๑๒๒. ทุมเมธชาดก (คนโง่ได้ยศไม่เป็นประโยชน์)

(๑๒๒)

ทุมเมธชาดก (คนโง่ได้ยศไม่เป็นประโยชน์)

          พระบรมศาสดาทรงปรารภพระเทวทัตให้เป็นต้นเหตุ กล่าวคือ วันหนึ่งภิกษุทั้งหลาย ได้กล่าวถึงโทษของพระเทวทัตว่า พระเทวทัตไม่เลื่อมใสพระพุทธองค์ กลับมีใจเคียดแค้น ในเวลาที่ได้ยินคนทั้งหลายสรรเสริญพระคุณแห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ยิ่งมีใจริษยามากขึ้น ดังนี้ พระผู้มีพระภาคได้สดับจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวทัตได้เคยเป็นอย่างนี้มาแล้วแต่ในปางก่อน แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตเป็นนิทัศนอุทาหรณ์ต่อไป

          ในอดีต ครั้งพระเจ้ามคธราชเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงราชคฤห์ ท้าวเธอมีช้างพระที่นั่งอันสมบูรณ์ด้วยลักษณะอยู่เชือกหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งเป็นวันจะเล่นมหรสพ พระมหากษัตริย์โปรดให้ตกแต่งพระนคร เสร็จแล้วทรงพระเศวตกุญชรเลียบพระนคร ในเวลานั้น คนทั้งหลายได้เห็นพระเศวตกุญชรอันงามเลิศ ก็เกิดโสมนัสปรีดาสรรเสริญพญาช้างด้วยประการต่างๆ เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงสดับก็ทรงริษยาขึ้นทันที ทรงพระดำริว่า เราจะให้ช้างตัวนี้ตกจากยอดเขา ถึงซึ่งความตายในวันนี้ ให้จงได้ ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้วจึงตรัสถามควาญช้างว่า ช้างตัวนี้เจ้าได้ฝึกหัดดีแล้วหรือเมื่อควาญช้างกราบทูลว่า ได้ฝึกหัดดีแล้ว จึงถามว่าเราจะให้ช้างตัวนี้ขึ้นไปบนยอดเขาได้หรือไม่ จึงกราบทูลว่าได้ แล้วท้าวเธอจึงเสด็จลงจากคอพญาช้าง รับสั่งให้ควาญช้างขับพญาช้างขึ้นไปสู่ยอดภูเขา ส่วนพระองค์กับหมู่อำมาตย์ราชบริวารก็ได้เสด็จตามขึ้นไปด้วย เมื่อเสด็จขึ้นไปถึงยอดเขาแล้วจึงรับสั่งให้ควาญช้างหันหน้าพญาช้างไปตรงเหวอันลึก แล้วตรัสสั่งว่า จงให้ช้างยืนขึ้นด้วยเท้าทั้ง ๓ ควาญช้างก็ทำตามพระราชโองการ ช้างนั้นก็ยืนขึ้นด้วยเท้าทั้ง ๓ แล้วตรัสสั่งอีกว่า จงให้ช้างยืนขึ้นด้วยเท้าเบื้องหน้าทั้ง ๒ ช้างก็กระทำตาม แล้วรับสั่งให้ยืนขึ้นด้วยเท้าหลังทั้ง ๒ และให้ยืนด้วยเท้าข้างเดียว ช้างก็กระทำตามทุกประการ เมื่อพระมหากษัตริย์ผู้เป็นอันธพาลไม่เห็นพญาคชสารตกลงในเหวดังประสงค์ จึงตรัสสั่งควาญอีกว่า จงให้ช้างยืนอยู่ในอากาศ ในเวลานั้น ควาญช้างก็เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์มีพระราชประสงค์จะให้พญาช้างตกเหวตาย จึงก้มหน้ากระซิบที่หูว่า ดูก่อนพญาช้าง พระมหากษัตริย์พระองค์นี้มีพระประสงค์จะให้ท่านตกเหวตาย ท่านไม่ควรจะอยู่เป็นพาหนะของเขา ถ้าท่านสามารถเหาะไปได้ก็จงพาเราเหาะไปสู่กรุงพาราณสีเถิด เมื่อพญาช้างได้ฟัง ก็ขึ้นไปยืนอยู่บนอากาศให้เห็นเป็นอัศจรรย์ ขณะนั้น ควาญช้างจึงกราบทูลพระเจ้ามคธว่า พญาช้างนี้ประกอบด้วยบุญฤทธิ์ สมควรเป็นราชพาหนะของพระมหากษัตริย์ อันประกอบด้วยบุญญา เพราะเมื่อพระองค์ได้พญาช้างเห็นปานนี้แล้ว ยังไม่รู้จักคุณของพญาช้าง ไม่เห็นว่าพญาช้างมีคุณสมบัติอย่างไร เมื่อควาญช้างกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงกล่าวเป็นพระคาถาต่อไปว่า

ยสํ   ลทฺธาน   ทุมฺเมโธ     อนตฺถํ   จรติ   อตฺตโน

อตฺตโน   จ   ปเรสญฺจ     หึสาย   ปฏิปชฺชติ

          แปลว่า   คนไม่มีปัญญาครั้นได้ยศศักดิ์แล้ว  ย่อม ทำความฉิบหายให้แก่ตน ย่อมเบียดเบียนผู้อื่น ดังนี้ เมื่อควาญช้างกล่าวอย่างนี้แล้ว พญาช้างก็พาเหาะไปสู่กรุงพาราณสี ครั้นถึงจึงยืนอยู่บนอากาศตรงหน้าพระราชวัง ครั้งนั้นชาวพระนครทั้งสิ้นได้แตกตื่นมาดูพญาช้าง ว่าพญาช้างนี้มาด้วยบุญญาธิการแห่งพระมหากษัตริย์ของพวกเรา ