๘๓. กาลกัณณิชาดก (ว่าด้วยมิตร)

          พระพุทธองค์ทรงปรารภสหายแห่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้เป็นต้นเหตุ จึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีสหายแห่งเศรษฐีคนหนึ่งซึ่งมีชื่อว่านายกาลกัณณี เคยเป็นสหายเล่นกันมาแต่เยาว์และเคยเรียนศิลปะศาสตร์ในสำนักอาจารย์เดียวกัน แต่ครั้นต่อมานายกาลกัณณียากจนขัดสนลง ได้ไปขออาศัยอยู่กับเศรษฐี ๆ ก็เลี้ยงดูเป็นอย่างดีในฐานะที่เคยเป็นสหายกันมา

          ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง มิตรและอำมาตย์แห่งเศรษฐี จึงไปขอให้เศรษฐีปลีกตัวเสียให้ห่างไกล อย่าได้เลี้ยงนายกาลกัณณีไว้ในบ้านเรือน เพราะเห็นว่าชื่อเขาไม่ดี แล้วจะเป็นอัปรีย์จัญไรแก่บ้านเรือน  แต่เศรษฐีไม่กระทำตาม เพราะถือว่าบัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ถือชื่อเป็นสำคัญ

          อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อเศรษฐีจะไปบ้านส่วยของตน ได้มอบให้นายกาลกัณณีเป็นผู้รักษาบ้านเรือนแทน เมื่อเศรษฐีไปแล้ว โจรได้ปรึกษากันว่าจะเข้าปล้นบ้าน ได้พร้อมกันถือสาตราวุธไปล้อมบ้านเศรษฐีในเวลาราตรี เมื่อนายกาลกัณณีรู้ว่ามีพวกโจรมาล้อมบ้านจึงปลุกคนทั้งหลายให้ตื่นขึ้น ทำเสียงอื้ออึงต่าง ๆ กัน บางพวกก็เป่าสังข์ บางพวกก็ตีกลองเสียงกึกก้องไปทั้งบ้านเหมือนกับมีการมหรสพ พวกโจรเข้าใจว่าเศรษฐีอยู่ จึงพากันทิ้งสาตรามีก้อนดินและตะบองเป็นต้นไว้แล้วหนีไป

          รุ่งขึ้นคนทั้งหลายได้เห็นสาตราวุธดังนั้น ก็เกิดความกลัวสยดสยองต่างพากันสรรเสริญนายกาลกัณณีว่า ในวันนี้ถ้าไม่ได้นายกาลกัณณีแล้ว พวกโจรคงจะเข้าปล้นบ้านเป็นแน่นอน เวลาเศรษฐีกลับมาจากบ้านส่วย จึงพากันเล่าเรื่องให้ฟังทุกประการ เศรษฐีจึงกล่าวว่า พวกท่านซิจะให้เราขับไล่นายกาลกัณณีไปเสีย ถ้าเราเชื่อตามถ้อยคำของพวกท่าน แล้วทรัพย์สมบัติของเราก็จักไม่มีเหลือ นี่แหละท่านทั้งหลาย ธรรมดาชื่อจะถือเอาเป็นประมาณไม่ได้ ใจที่เคยเมตตาอารีย์ต่อกันนั้นแหละเป็นประมาณ เมื่อเศรษฐีกล่าวดังนี้แล้ว ก็ให้รางวัลเป็นอันมากแก่นายกาลกัณณี แล้วเศรษฐีได้กล่าวว่า

มิตฺโต   หเว   สตฺตปเทน   โหติ        สหาโย   ปน   ทฺวาทสเกน   โหติ

มาสฑฺฒมาเสน   จ   ญาติ   โหติ      ตตุตฺตรึ   อตฺตสโมปิ   โหติ

โสหํ   กถํ   อตฺสุขสฺส   เหตุ                จิรสนฺถุตํ   กาลกณฺณึ   ชเหยฺยนฺติ

          แปลว่า บุคคลตั้งอยู่ด้วยเมตตา คือ มีความรักใคร่ต่อกันเรียกว่ามิตร อีกอย่างหนึ่ง บุคคลที่เดินทางร่วมกันตั้งแต่ ๗ ก้าวขึ้นไปก็เรียกว่ามิตร บุคคลที่ร่วมงานกันเรียกว่าสหาย และบุคคลที่เดินทางร่วมกันตั้งแต่ ๑๒ ก้าวขึ้นไปก็เรียกว่าสหาย คนที่ระลึกถึงกันหรือไปมาหากันเดือนละครั้ง หรือครึ่งเดือนต่อครั้งเรียกว่าผู้เสมอด้วยญาติ ส่วนคนที่อยู่ด้วยกันโดยถูกต้องปรองดองกัน ช่วยกันทำการงาน ดีกว่ามิตร ดีกว่าสหาย ดีกว่าคนที่เสมอด้วยญาติ เราจะละนายกาลกัณณีผู้เป็นสหายกันมานาน เพราะเห็นแก่ความสุขของเราอย่างไร ดังนี้ ครั้นแล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า นายกาลกัณณีในครั้งนั้นต่อมาก็คืออานนท์นี้เอง ส่วนเศรษฐี คือเราตถาคตนี้เอง ในชาดกนี้ขอให้ท่านทั้งหลายจงจำไว้เถิดว่า ชื่อเสียงเรียงนามย่อมไม่ดีไม่ร้าย ไม่ให้คุณประโยชน์อันใด ดีและร้ายได้เพราะอาศัยความประพฤติเท่านั้น ถึงชื่อจะไม่ดีแต่ความประพฤติดีมีสติปัญญาเฉียบแหลมก็นำมาซึ่งคุณประโยชน์  เหมือนเรื่องที่แสดงมาแล้วนี้  ดังนี้

บุคคลชื่อว่าเป็นมิตรด้วยการเดินร่วมกัน ๗ ก้าว ชื่อว่าเป็น

สหายด้วยการเดินร่วมกัน ๑๒ ก้าว และชื่อว่าเป็นญาติด้วย

การอยู่ร่วมกันเดือนหนึ่งหรือกึ่งเดือน ส่วนผู้ชื่อว่ามีตนเสมอ

กันก็ด้วยการอยู่ร่วมกัน ยิ่งกว่านั้นเราจะละทิ้งมิตรชื่อว่ากาล

กัณณี ผู้ชอบกันมานาน เพราะความสุขส่วนตัวได้อย่างไร?

กาลกัณณิชาดกจบ.