๘๙. กุหกชาดก (พูดดีได้เงินได้ทอง)

         พระบรมศาสดาทรงปรารภภิกษุโกหกรูปหนึ่ง แล้วจึงทรงแสดงชาดกนี้ เรื่องของภิกษุโกหกจะมีแจ้งในกุลาลชาดกข้างหน้า ในชาดกนี้มีแต่เรื่องอดีตว่า ในอดีตกาลล่วงแล้วมา ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี มีชฎิล คือ ดาบสผู้ลวงโลกรูปหนึ่ง อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีกุฎุมพีผู้มีทรัพย์สมบัติมากผู้หนึ่ง ได้สร้างบรรณศาลาให้แก่ดาบสนั้น และถวายอาหารทุกวันไปด้วยเข้าใจว่าดาบสนั้นเป็นผู้มีศีล ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง กุฎุมพีนั้นได้นำทองคำ ๑๐๐ ลิ่มไปฝังไว้ใต้บรรณศาลาฝากดาบสนั้นไว้ ดาบสก็รับรองว่าจะดูแลรักษาไม่ให้เป็นอันตราย แล้วกุฎุมพีนั้นก็ลากลับ ดาบสจึงคิดว่าเราควรจะเลี้ยงชีวิตได้ด้วยทรัพย์อันมากมายถึงเพียงนี้ ครั้นคิดแล้ว อยู่มา ๒ – ๓ วัน ก็ได้ขโมยเอาทองคำนั้นไปซ่อนไว้ในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นหนทางที่ตนจะไปแล้วจึงกลับมา ในเวลารุ่งขึ้นจึงเข้าไปลากุฎุมพีนั้นว่า ข้าพเจ้าอาศัยท่านอยู่นานแล้วการคลุกคลีกับผู้คนทั้งหลาย ย่อมมีแก่ผู้อยู่ในที่แห่งเดียว ธรรมดาการคลุกคลีย่อมไม่สมควรแก่บรรพชิตทั้งหลาย โดยเหตุนี้จึงจักขอลาท่านไปเดี๋ยวนี้ ถึงกุฎุมพีจะอ้อนวอนไว้หลายครั้งก็ไม่เชื่อฟัง  กุฎุมพีจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นพระผู้เป็นเจ้าจงไปเถิด แล้วก็ตามไปส่งจนกระทั่งถึงประตูบ้าน ส่วนดาบสนั้น เมื่อเดินไปได้หน่อยหนึ่งจึงคิดว่าเราจะลวงกุฎุมพีนี้ แล้วจึงเอาหญ้าวางไว้ในชฎา คือมวยผมของตนแล้วย้อนกลับมา กุฎุมพีถามว่า พระผู้เป็นเจ้ากลับมาโดยเหตุใด ตอบว่า หญ้าบนหลังคาเรือนของท่านติดมวยผมของเราไปเส้นหนึ่ง เราเห็นว่าการถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ย่อมเป็นการไม่สมควรแก่บรรพชิตทั้งหลาย โดยเหตุนี้ เราจึงเอาหญ้านั้นกลับมาคืนให้ท่าน กุฎุมพีกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าจงทิ้งเสียแล้วนิมนต์ไปเถิด เมื่อกล่าวอย่างนี้แล้วดาบสนั้นก็ลาไป ส่วนกุฎุมพีนั้นได้นึกสรรเสริญว่า พระผู้เป็นเจ้าองค์นี้เป็นผู้มีศีลธรรมอันดีเพียงแต่หญ้าคาเส้นเดียวก็มีความรำคาญใจ ในเวลานั้นมีพ่อค้าคนหนึ่งอยู่ในสถานที่นั้น เมื่อได้ฟังถ้อยคำของดาบสนั้นจึงคิดว่า ดาบสผู้นี้คงจะลักเอาสิ่งของสิ่งใดสิ่งหนึ่งของกุฎุมพีนี้เป็นแน่นอน จึงถามกุฎุมพีว่า ดูก่อนสหาย ท่านได้ฝากสิ่งใดไว้กับดาบสนี้หรือไม่ กุฎุมพีตอบว่า ได้ฝากทอง ๑๐๐ ลิ่มไว้ พ่อค้าคนนั้นจึงตอบว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงรีบไปตรวจดูอย่าได้ช้า กุฎุมพีก็กระทำตาม เมื่อเห็นทองหายไปจึงรีบกลับมาบอกแก่พ่อค้านั้น พ่อค้านั้นจึงตอบว่า ทองของท่านนั้นไม่ใช่ผู้อื่นขโมย คือ ดาบสนั่นเอง ท่านจงติดตามดาบสนั้นไปเถิด กุฎุมพีก็ติดตามดาบสนั้นไปโดยเร็ว เมื่อทันแล้วก็เตะตีสอบถามจนกระทั่งดาบสนั้นรับสารภาพตามเป็นจริง เมื่อได้ทองแล้วก็เอากลับคืนไปสู่เคหสถานพร้อมด้วยดาบสนั้น เมื่อพ่อค้าจะติเตียนดาบสนั้น จึงกล่าวเป็นคาถาว่า

วาจาว   กิร   เต   อาสิ      สณฺหา   สขิลภาณิโน

ติณมตฺเต   อสชฺชิตฺโถ      โน   จ    นิกฺขสตํ   หรนฺติ

         แปลว่า วาจาของท่านเป็นวาจาอ่อนหวาน เป็นวาจาสละสลวย เพียงแต่หญ้าเส้นเดียว เท่านั้น ท่านก็ว่าเป็นของขัดข้อง ส่วนทองคำตั้ง ๑๐๐ ลิ่ม ที่ท่านนำไป ย่อมไม่เป็นการขัดข้อง ดังนี้ เมื่อพ่อค้าคนนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็สั่งสอนดาบสนั้นไม่ให้ทำการลวงโลกอีกต่อไป

         ครั้นตรัสเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า ดาบสลวงโลกในครั้งนั้น ได้เกิดมาเป็นภิกษุผู้ลวงโลกในบัดนี้ ส่วนพ่อค้าคนนั้น ได้เกิดมาเป็นเราตถาคตนี้แล ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นว่า ธรรมดาคนทุจริต ย่อมมีกิริยาผิดปรกติเสมอไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเพื่อจะลวงให้คนอื่นตายใจเหมือนกับเรื่องดาบสที่แสดงมาแล้วนี้ ขอจงสังเกตกิริยาของคนอื่นไว้เถิดว่าถ้าผู้ใดมีกิริยาผิดปกติ ผู้นั้นต้องทำทุจริตเป็นแน่ โดยไม่ต้องสงสัย ดังนี้

“ได้ยินว่า วาจาของท่านผู้พูดคำอ่อนหวานเป็น

วาจาไพเราะ ท่านข้องอยู่เพราะหญ้าเพียงเส้น

เดียว แต่นำเอาทอง ๑๐๐ ลิ่มไปไม่ขัดข้อง.”

กุหกชาดกจบ.