๖๓. ตักกชาดก (ว่าด้วยธรรมดาหญิง)

        พระบรมศาสดาได้ทรงปรารภพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งมีความกระสันเหมือนกับภิกษุ ๒ รูปนั้นให้เป็นต้นเหตุ พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ธรรมดาผู้หญิงทั้งหลายมักเป็นคนอกตัญญูมิได้รู้อุปการคุณที่สามีกระทำแก่ตน มักเป็นคนประทุษร้ายต่อมิตร เหตุใดเธอจึงมีความกระสันเพราะอาศัยหญิงเป็นต้นเหตุ ครั้นแล้ว จึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ครั้งพระเจ้าพรหมทัตผ่านสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีฤๅษีตนหนึ่งสร้างอาศรมบทศาลาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา ทำอภิญญาสมาบัติให้เกิดขึ้นแล้ว ก็ยับยั้งอยู่ด้วยความสุขอันเกิดจากฌานในสถานที่นั้น

        ในกาลครั้งนั้น มีธิดาแห่งเศรษฐีซึ่งอยู่ในกรุงพาราณสี มีนามว่าทุฏฐกุมารีเป็นผู้มีสันดานมากไปด้วยความโกรธ ด่าว่า โบยตี บ่าวไพร่ กรรมกรจนเป็นที่เกลียดชังของพวกบ่าวไพร่ทุกทั่วหน้า ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พวกบ่าวไพร่พากันไปเล่นน้ำที่คงคานที พอได้โอกาสอันดีก็ชวนกันผลักไสลงไปในกระแสน้ำ ซึ่งกำลังไหลเชี่ยว แล้วก็พากันกลับบ้าน ฝ่ายมารดาบิดาก็หาทราบเหตุการณ์นั้นไม่ เมื่อทราบว่าบุตรีหายก็ใช้ให้ผู้คนออกติดตามทั่วทุกสถาน แต่มิได้ร่องรอยประการใดก็เข้าใจว่าบุตรีทำกาลกิริยาตาย ฝ่ายทุฏฐกุมารีเมื่อถูกกระแสน้ำพัดไปก็ร้องด้วยเสียงอันดังไปแต่ลำพังผู้เดียว เวลานั้นเป็นเวลากลางคืนนางได้ลอยมาถึงในที่ใกล้บรรณศาลาอันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งฤๅษีตนหนึ่ง เมื่อฤๅษีได้ยินเสียงร้องก็รู้ได้ว่าเป็นเสียงผู้หญิงถูกกระแสน้ำพัดมา จึงลงจากบรรณศาลาถือคบเพลิงไปส่องดู เมื่อรู้ว่าเป็นหญิงลอยน้ำมาจริง ดังนั้น จึงว่ายน้ำไปช่วยนำขึ้นมาพาไปสู่อาศรมให้พลัดเครื่องนุ่งห่มเรียบร้อยแล้วจึงก่อไฟให้ผิง และให้บริโภคผลไม้ต่างอาหาร ครั้นบริโภคอิ่มหนำสำราญแล้ว ฤๅษีจึงไต่ถามถึงเหคุการณ์ว่าเหตุไรจึงถูกกระแสน้ำพัดมาเช่นนี้ เมื่อนางเล่าเรื่องให้ฟังแล้ว ก็จัดให้นางพักหลับนอนในบรรณศาลา ส่วนตนออกไปนอนภายนอก เวลารุ่งเช้าก็บอกมรรคาให้นางกลับไปกรุงพาราณสี แต่นางหาได้ไปไม่ ด้วยกลัวภัยในมรรคาจึงขอพักอยู่ในที่นั้นอีกต่อไป ส่วนฤๅษีก็อนุญาตตามร้องขอ และได้แสวงหาผลไม้มาเลี้ยงดูด้วยความเมตตากรุณา ครั้นอยู่ต่อมาฤๅษีนั้นก็ลาพรตด้วยเกิดความรักใคร่ในนางทุฏฐกุมารี เมื่อได้อยู่ด้วยกันโดยฐานะเป็นสามีภรรยากันพอสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็พากันออกจากบรรณศาลาไปอาศัยอยู่ในบ้านตำบลหนึ่งแขวงกรุงพาราณสี ฝ่ายสามีทำการเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างขายเปรียงจนมีนามว่าตักกบัณฑิต ครั้นอยู่ต่อมา วันหนึ่งมีพวกโจรเข้าไปปล้นในบ้านตำบลนั้นในเวลาที่ตักกบัณฑิตไม่อยู่ นายโจรได้เห็นภรรยาของตักกบัณฑิตซึ่งมีรูปร่างอันสวยงามก็มีจิตคิดเสน่หาจึงจับนางไปเป็นภรรยา ฝ่ายตักกบัณฑิตเมื่อกลับมาจากป่าทราบว่าภรรยาถูกพวกโจรจับไป ก็มีความทุรนทุรายด้วยความรักใคร่เสียดาย จึงคิดหาอุบายที่จะติดตาม แต่ยังไม่เห็นอุบายอย่างใด ส่วนภรรยาเมื่อไปอยู่กับนายโจรรู้สึกว่ามีความสุขยิ่งกว่าอยู่กับสามี จึงเกรงว่าสามีจะติดตามมาเอาตัวกลับไป นางจึงตกลงใจว่า เราควรจะหาอุบายลวงสามีมาให้โจรฆ่าเสียจึงจะเป็นการดี