ตรวจสอบคนดีจริงไม่จริงได้ที่นี่

= ตรวจสอบคนดีจริงไม่จริงได้ที่นี่ =

คนดีพระพุทธเจ้าให้ชื่อว่า “สัตบุรุษ” ส่วนคนไม่ดีท่านให้ชื่อว่า “อสัตบุรุษ” สำหรับคนดีคนไม่ดีตามทัศนะของ  นักคิดอื่น ๆ เชื่อว่า ไม่เป็นความดีตามหลักสากลจริง ๆ เช่น คนผู้คิดสร้างกระแสไฟฟ้าให้คนได้ใช้ทั้งโลก คนผู้สร้างถนนหนทาง สร้างเครื่องยนต์อื่น ๆ มีเครื่องบิน รถยนต์ เป็นต้น ซึ่งคนทั้งโลกยอมรับเป็นลูกค้าของท่านเหล่านั้นแทบทุกคน คนเช่นนี้เราอาจจะคิดว่าเป็นคนดี แต่คนดีในลักษณะนี้ไม่ใช่เป็นสากล เพราะยังไม่รู้ไม่เข้าใจชีวิตตนจริง ๆ อยู่ดี (โปรดตรวจดูหลักฐานและเหตุผลให้ชัดเจนด้วย)

ในสุตตันตปิฎก ภาษาไทยฉบับหลวง เล่ม ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน ข้อ ๓๐๔  ฉบับของ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งที่ ๓ พุทธศักราช ๒๕๒๑ ในสูตรชื่อว่า “ปราภวสูตร”สูตรที่ กล่าวถึงพฤติกรรมที่ทำให้คนเสื่อมจากความเป็นมนุษย์หรือจากความเป็นสัตบุรุษ มีอยู่ ๑๒ ประการ

 = พฤติกรรมที่ทำให้คนเสื่อมจากความเป็นมนุษย์ = 

(๑) ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ ผู้รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม, ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ ผู้เกลียดชังธรรมเป็นผู้เสื่อม

(๒) คนผู้มีอสัตบุรุษ (คนไม่ดี) เป็นที่รักที่นับถือ ไม่กระทำสัตบุรุษ (คนดี) ให้เป็นที่รักที่นับถือ, มีความชอบใจในธรรม (คำสั่งสอน) ของอสัตบุรุษ ข้อนั้นเป็นทางปฏิบัติของคนเสื่อม  

(๓) คนใดชอบนอน ชอบคุยฟุ้ง ไม่มีความหมั่น เกียจคร้าน โกรธง่าย ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม

(๔) คนใดสามารถแต่ไม่เลี้ยงมารดาหรือบิดาผู้แก่เฒ่า ผู้ผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม

(๕) คนใดหลอกลวงสมณะพราหมณ์ หรือแม้ยาจกวณิพกอื่น ด้วยคำพูดมุสาวาท ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม

(๖) คนใดเป็นผู้มีทรัพย์มาก มีเงินทองของกินมาก และกินของอร่อยแต่ผู้เดียว (ไม่ทำทาน) ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม

(๗) คนใดเย่อหยิ่งจองหองเพราะชาติกำเนิด หยิ่งจองหองเพราะทรัพย์สมบัติ หยิ่งจองหองเพราะโคตร(อ้างบรรพบุรุษผู้มีอำนาจแต่ครั้งอดีต) ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม

(๘) คนใดเป็นนักเลงหญิง เป็นนักเลงสุรา และเป็นนักเลงการพนัน ผลาญทรัพย์ที่ตนหามาได้ ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม

(๙) คนผู้ไม่สันโดษ (ไม่พอใจ) ในภรรยา (สามี) ของตน ประทุษร้ายในภรรยา (สามี) ของคนอื่น เหมือนประทุษร้ายในหญิงแพศยา (หญิงขายบริการ) ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม

