พระบรมศาสดาทรงปรารภอำมาตย์ผู้หนึ่งให้เป็นต้นเหตุ แล้วจึงทรงแสดงชาดกนี้ให้เป็นผลว่า อำมาตย์นั้นเป็นคนโปรดปรานของพระเจ้าโกศล ๆ โปรดให้ไปกินบ้านส่วยอยู่ในบ้านพรมแดนแห่งหนึ่ง แต่อำมาตย์นั้นเป็นคนทุจริตได้สมรู้ร่วมคิดกันกับพวกโจรให้เข้าปล้นบ้านแล้วแบ่งทรัพย์สมบัติกัน กล่าวคือ อำมาตย์ผู้นั้นได้ชักชวนชาวบ้านไปเที่ยวป่าให้พวกโจรลอบเข้าปล้นบ้าน ภายหลังได้ทำอยู่อย่างนี้หลายครั้งจนมีผู้ล่วงรู้อุบายของอำมาตย์ทุจริตผู้นั้น แล้วนำความไปกราบทูลพระเจ้าโกศล ๆ รับสั่งให้หาตัวเข้าเฝ้าทรงสอบถามได้ความจริงแล้ว จึงถอดจากตำแหน่งอำมาตย์แล้วลงพระราชอาญาตามสมควรแก่ความผิด ทรงตั้งอำมาตย์คนอื่นออกไปแทนแล้วเสด็จออกไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลเล่าเรื่องอำมาตย์ทุจริตนั้นให้ทรงทราบ แล้วสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตได้ครองสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ได้พระราชทานบ้านปลายแดนตำบลหนึ่งให้แก่อำมาตย์ผู้หนึ่ง อำมาตย์ผู้นั้นได้ประพฤติตนเป็นคนทุจริตเหมือนกับอำมาตย์ผู้นี้ ในเวลานั้นมีพ่อค้าคนหนึ่งได้ไปพักอยู่ที่ตำบลนั้น ได้เห็นอำมาตย์คนนั้น มีคนตีกลองนำหน้า มีบริวารแห่ห้อมล้อมตามหลัง กลับไปสู่เคหสถานในเวลาเย็น จึงคิดว่านายบ้านผู้นี้เป็นคนทุจริตสมรู้ร่วมคิดกับพวกโจรทั้งหลาย แล้วกล่าวว่า ยโต วิลุตฺตา ปหตาย คาโว เป็นอาทิ แปลว่า เวลาใดพวกโจรมาฆ่าโคกินแล้วปล้นบ้านและเผาเรือนแล้ว จับเอาคนไปเป็นเชลยแล้วนั้นบุตรที่มารดาบอกศาลากลับมาตีกลองอยู่อึกทึก มารดาก็มิได้นับว่าเป็นบุตร คำว่า บุตรที่มารดาบอกศาลาแล้วนั้นหมายเอาอำมาตย์ผู้ทุจริตนี้ ดังนี้ ครั้นต่อมาไม่ช้านาน กิตติศัพท์ของนายบ้านนั้นก็เลื่องลือไป พระเจ้าพาราณสีจึงโปรดให้ไต่สวนได้ความจริงแล้ว ก็ลงพระอาญาตามโทสานุโทษ เมื่อแสดงอดีตดังนี้แล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า อำมาตย์ทุจริตในครั้งนั้น ได้เกิดมาเป็นนายบ้านทุจริตในครั้งนี้ ส่วนพ่อค้านั้นได้เกิดมาเป็นเราตถาคตนี้แล ดังนี้
“เมื่อใดพวกโจรปล้น และฆ่าวัวกิน เผาบ้านและจับคนไปเป็น
เชลยเมื่อนั้น บุตรที่มารดาละทิ้งแล้ว จึงมาตีกลองเสียงดัง.“
ขรัสสรชาดกจบ.