๘๗. มังคลชาดก (ว่าด้วยถือมงคลตื่นข่าว)

          พระบรมศาสดาทรงปรารภพราหมณ์คนหนึ่ง ผู้ถือลักษณะผ้าสาฎกให้เป็นต้นเหตุ มีเรื่องราวมาว่า พราหมณ์นั้นเป็นชาวกรุงราชคฤห์ เป็นผู้ถือสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นมงคล เป็นมิจฉาทิฏฐิไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย เป็นคนมั่งมีทรัพย์สมบัติบ่าวไพร่บริวาร อยู่มาคราวหนึ่งหนูได้กัดผาสาฎก พราหมณ์นั้นคิดว่าผ้าสาฎกที่หนูกัดคู่นี้ ถ้ายังอยู่ในบ้านเรือนก็จะเกิดความพินาศอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อไม่ไว้ใจคนอื่น จึงได้เรียกบุตรมาแล้วสั่งว่า เจ้าจงเอาผ้าหนูกัดนี้ไปทิ้งเสียในป่าช้า แต่อย่าถูกต้องด้วยมือให้เอาไม้คอนไป เมื่อทิ้งแล้วจงอาบน้ำดำเกล้าก่อน แล้วจึงกลับบ้าน สั่งแล้วบุตรก็ไป

          ในเวลาใกล้รุ่งวันนั้น พระพุทธองค์ทรงพิจารณาดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุญาณ ก็ได้ทรงเห็นอุปนิสัยพระโสดาปัตติผลของพราหมณ์พ่อลูกทั้ง ๒ คน พอรุ่งขึ้น พระองค์จึงเสด็จไปประทับอยู่ที่ป่าช้าผีดิบ เมื่อบุตรพราหมณ์นำผ้าไปถึงที่นั้น พระองค์จึงตรัสถามว่า ดูก่อนมาณพเธอจะทำอะไร กราบทูลว่า ข้าพเจ้าได้นำผ้าหนูกัดมาทิ้ง จึงตรัสว่า  ถ้าอย่างนั้นเธอจงทิ้งเถิด พอมาณพนั้นทิ้งแล้วพระองค์จึงตรัสว่า ผ้านี้ย่อมสมควรแก่เรา แล้วพระองค์ก็ทรงถือเอาผ้าสาฎกคู่นั้นไป มาณพนั้นก็ได้ไปบอกบิดา ๆ จึงคิดว่า ผ้าคู่นั้นไม่เป็นมงคล เมื่อพระสมณโคดมนำไปใช้จะถึงซึ่งความพินาศทั้งตัวเองและวัดวาอาราม คนทั้งหลายก็จะติเตียนเราได้ จึงนำผ้าผืนใหม่ไปถวาย กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดม ผ้าคู่นั้นไม่ใช่ของเป็นมงคล ถ้าพระองค์ใช้ก็จะถึงซึ่งความพินาศ ขอพระองค์จงรับผ้าสาฎกเหล่านี้ แล้วทิ้งผ้าสาฎกนั้นเสียเถิด จึงตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ เราเป็นบรรพชิตมีกิจที่จะต้องแสวงหาผ้าที่เขาทิ้งในป่าช้าผีดิบ หรือกลางถนนนั่นแหละเป็นการดี ส่วนตัวท่านจะได้ถือลัทธินี้แต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงในปางก่อนก็เหมือนกัน พราหมณ์จึงทูลขอให้ทรงแสดงเรื่องอดีต พระองค์จึงทรงแสดงอดีตว่า ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าแผ่นดินชาวมคธตั้งอยู่ในยุติธรรมบำรุงไพร่ฟ้าประชาชนในกรุงราชคฤห์ มีฤๅษีอยู่ตนหนึ่งเป็นผู้ได้อภิญญาสมาบัติมาจากป่าหิมพานต์ พักอยูในพระราชอุทยานกรุงราชคฤห์ รุ่งเช้าขึ้นก็เข้าไปบิณฑบาตในพระนคร พระเจ้ากรุงราชคฤห์มีความเลื่อมใสนิมนต์ให้เข้าไปฉันในพระราชวัง แล้วอาราธนาให้กลับไปพักอยู่ในพระราชอุทยาน

