พระพุทธองค์ ได้ทรงปรารภสุนักขัตตภิกษุให้เป็นต้นเหตุ กล่าวคือสุนักขัตตภิกษุนั้นได้เคยเป็นผู้รับ ใช้สอยพระพุทธองค์ อยู่มาวันหนึ่งสุนักขัตตภิกษุได้ฟังธรรมกถาของโกฏิขัตติยปริพาชก ผู้เป็นนักบวชนอกศาสนาเกิดความชอบใจขึ้น แล้วมอบบาตรจีวรถวายคืนพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วเที่ยวประกาศว่าพระพุทธจ้าไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ เมื่อพระสารีบุตรได้สดับจึงไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสว่า สุนักขัตตภิกษุผู้กลับไปถือผิดนั้น ทั้งนี้เป็นด้วยอุปนิสัยที่จะต้องได้ไปเกิดในนรก ฯลฯ เพราะการปฏิบัติของอาชีวกเป็นการปฏิบัติที่ผิด แล้วทรงแสดงชาดกนี้ว่า ในอดีตกาลแต่พุทธกัลป์นี้ถอยหลังไปได้ ๙๑ กัลป์ เราตถาคตได้ทดลองดูข้อปฏิบัติของพวกอาชีวก ซึ่งเขาถือว่าเป็นพรหมจรรย์อันประเสริฐประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ คือ ประการที่ ๑ ไม่นุ่งผ้าห่มผ้า ประการที่ ๒ ไม่อาบน้ำชำระตัว ปล่อยให้ร่างกายหมักหมมอยู่ด้วยเหงื่อไคลเป็นนิจ ประการที่ ๓ อยู่ในป่าอันเงียบสงัดเป็นนิจ ไม่พบปะคนเลยเป็นอันขาด ประการที่ ๔ บริโภคแต่ขี้โคกับใบไม้เท่านั้น เมื่อเราทำอยู่นานก็ปรากฏเห็น ในเวลาตะวันขึ้นเราจึงเลิกเสีย แล้วหันมาปฏิบัติในทางที่ถูกต้องต่อไป ก่อนแต่เราจะเลิกนั้นได้มีความรู้สึกอันหนึ่งเกิดขึ้นว่า
โสตตฺโต โสสีโต คโต เอโก ภึสนเก วเน
นคฺโค น จคฺคิมาสีโน เอสนาปสุโต มุนีติ
แปลความว่า เราเร่าร้อนนักแล้ว ตัวของเราเปียกชุ่มนักแล้ว เราอยู่ในป่าที่น่ากลัวแต่ผู้เดียว เราเป็นคนเปลือยกายอยู่เป็นนิจ ถึงหนาวก็ไม่ได้ผิงไฟ ด้วยเข้าใจว่าความประพฤติอย่างนี้เป็นหนทางให้ได้คุณพิเศษ แต่ก็หาได้สมประสงค์ไม่ ดังนี้
ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ ทรงแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า อาชีวกในครั้งนั้น คือ เราตถาคตนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า การประพฤติพรหมจรรย์ของนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนานั้น ล้วนแต่เป็นความประพฤติเลวทรามต่ำช้า นำผู้ประพฤติให้ไปเกิดในจตุราบายทั้ง ๔ มีนรกเป็นต้น ไม่เป็นการประพฤติอันประเสริฐเหมือนอย่างในพระพุทธศาสนา ด้วยประการฉะนี้
“ เราเป็นคนเร่าร้อนมีตัวอันเปียกชุ่ม อยู่แต่ผู้เดียวในป่าที่
น่ากลัว เป็นคนเปลือยกาย ถึงแม้ความหนาวเบียดเบียน
ก็ไม่ผิงไฟ มุนีขวนขวายด้วยการแสวงหาอย่างประเสริฐ.”
โลมหังสชาดกจบ.