๑๐. ชายแก่ได้หญิงรุ่นสาวมาเป็นภรรยา ย่อมนอนไม่หลับ เพราะความหึงหวงหญิงรุ่นสาวนั้น ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม

๑๑. คนใดแต่งตั้งหญิงนักเลงหรือชายนักเลง ผู้ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เช่นนั้นไว้ในความเป็นใหญ่ ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม

๑๒. ก็บุคคลผู้เกิดในสกุลกษัตริย์ มีโภคทรัพย์น้อย มีความมักใหญ่ใฝ่สูง ปรารถนาราชสมบัติ ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม

สรุปความว่า สัตบุรุษหรือคนดี จะไม่ประพฤติปฏิบัติตนในความเสื่อม ๑๒ อย่างนี้แน่นอน เพราะมีความรู้ในเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว ส่วนอสัตบุรุษหรือคนไม่ดีย่อมประพฤติปฏิบัติตนถลำไปตามแนวทางแห่งความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลาย ๆ อย่าง ใน ๑๒ อย่างนั้นแน่นอน เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องเหล่านี้ ดังนั้น คุณค่าของความเป็นมนุษย์หรือความเป็นสัตบุรุษในชีวิตจึงถึงความเสื่อมเสียไป ชีวิตกลายเป็นอสัตบุรุษ คือ คนไม่ดีไป

= ความหมายสัตบุรุษอสัตบุรุษ =

สัตบุรุษ แปลว่า คนผู้มีคุณธรรมประจำชีวิตอยู่ ๗ อย่าง เรืยกว่าสัตบุรุษ ซึ่งเป็นคนดีจริง ๆ โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา เพศ วัย แต่อย่างใด ส่วนคำว่า อสัตบุรุษ คือ คนที่ตรงกันข้ามกับสัตบุรุษ ได้แก่ ไม่มีคุณธรรม ๗ อย่างในชีวิตของท่าน เพราะมีพฤติกรรมให้ตนเสื่อมจากความเป็นมนุษย์หรือความเป็นสัตบุรุษไปแล้ว เรียกว่า อสัตบุรุษ คือ คนไม่ดี และ คุณธรรมในชีวิตของสัตบุรุษ คือ คนดีจริง ๆ นั้น มีอยู่ ๗ ประการ

ธัมมัญญูสูตร ในสุตตันตปิฎกฉบับภาษาไทย เล่ม ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐกนิบาต ข้อ ๖๕) มีว่า

(๑) ธัมมัญญุตา ความรู้จักธรรม คือ ที่เป็นธรรมฝ่ายวิชาการ ได้แก่ นวังคสัตถุศาสตร์ คำสอนของพระศาสดา ประกอบด้วยองค์ ๙  มีสุตตะ เคยยะ เป็นต้น และรู้ธรรมฝ่ายปฏิบัติ คือ กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม 

(๒) อัตถัญญุตา ความรู้จักเนื้อความ คือ รู้ความหมายแห่งพุทธภาษิต หรือรู้จักประโยชน์ รู้จักโทษแห่งธรรมที่ นำมาปฏิบัติแต่ละกลุ่มธรรม  

(๓) อัตตัญญุตา ความรู้จักตน คือ รู้ว่าตนมีศรัทธา มีศีล มีสุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เพียงเท่านี้ ๆ ๆ เป็นต้น  

(๔) มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณ คือ รู้ประมาณในการรับ การบริโภค การใช้จ่ายปัจจัย ๔  เป็นต้น

(๕) กาลัญญุตา ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเรียน กาลสอน กาลสอบถาม กาลทำความเพียร การหลีกเร้น เป็นต้น  

(๖) ปริสัญญุตา ความรู้จักบริษัท คือ รู้ว่าชุมชนนี้เป็นกษัตริย์ เป็นคฤหบดี เป็นสมณะ เป็นต้น เราควรวางตัวให้เหมาะสมกับฐานะของชุมชนนั้น ๆ ในเมื่อมีกิจเข้าไปเกี่ยวข้อง

