักเลงสุราพวกนั้น ก็รู้ได้ทันทีว่ามียาพิษอยู่ในสุรา จึงกล่าวเป็นคาถาขึ้นว่า

ตเถว ปุณฺณปาติโย   อญฺญายํ  วตฺตเต  กถา

อาการเกน   ชานามิ   เนวายํ  ภทฺทกา  สุราติ

        แปลว่า ในเวลาเราผ่านไปไหสุรายังเต็มอยู่ฉันใด บัดนี้ไหสุราก็เต็มอยู่ฉันนั้น ถ้อยคำที่ท่านทั้งหลายกล่าวว่าสุราดีนั้น เป็นอันผิดไปเสียแล้วเพราะสุรานี้เป็นสุราเจือด้วยยาพิษ เมื่อนักเลงสุราพวกนั้นได้ฟังคำท่านเศรษฐีดังนี้แล้ว ก็พากันหลีกหนีไปจากสถานที่นั้น

        ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดา  ทรงแสดงเรื่องอดีตจบลงดังนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า นักเลงสุรานั้น ได้เกิดมาเป็นนักเลงสุราพวกนี้ ส่วนเศรษฐีนั้น ได้เกิดมาเป็นเราตถาคตนี้แล ในชาดกนี้เป็นเครื่องเตือนสติอันดีของคนทั้งหลาย ในเวลาที่มีผู้เชื้อเชิญให้บริโภคข้าวน้ำโภชนาหาร หรือดื่มสุราเมรัย ถ้าเป็นคนไม่รู้จักคุ้นเคยกัน เป็นที่ไว้วางใจกันได้สนิทสนมแล้ว อย่าพึงบริโภคกินดื่มโดยรวดเร็ว ให้สังเกตอากัปกิริยาของผู้เชื้อเชิญและของที่จะกินดื่มนั้นให้ดีก่อนว่าจะเป็นของดีร้ายประการใด ควรทำตามเศรษฐีอันมีในชาดกนี้ให้จงได้เสมอไป จึงจักพ้นภัยอันตรายได้ทุกเมื่อ ถ้ายิ่งเดินทางไปต่างถิ่นแล้วก็ยิ่งเป็นการสำคัญมากขึ้น จึงได้มีสุภาษิตในเรื่องหนึ่งไว้ว่า

เดินทางต่างประเทศให้       พิจารณ์

อาสน์นั่งนอนอาหาร         อีกน้ำ

อดนอนอดบันดาล                  ความโกรธ

สามสิ่งนี้คุณล้ำ                             เลิศล้วนควรถวิล

อาหารเยียหยิบให้                       กากิน   ก่อนนา

ดีบ่ดีท่านถวิล                เหตุรู้

พบแผ่นพระภูมินทร์                       ยินโสลก   สารนา

ยกกึ่งเมืองให้ผู้                                  ปราชญ์แล้วบูชา   ดังนี้

          ในสุภาษิตนี้มีอีกเรื่องหนึ่งว่า พ่อค้าคนหนึ่งไปพักอยู่ที่หาดทรายริมน้ำแห่งหนึ่ง ได้มีมหาโจรคนหนึ่งนำอาหารไปขายให้พ่อค้าคนนั้น ๆ ซื้ออาหารไว้แล้วก็หยิบไปวางไว้ที่ตอไม้ให้กากินเสียก่อน  พอกาตัวหนึ่งมากิน แล้วบินไป ไม่ช้าก็ตกลงมาตายอยู่ที่หาดทราย เมื่อความเรื่องนี้ทราบถึงพระเจ้าแผ่นดินเมืองนั้น ก็ทรงโปรดปรานพ่อค้านั้นว่าเป็นผู้มีสติปัญญารอบคอบ จึงยกสมบัติพระราชทานกึ่งหนึ่ง ตั้งให้พ่อค้านั้นเป็นเสนาบดีรับราชการสืบต่อไปในพระนครนั้น ดังนี้

ไหสุราทั้งหลาย ยังเต็มอยู่อย่างเดิม ถ้อยคำที่ท่านกล่าวนี้

ไม่เป็นจริงเราจึงรู้ได้ด้วยเหตุนี้ว่าสุรานี้เป็นสุราไม่ดีแน่

ปุณณปาติกชาดกจบฺ