พระบรมศาสดา ทรงปรารภการที่ภิกษุทั้งหลายบริโภคโภชนาหารของบุคคล ผู้คุ้นเคยกันทั้งหลายให้เป็นต้นเหตุ มีเรื่องปรากฏมาว่า ครั้งนั้นมีภิกษุเป็นอันมากบริโภคโภชนาหารของผู้ที่คุ้นเคยกันถวาย โดยไม่พิจารณา ด้วยถือว่าเป็นของมารดาบิดาถวายบ้าง เป็นของพี่น้องถวายบ้าง เมื่อทราบถึงสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ พระองค์จึงทรงติเตียนว่าไม่เป็นการสมควร แล้วทรงแสดงเรื่องอดีตต่อไปว่า ในกรุงพาราณสี เวลาฤดูทำนาอันเป็นเวลามีที่เลี้ยงสัตว์คับแคบ มหาเศรษฐีคนหนึ่งซึ่งอยู่ในกรุงพาราณสีนั้นได้ให้บ่าวไพร่ของตนนำฝูงโคออกไปเลี้ยงในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ในป่าแห่งนั้นมีราชสีห์ตัวหนึ่ง มีความรักใคร่กับนางเนื้อตัวหนึ่ง เวลากลางคืนได้ไปวนเวียนอยู่รอบคอกโคเสมอ จนกระทั่งฝูงโคนมมีน้ำนมน้อยลงไป ด้วยความกลัว เวลาเศรษฐีรู้เรื่องจึงให้นายโคบาลจับนางเนื้อตัวนั้นมา แล้วเอายาพิษไปชะโลมทาตัวนางเนื้อนั้นถึง ๓ วัน แล้วจึงปล่อยไป เมื่อราชสีห์ได้แลเห็นก็วิ่งไปเลียร่างกายของนางเนื้อนั้นด้วยความรัก แล้วถึงซึ่งความตายด้วยอำนาจพิษอันร้ายแรง พวกนายโคบาลก็นำเอาหนัง เล็บ เขี้ยวและน้ำมันของราชสีห์ตัวนั้นเข้าไปให้แก่มหาเศรษฐี ๆ ได้ติเตียนราชสีห์ว่า ตายเพราะความรัก แล้วได้กล่าวในที่ประชุมบ่าวไพร่บริวารด้วยประพันธ์คาถาว่า
น วิสฺสเส อวิสฺสตฺเถ วิสฺสตฺเถปิ น วิสฺสเส
วิสฺสาสา ภยมเนฺวติ สีหํว มิคมาตุกาติ
แปลว่า บุคคลอย่าไว้ใจบุคคลที่ยังไม่คุ้นเคยกัน ถึงบุคคลที่คุ้นเคยกันแล้วก็ไม่ควรวางใจ เพราะความคุ้นเคยกันอาจนำภัยอันตรายมาให้ เหมือนกับนางเนื้อนำยาพิษไปให้แก่ราชสีห์ตัวนั้น ดังนี้
ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงชี้โทษแห่งการไม่พิจารณา โดยถือว่าเป็นของที่บุคคลคุ้นเคยกันให้ ด้วยยกเรื่องในอดีตมาทรงแสดงอย่างนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า มหาเศรษฐีในครั้งนั้น คือเราตถาคตนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้เป็นเครื่องสอนให้บุคคลระมัดระวังหนักขึ้น ไม่ให้ไว้วางใจในเวลาบริโภค ข้าวน้ำ โภชนาหารให้ใช้ความวิจารณ์ให้เสมอไป อย่าไว้วางใจว่าเป็นของคนที่รักใคร่คุ้นเคยกัน เพราะเหตุว่า ถึงแม้ว่าผู้ให้นั้นจะไม่มีเจตนาทำร้ายก็ดี อาจมีผู้อื่นคิดทำร้ายก็ได้ เหมือนอย่างนางเนื้อกับราชสีห์นั้น เป็นนิทัศนอุทาหรณ์ ดังนี้
“บุคคลไม่ควรไว้วางใจในผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกัน แม้ผู้ที่คุ้นเคย
กันแล้วก็ไม่ควรไว้วางใจ ภัยย่อมมาจากผู้ที่คุ้นเคยกัน
เหมือนภัยของราชสีห์ เกิดจากแม่เนื้อฉะนั้น.”
วิสาสโภชนาชาดกจบ.