(๗) ปุคคลัญญุตา ความรู้จักบุคคล คือ รู้ว่าบางคนต้องการเห็นพระอริยะ บางคนไม่ต้องการเห็น เป็นต้น

= สื่งที่ไกลกันแสนไกล ๔ อย่าง =

สุวิทูรสูตร ในสุตตันตปิฎกฉบับภาษาไทย เล่ม ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อ ๔๗ มีอยู่ว่า สิ่งที่ไกลกันแสนไกลนั้น มีอยู่ ๔ อย่าง คือ

(๑) ฟ้ากับแผ่นดิน เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกล

(๒) ฝั่งนี้และฝั่งโน้นแห่งมหาสมุทร เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกล

(๓) พระอาทิตย์ยามขึ้นและยามอัสดงคต (ตะวันออกกับตะวันตก) เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกล

(๔) ธรรม (คำสั่งสอน) ของสัตบุรุษหรือคนดี และธรรม (คำสั่งสอน) ของอสัตบุรุษหรือคนไม่ดี เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกล

สรุปความว่า ทัศนะหรือความรู้ความเห็นของสัตบุรุษกับอสัตบุรุษ ไกลกันยิ่งกว่าฟ้ากับดิน เพราะฟ้ากับดินยังพอมองเห็นได้ แต่คำสอนของสัตบุรุษกับคำสอนของอสัตบุรุษไกลกันยิ่งกว่านั้น คือ ตรงกันข้ามทุก ๆ อย่างไปเลย  เหมือนหน้ามือกับหลังมือ ฉะนั้น)

= ที่มาหรือหลักฐานทัศนะของสัตบุรุษและอสัตบุรุษ =

อาณิสูตร ในสุตตันตปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง เล่ม ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ข้อ ๖๗๒ ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งที่ ๓ พุทธศักราช ๒๕๒๑ ความว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า…เมื่อใคร ๆ (สัตบุรุษ) เขานำเอาพระสูตรที่ตถาคตกล่าวไว้แล้ว ซึ่งเป็นสูตรที่เป็นคำลึกเป็นคำที่มีความหมายลึก เป็นโลกุตตรธรรม เป็นคำที่ประกอบไปด้วยความว่างเปล่า (คมฺภีรา คมฺภีรตฺถา

โลกุตฺตรา สุญฺญตปฏิสญฺญุตฺตา) ผู้ได้ยินได้ฟัง (อสัตบุรุษ) จักไม่ปรารถนาฟัง จักไม่เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อรู้ และจักไม่สำคัญธรรมเหล่านั้นว่า “ควรเล่าเรียนควรศึกษา”

แต่ว่าเมื่อใคร ๆ (อสัตบุรุษ) กล่าวพระสูตรอันนักปราชญ์ (นักปราชญ์ระบบ สุตามยปัญญา จินตามยปัญญา ไม่ใช่นักปราชญ์ระบบ ภาวนามยปัญญา) รจนาไว้ ร้อยกรองไว้ ที่มีอักษรอันวิจิตร มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นของภายนอก (กล่าวสอนธรรมที่เป็นธรรมนอกกายนอกใจคน) เป็นสาวกภาษิตอยู่ เขา (อสัตบุรุษ) จักปรารถนาฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ และจักสำคัญธรรม (ที่อสัตบุรุษสั่งสอน) เหล่านั้นว่า “ควรเล่าเรียนควรศึกษา” 

ต่อ ๆ ไปพระสูตรทั้งหลายที่ตถาคตกล่าวไว้แล้วเหล่านั้น ย่อมจักอันตรธาน (เหือดหายไป) เนื่องจากว่า อาณิธรรม คือ ธรรมที่เป็นลิ่มถูกเสริมหรือแทรกแทรง ตอกย้ำ ทับถม ธรรมส่วนที่เป็นสัจจะไปหมด เพราะเหตุนั้น ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอพึงศึกษาให้ดี (ศึกษาคำสอนของสัตบุรุษ อสัตบุรุษให้รู้อย่างแจ่มแจ้ง) แล้วนำเอาธรรมส่วนที่พระตถาตและสัตบุรุษสั่งสอนไว้ ซึ่งเป็นธรรมที่ทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองมาประพฤติปฏิบัติให้ได้…