          ในกาลครั้งนั้น มีพราหมณ์ผู้ถือลักษณะผ้าสาฎกคนหนึ่งอยู่ในกรุงราชคฤห์นั้นหนูได้กัดผ้าสาฎกของพราหมณ์นั้น ๆ ได้นำไปทิ้งที่ป่าช้า ฤๅษีได้เก็บเอาผ้าสาฎกนั้นไป พราหมณ์ได้ตามไปว่ากล่าวให้ทิ้งผ้าสาฎกนั้น ฤๅษีนั้นตอบว่า ผ้าที่บุคคลทิ้งในป่าช้าย่อมเป็นผ้าที่สมควรแก่เรา เราไม่ถือมงคลงมงายอย่างตัวท่าน การถือมงคลงมงายนั้น พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและโพธิสัตว์เจ้า ย่อมไม่ทรงสรรเสริญ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วก็แสดงธรรมแก่พราหมณ์  เมื่อพราหมณ์นั้นได้ฟังธรรมแล้วก็ละลัทธินั้นเสีย ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดา ทรงแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า

ยสฺสมงฺคลา   สมูหตา      อุปฺปาตาสุปินา   จ   ลกฺขณา   จ

โส   มงฺคลโทสวีติวตฺโต       ยุคโยคาธิคโต   น   ชาตุเมตีติ

          แปลว่า การถือมงคล การถืออุบาทว์ การถือความฝัน การถือลักษณะเหล่านี้ผู้ใดละเสียได้แล้ว ผู้นั้นเป็นผู้พ้นโทษแห่งการถือมงคล เป็นผู้ครอบงำซึ่งกิเลศ เป็นผู้จะไม่เกิดอีกต่อไป ดังนี้

          พระอรรถกถาจารย์ขยายความออกไปให้พิสดารว่า มงคลนั้นมี ๓ อย่างตามที่คนภายนอกพระพุทธศาสนานับถือ คือเขาถือสิ่งที่ได้เห็น ๑ สิ่งที่ได้ยิน ๑ สิ่งที่รู้ ๑ ว่าเป็นมงคล คือ  ถือว่าเป็นเครื่องทำให้เจริญ แต่ทางพระพุทธศาสนาถือการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นมงคล คำว่าอุบาทว์ คือถือ จันทรคราส สุริยคราส  นักขัตฤกษ์ อุกกาบาตและแสงไฟอันโพรงขึ้นในที่ต่าง ๆ รวมเป็น ๔ อย่างด้วยกัน คนภายนอกพระพุทธศาสนาย่อมหลงเชื่อว่าสิ่งทั้ง ๔ นี้  ว่าอาจจะให้เกิดความดีและความชั่ว

          ความเจริญและความพินาศแก่บ้านเมืองได้ การถือความฝันนั้นได้แก่ถือว่า ฝันอย่างนี้ดี ฝันอย่างนี้ร้าย การถือลักษณะนั้นได้แก่ถือลักษณะคน สัตว์ สิ่งของว่า ลักษณะอย่างนั้นดี ลักษณะอย่างนี้ชั่ว การถือเหล่านี้ทั้งหมดล้วนแต่เป็นการถืองมงาย ทำลายเสียซึ่งประโยชน์ ส่วนผู้ที่ไม่ถือสิ่งเหล่านี้ จัดว่าเป็นผู้ถือถูกต้องตามคลองธรรม คือ เมื่อผู้ใดถือการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นประมาณ ผู้นั้นจะต้องพ้นจากทุกข์โทษภัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต จะได้รับความสุขในมนุษย์ สวรรค์ นิพพาน ดังนี้

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงอดีตดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจต่อไป เมื่อจบอริยสัจลง พราหมณ์พ่อลูกทั้ง ๒ ก็ได้สำเร็จโสดาปัตติผล แล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า บิดาและบุตรในอดีตกาลนั้น ได้มาเกิดเป็นพราหมณ์บิดาและบุตรในปัจจุบันนี้ ส่วนฤๅษีนั้น คือ เราตถาคตนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้เป็นเครื่องบ่งชัดว่า พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ไม่ให้ถือสิ่งอื่นนอกจากความประพฤติเป็นประมาณ ให้ถือความประพฤติเป็นหลักประธานว่าประพฤติดีก็ได้ดี ประพฤติชั่วก็ได้ชั่วเท่านั้น ดังนี้

“ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะ ดีหรือชั่ว

ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ครอบงำกิเลส

เครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพที่เป็นคูกั้น ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก.“

มังคลชาดกจบ.