๕๕. ปัญจาวุธชาดก (ว่าด้วยการบรรลุธรรมอันเกษม)

 

          พระบรมศาสดา ได้ทรงปรารภภิกษุผู้ไม่มีความอาจหาญในการบำเพ็ญสมณธรรมรูปหนึ่งให้เป็นต้นเหตุ มีเรื่องปรากฏมาว่า เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาทรงทราบว่า ภิกษุรูปนั้นหมดความกล้าหาญในการบำเพ็ญสมณธรรม ดังนั้น จึงโปรดให้หาตัวเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ บัณฑิตทั้งหลายในปางก่อนได้เสวยราชสมบัติ ก็เพราะมีความกล้าหาญประจำมั่นในจิตสันดาน ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงมีพุทธบรรหารประทานเทศนาต่อไปว่า

          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในรัชกาลแห่งสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระเจ้าพรหมทัตมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งซึ่งสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะอันดี เมื่อพระราชโอรสนั้นมีพระชนม์ได้ ๑๒ ปี ท้าวเธอก็ทรงส่งไปเรียนศิลปศาสตร์ในตักกสิลาราชธานี เมื่อเสร็จการศึกษาแล้ว อาจารย์จึงมอบอาวุธ ๕ อย่าง คือ พระขรรค์ ธนู หอกซัด ขวาน ตะบองให้แก่พระราชกุมารนั้น ๆ ก็อำลาอาจารย์ออกเดินทางกลับมาสู่กรุงพาราณสี พอมาถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่งได้พบยักษ์ตนหนึ่ง ซึ่งจำแลงตัวให้มีร่างกายสูงเท่าลำตาล มีศีรษะประมาณเท่าปราสาท มีลูกตาโตประมาณเท่าบาตรขนาดใหญ่ มีเขี้ยวทั้ง ๒ งอกออกจากปากเท่าหัวปลีมีหน้าขาวท้องด่าง มีมือเขียวเท้าเขียวน่าพิลึกสะพรึงกลัว เมื่อพระราชกุมารแลเห็นยักษ์นั้นยืนขวางทางอยู่ ก็รู้แน่ว่าเป็นยักษ์หรือเป็นผีป่า อันจะมาทำอันตรายแก่พระองค์ ๆ จึงดำรงสติไว้ให้มั่นคง ไม่สะทกสะท้านหวาดหวั่นต่ออันตรายแม้แต่เพียงประมาณเล็กน้อย ปลุกกำลังใจของพระองค์ให้เข้มแข็งว่าเราจะฆ่ายักษ์นี้ไม่ให้ยักษ์กินเราได้ดังประสงค์ ครั้นปลุกใจให้กล้าหาญอย่างนี้แล้ว ก็เดินตรงเข้าไปใกล้ แล้วกล่าวว่า ดูก่อนยักษ์ เราได้เตรียมตัวไว้พร้อมแล้วจึงได้กล้าเข้ามาในป่าใหญ่นี้ ถ้าท่านกลัวตายก็จงหลีกทางให้เราแต่โดยดี หาไม่เราจะยิงท่านให้ตายด้วยลูกศรอันกำซาบด้วยยาพิษ เมื่อยักษ์ไม่หลีกทางให้จึงแผลงศรไปจนสิ้นลูกศรถึง ๕๐ ลูก ยักษ์นั้นก็ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด เพราะลูกศรเหล่านั้นได้ไปติดอยู่ที่ขนยักษ์เสียสิ้น พระราชกุมารนั้นจึงชักพระขรรค์อันมีประมาณยาว ๓๓ องคุลีเดินตรงเข้าไปตวาดว่า ดูก่อนยักษ์ ถ้าท่านไม่หลีกไปเราจักฟันท่านให้ขาดเป็น ๒ ท่อนด้วยพระขรรค์อันมีฤทธิ์ของเรา ครั้นว่าแล้วก็ฟันลงไป พระขรรค์ก็ไปติดอยู่ที่ขนยักษ์อีก จึงแทงด้วยหอก ฟันด้วยขวาน ตีด้วยตะบองเป็นลำดับกันไป หอก ขวาน ตะบองเหล่านั้นก็ไปติดอยู่ที่ขนยักษ์อีก พระราชกุมารก็ทราบว่ายักษ์นั้นมีขนเหนียว จึงตวาดด้วยสุรสีหนาทว่า นี่แนะยักษ์ท่านไม่เคยได้ยินชื่อเราบ้างหรือ ว่าตัวเรานี้ชื่อปัญจาวุธกุมาร ผู้มีความอาจหาญแกล้วกล้าสามารถใช้อาวุธทั้ง ๕ ประการ ประหารข้าศึกให้พินาศ ถ้าท่านขืนจะกินเรา เราจะประหารท่านให้แหลกละเอียดไปด้วยมือและเท้าของเราในบัดนี้ ครั้นตวาดดังนี้แล้วก็ตรงเข้าชกเตะต่อยด้วยกำลังอันแรงกล้าตามวิชาที่เรียนมาจากครู แต่มือและเท้าก็ได้เข้าไปติดอยู่ในขนของยักษ์อีก จึงตวาดออกไปอีกว่าถ้าท่านขืนจะกินเรา ๆ จะเอาศีรษะฟัดท่านให้แหลกเป็นจุณไปในบัดนี้ แล้วก็เอาศีรษะกระทบยักษ์โดยสุดกำลังแรง แต่ศีรษะได้เข้าไปติดอยู่ในขนของยักษ์อีก ถึงอย่างนั้นก็ไม่รู้สึกเกรงกลัว ยักษ์รู้สึกประหลาดใจจึงถามว่า ดูก่อนบุรุษ เหตุไรท่านจึงไม่เกรงกลัวเราแม้แต่เล็กน้อย จึงตอบว่า ดูก่อนยักษ์ เพราะเรามีวชิราวุธอยู่ในท้องของเรา ถ้าท่านกินเราเข้าไปไส้ของท่านก็จะขาดเป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ ถึงซึ่งความตายไปกับเราด้วย โดยเหตุนี้เราจึงไม่กลัวท่าน ข้อที่พระราชกุมารนั้นกล่าวว่า มีวชิราวุธอยู่ในท้องนั้น หมายเอาอาวุธปัญญา แต่ยักษ์เข้าใจว่าเป็นอาวุธจริง จึงไม่กล้าจะกินพระราชกุมารนั้น ยอมปล่อยพระราชกุมารนั้นไป พระราชกุมารได้สั่งให้ยักษ์งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น โดยแสดงผลว่า ท่านเกิดมาเป็นยักษ์ดังนี้ก็เพราะโทษที่ทำบาปกรรมไว้ในปางก่อน ต่อนี้ไปขอให้ท่านจงตั้งอยู่ในศีล ๕ จนชีวิตหาไม่ เมื่อสอนยักษ์ดังนี้แล้วก็เดินทางต่อไปจนกระทั่งถึงกรุงพาราณสี ครั้นอยู่มาเมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้วก็ทรงเสวยราชสมบัติสืบแทนโดยทศพิธราชธรรม ทรงบำเพ็ญบุญกุศลมีทาน เป็นต้น อยู่ตลอดพระชนมชีพของพระองค์ สมเด็จพระทศพลทรงแสดงเรื่องอดีตดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า