= ทัศนะเกี่ยวกับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า =

ในสุตตันตปิฎก เล่ม ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ข้อ ๑๒๕ ความว่า

…ภิกษุนั้น ย่อมประกอบด้วยสีลขันธ์ อินทรีย์สังวร สติสัมปชัญญะ สันโดษ อันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด (สถานที่ที่สอนให้ภิกษุปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานภาวนา) คือ

(๑) อรัญญัง ป่า  สัตบุรุษเห็นว่า อายตนะภายใน ๖ และภายนอก ๖ กระทบหรือผัสสะกันเรียกว่า ป่าปรากฏ 

– ส่วนอสัตบุรุษเห็นว่า ป่าไม้ที่มีต้นไม้มาก ๆ เรียกว่า ป่า  

(๒) รุกขมูลัง โคนไม้, สัตบุรุษเห็นว่า อกุศลมูล ๓ กุศลมูล ๓ เกิดปรากฏขึ้นในชีวิตเรียกว่า โคนไม้ปรากฏ

– ส่วนอสัตบุรุษเห็นว่า โคนของต้นไม้ใหญ่ ๆ เช่น โคนไม้ยาง โคนไม้ประดู่ เป็นต้น เรียกว่า โคนไม้

(๓) ปัพพตัง ภูเขา, สัตบุรุษเห็นว่า วัตถุต่าง ๆ ที่เป็นรูปร่างมีตัวตนปรากฏ เช่น ร่างกายตน ร่างกายคนหรือสัตว์อื่น ๆ เป็นต้น เรียกว่า ภูเขา

– ส่วนอสัตบุรุษเห็นว่า หินหรือดินผนึกกันเป็นก้อนใหญ่ ๆ สูง ๆ เช่น ภูเขาหิมาลัย เป็นต้น เรียกว่า ภูเขา

(๔) คิริคุหัง ถ้ำ, สัตบุรุษเห็นว่า ความคิดต่าง ๆ เกิดในถ้ำที่หัวใจในทรวงอกด้านซ้าย เรียกว่า ถ้ำ

– ส่วนอสัตบุรุษเห็นว่า สิ่งที่เป็นโพรงหรือเป็นรูใหญ่ ๆ ในภูเขาดินหรือภูเขาหิน เป็นต้น เรียกว่า ถ้ำ

(๕) สุสานัง ป่าช้า, สัตบุรุษเห็นว่า กระเพาะในช่องท้อง (ตัณหา พาให้เกิดความหิวเห็นแก่ปากแก่ท้อง) ซึ่งเป็นที่ฝังศพของสัตว์นานาชนิดที่กินได้ มีศพปลา ศพไก่ ศพวัว ศพหมู ศพกุ้ง ศพปู ศพหอย เป็นต้น เรียกว่า ป่าช้า

– ส่วนอสัตบุรุษเห็นว่า ป่าที่กลุ่มบุคคลกันไว้เผาศพหรือฝังศพคนตาย หรือเมรุเผาศพ เรียกว่า ป่าช้า

(๖) วะนะปัตถัง ป่าชัฏ, สัตบุรุษเห็นว่า สัญญาวิปัลลาส ความจำเพี้ยน ทิฏฐิวิปัลลาส ทัศนะหรือความเห็นเพี้ยน จิตตวิปัลลาส ความนึกคิดเพี้ยน เรียกว่า ป่าชัฏ

– ส่วนอสัตบุรุษเห็นว่า ป่าละเมาะที่เกิดมีเป็นหย่อม ๆ ที่ริมห้วย หนอง คลอง บึง ต่าง ๆ เป็นต้น เรียกว่า ป่าชัฏ