ครั้นคิดแล้วก็ลอบเขียนหนังสือใช้ให้โจรคนหนึ่งไปส่งให้แก่สามีในเวลาที่นายโจรไม่อยู่ ใจความในจดหมายนั้นว่านับแต่ข้าพเจ้าตกไปอยู่กับโจรแล้วหาความสุขมิได้เลยมีความทุกข์ตลอดเวลาขอให้   ตักกบัณฑิตผู้เป็นสามีจงรีบมารับข้าพเจ้ากลับเสียแต่ในวันนี้ เมื่อตักกบัณฑิตได้ทราบแล้วก็รีบไปกับโจรนั้น แต่พอไปถึงภรรยาจึงบอกว่าเวลาวันนี้ก็เย็นแล้ว ไม่ช้านายโจรก็จะกลับมา ถ้าเราทั้งสองหนีไปก็จะไม่พ้นเงื้อมมือแห่งนายโจร ขอให้ไปซ่อนตัวอยู่เสียก่อน จึงค่อยเผ่นหนีไปในเวลากลางคืน ตักกบัณฑิตก็ทำตามคำของภรรยา เมื่อนายโจรกลับมาจากป่ากำลังเหน็ดเหนื่อย นางก็ยกสุราไปให้ดื่ม แล้วแกล้งทำเป็นร้องไห้บอกแก่นายโจรว่า บัดนี้สามีได้มาตามจะนำตัวกลับไปข้าพเจ้าไม่พอใจจะกลับ แล้วบอกแก่นายโจรว่าเวลานี้สามีซ่อนตัวอยู่นอกบ้าน เมื่อนายโจรได้ฟังดังนั้นก็บันดาลโทสะยิ่งนัก จึงพร้อมด้วยบริวารออกไปค้นจับตัว  ตักกบัณฑิตมามัดโบยตีด้วยอาการอันทารุณร้ายกาจ ส่วนตักกบัณฑิตถูกโจรโบยตีดังนั้น ก็ไม่ได้กล่าวอันใด กล่าวแต่คำว่า ธรรมดาหญิงทั้งหลายมักเป็นคนขี้โกรธ เป็นคนอกตัญญู เป็นคนส่อเสียด เป็นคนประทุษร้ายมิตร ดังนี้ ทุกขณะที่นายโจรโบยตี เมื่อนายโจรโบยตีจนเป็นที่หนำใจแล้วก็มัดให้นอนอยู่กลางแจ้ง ด้วยคิดว่ารุ่งเช้าขึ้นจะฆ่าเสีย แล้วนายโจรก็ไปบริโภคอาหาร เมื่อบริโภคอาหารแล้วก็เข้าสู่ที่นอน ครั้นตื่นเช้าขึ้นสร่างเมาสุราแล้วก็ไปโบยตีตักกบัณฑิตอีก แต่ตักกบัณฑิตก็กล่าวเหมือนอย่างเดิมอีก นายโจรก็เกิดความเฉลียวใจจึงไต่ถามว่า นี่แน่ะบุรุษเธอถูกเราโบยตีเช่นนี้น่าจะร้องขอโทษหรือคำวิงวอน แต่เหตุไฉนเธอจึงกล่าวยืนคำอยู่อย่างนี้ทุกครั้ง ตักกบัณฑิตจึงชี้แจงให้ฟังตั้งแต่ตนบวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่ามาจนกระทั่งถูกโบยตีให้นายโจรฟัง เมื่อนายโจรได้ฟังดังนั้นก็เกิดความสลดใจว่า ธรรมดาหญิงทั้งหลายย่อมเป็นคนเช่นนี้หนอ ครั้นแล้วก็ฉวยเอาดาบกลับเข้าไปในบ้านนำภรรยาไปฆ่าเสียทันที ครั้นไต่ถามตักกบัณฑิตว่าบัดนี้ท่านจะไปยังสถานที่ใด เมื่อตักกบัณฑิตตอบว่าข้าพเจ้าจะกลับไปบวชอีก นายโจรก็ตกลงตามไปด้วย แล้วคนทั้งสองก็พากันบวชเจริญฌานสมาบัติอยู่ในป่า เมื่อสิ้นชีพแล้วก็บ่ายหน้าขึ้นไปเกิดในพรหมโลก ส่วนนางทุฏฐกุมารีนั้นได้ไปทนทุกขเวทนาอยู่ในนรกตลอดกาลนาน ด้วยโทษที่เนรคุณต่อสามี ครั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเรื่องนี้จบลงแล้ว จึงตรัสสอนภิกษุนั้นด้วยพระคาถาว่า

โกธนา   อกตญฺญู  จ   ปิสุณา  จ  วิเภทิกา

พฺรหฺมจริยํ  จร  ภิกฺขุ    โส  สุขํ  น  วิหาหิสีติ

        แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลมักเป็นคนขี้โกรธ เป็นคนอกตัญญูเป็นคนส่อเสียด เป็นคนประทุษร้ายมิตร เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ จึงจักไม่ปราศจากความสุข ดังนี้ ครั้นตรัสแล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจสืบต่อไป เมื่อจบอริยสัจภิกษุรูปนั้นก็ได้สำเร็จโสดาปัตติผล แล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า นายโจรในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนตักกบัณฑิต ได้อุบัติมาเป็นเราตถาคตนี้เอง ดังนี้

“ธรรมดาว่าหญิงเป็นคนมักโกรธ ไม่รู้จักคุณ ชอบ

ส่อเสียด ชอบยุยงให้แตกกัน ดูก่อนภิกษุ!

ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด ท่านจะไม่เสื่อมจากสุข.”

ตักกชาดกจบ.