 โย   อลีเนน   จิตฺเตน     อลีนมนโส   นโร

ภาเวติ   กุสลํ   ธมฺมํ           โยคกฺเขมสฺส   ปตฺติยา

ปาปุเณ   อนุปุพฺเพน        สพฺพสํโยชนกฺขยนฺติ

          แปลว่า ผู้ใดไม่มีใจหดหู่ย่อท้อ ตั้งหน้าต่อการบำเพ็ญกุศล ผู้นั้นย่อมได้สำเร็จธรรมอันไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว สิ้นเครื่องกังวลทั้งปวงโดยลำดับ ดังนี้ ครั้นสมเด็จพระทศพลโปรดประทานเทศนาดังนี้แล้ว จึงแสดงอริยสัจสืบต่อไป เมื่อจบอริยสัจลง ภิกษุผู้ท้อถอยต่อการบำเพ็ญสมณธรรมนั้นก็ได้บรรลุพระอรหัตผล แล้วพระพุทธองค์จึงทรงประชุมชาดกว่า ปัญจาวุธกุมารในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นเราตถาคต ในบัดนี้ ดังนี้

“นรชนใดมีจิตไม่ท้อถอย มีใจไม่หดหู่เจริญกุศลธรรม

เพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะนรชน

นั้นพึงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งปวงโดยลำดับ.”

ปัญจาวุธชาดกจบฺ