(๗) ปะลาละปุญชัง ลอมฟาง, สัตบุรุษเห็นว่า โลกธรรม ๘ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขอิงอามิส, เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ทุกข์อิงอามิส ที่ชีวิตประสบ เรียกว่า ลอมฟาง

– ส่วนอสัตบุรุษเห็นว่า กองฟางที่ชาวนาทำนาเก็บเกี่ยว และนวดเอาเมล็ดข้าวไปแล้ว ก็รวบรวมฟางข้าวเก็บไว้เป็นกอง ๆ หรือทำห้างเหมือนกับห้างนาเก็บไว้ เรียกว่า ลอมฟาง   

(๘) อะคารัง เรือนว่าง, สัตบุรุษเห็นว่า ร่างกายตนหรือร่างกายคนอื่นสัตว์อื่น ที่ยังมีชีวิตเคลื่อนไหวไปมาได้ เรียกว่า เรือนว่าง ที่ว่าเป็นเรือนว่าง คือ ไม่มีเจ้าของเป็นกรรมสิทธิ์ดูแลตนเองได้ (เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

– ส่วนอสัตบุรุษเห็นว่า อาคารบ้านเรือนที่ไม่มีเจ้าของอยู่ หรือบ้านร้าง วัดร้าง เป็นต้น เรียกว่า เรือนว่าง

สรุปความว่า ทัศนะหรือความเห็นในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับสถานที่อันสงัด สำหรับเป็นที่ปฏิบัติ วิปัสสนากัมมัฏฐานภาวนา ๘ แห่ง ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น สัตบุรุษหรือคนดี และอสัตบุรุษหรือคนไม่ดี ย่อมมีทัศนะหรือความเห็นไกลกันแสนไกล คือ ไกลยิ่งกว่าฟ้ากับดิน ชนิดที่ตรงกันข้ามเหมือนหน้ามือกับหลังมือ ฉะนั้น)

ที่สงัดเพื่อเจริญสมาธิภาวนา ทัศนะหรือความเห็นของสัตบุรุษ ทัศนะหรือความเห็นของ อสัตบุรุษ
๑. อรญฺญํ       ป่า อายตนะภายในและภายนอกกระทบกัน ป่าไม้ที่มีต้นไม้มาก ๆ ในพื้นดิน
๒. รุกฺขมูลํ    โคนไม้ อกุศลมูล ๓ กุศลมูล ๓ ที่เกิดในใจ โคนของต้นไม้ยาง ไม้ประดู่ เป็นต้น
๓. ปพฺพตํ       ภูเขา ร่างกายของตนหรือของคนสัตว์อื่น ๆ เคลื่อนไหวไปมา ภูเขาดิน ภูเขาหิน เช่น ภูเขาหิมาลัย เป็นต้น
๔. คิริคุหํ        ถ้ำ ความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ที่เกิดในใจของตน ถ้ำหรือโพรงที่มีในภูเขาหิน
๕. สุสานํ        ป่าช้า ตัณหาที่เห็นแก่กินเกิดในกระเพาะ ป่าเป็นที่เผาหรือฝังศพคนตาย หรือเมรุเผาศพ
๖. วนปตฺถํ     ป่าชัฏ วิปัลลาสหรือความเพี้ยน ๓ อย่าง ป่าละเมาะที่มีเป็นหย่อม ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ
๗. ปลาลปุญฺชํ

     ลอมฟาง

โลกธรรมทั้งฝ่ายพอใจและไม่พอใจ ฟางข้าวที่ชาวนาเก็บเอาเมล็ดแล้ว
๘. อคารํ     เรือนว่าง ร่างกายตนคนสัตว์อื่น ๆ ที่ยังมีชีวิต เรือนร้าง บ้านร้าง วัดร้าง เป็นต้น

ธัมมิกะ

thammiga@hotmail.com 

๒  กันยายน  ๒๕๕๑