๑๐. ลิตตวรรค
พระบรมศาสดาทรงปรารภการที่ภิกษุทั้งหลายบริโภคปัจจัย ๔ โดยมิได้พิจารณาให้เป็นต้นเหตุ มีเรื่องมาว่า ครั้งหนึ่งภิกษุทั้งหลายได้ปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช แล้วได้บริโภคโดยไม่พิจารณา ย่อมมีโดยมาก ครั้นภิกษุเหล่านั้นทำกาลกิริยาแล้ว ย่อมไปเกิดในนรกและในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ทรงทราบ จึงแสดงโทษแห่งการไม่พิจารณานั้น โดยเอนกปริยายแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันการบริโภคปัจจัย ๔ โดยไม่พิจารณานั้น เหมือนกับการบริโภคยาพิษอันร้ายแรง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ได้เคยมีมาแล้วแต่ในปางก่อน ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในกรุงพาราณสีมีนักเลงสกาคนหนึ่งเป็นคนโกง ได้เล่นสกากับสหายคนหนึ่งอยู่เสมอ ในเวลาใดที่ตนชนะก็พาลไม่เลิก เวลาที่ตนแพ้ก็พาลเลิกโดยวิธีอมลูกสกาซ่อนไว้เสีย ต่อมาสหายคนนั้น คิดจะแก้อุบายโกงของนักเลงสกาโกงคนนั้น จึงเอาลูกสกาไปย้อมยาพิษตากไว้ให้แห้งถึง ๓ วัน แล้วจึงไปชวนนักเลงสกาคนนั้นเล่นกันอีก ในเวลานักเลงสกานั้นแพ้จึงอมลูกสกานั้นเสีย โดยไม่รู้สึกว่าแช่ยาพิษ เมื่อสหายคนนั้นจะบอกให้ทราบ จึงกล่าวว่า บุรุษผู้อมลูกสกาอันย้อมด้วยยาพิษอันแรงกล้าย่อมไม่รู้สึกตน นี่แนะนักเลงโกงผู้มีใจชั่วช้า เธอจงกลืนลูกสกาเข้าไปเถิดก็จะเกิดพิษอันร้ายแรงขึ้นภายหลัง ดังนี้ ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงให้นักเลงสกานั้นกินยาสำรอกพิษ อันปรุงด้วยโอสถพิเศษให้สำรอกยาพิษออกมา และให้ดื่มเนยใส น้ำอ้อยสด น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดเป็นต้น ให้รอดพ้นจากอันตราย แล้วสั่งสอนไม่ให้ทำอุบายอย่างนั้อีกต่อไป
ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ ทรงแสดงเรื่องอดีตจบลงอย่างนี้แล้ว จึงทรงสั่งสอนภิกษุทั้งหลายนั้นอีกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การบริโภคปัจจัย ๔ โดยไม่ได้พิจารณานั้น ย่อมเป็นเหมือนกับบริโภคยาพิษดังนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดก ว่า นักเลงสกาผู้เป็นสหายของนักเลงสกาโกงผู้นั้น คือ เราตถาคตนี้แล ดังนี้
ในชาดกนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ได้ทรงยกนักเลงสกาโกงคนนั้นขึ้นแสดง ว่าได้แก่บุคคลใด เพราะเหตุว่านักเลงสกาโกงคนนั้นไม่มีตัวปรากฏอยู่ในครั้งนั้น โดยเหตุนี้ จึงไม่ควรตรัสไว้ในเวลาประชุมชาดก ส่วนในชาดกอื่น ๆ ก็เหมือนกัน ขอให้นักปราชญ์ทั้งหลายจงจำไว้เถิดว่า ผู้ใดที่กล่าวไว้ในท้องเรื่องชาดกใดถ้าไม่มีตัวปรากฏในครั้งพระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่แล้ว ย่อมไม่มีชื่อปรากฏในเวลาประชุมชาดก และในชาดกนี้เป็นเครื่องสั่งสอนบุคคลทั้งหลาย ให้มีสติปัญญา เวลาจะนุ่งห่ม เวลาจะบริโภคอาหาร เวลาจะเข้านอนและเวลาจะกินยาเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ควรมีสติพิจารณาให้รอบคอบก่อนจึงค่อยบริโภคภายหลัง อย่าบริโภคใช้สอยด้วยความประมาทเลินเล่อจะเกิดโทษในภายหลังถึงสิ่งทั้ง ๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม โภชนาหาร ที่อยู่ที่นอนและยาแก้โรคภัยไข้เจ็บ ถึงจะเป็นของเราเองก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อน อย่าด่วนนุ่งห่มกินอยู่ใช้สอย แต่วิธีพิจารณานั้นไม่ต้องให้พิจารณาเหมือนกับภิกษุสงฆ์ เป็นแต่ให้พิจารณาให้รู้ว่าจะมีอันตรายหรือไม่ เท่านั้นก็เป็นอันเพียงพอ ดังนี้
“บุรุษกลืนกินลูกสกา อันย้อมด้วยยาพิษอย่างแรงกล้า ย่อมไม่รู้สึก
ดูกรเจ้าคนร้าย เจ้านักเลงชั่วช้า จงกลืนกินเถิด จงกลืนกินเถิด
เมื่อท่านกลืนกินลูกสกาแล้ว ภายหลังยาพิษนี้จักแรงจัดขึ้น.”
ลิตตชาดกจบ.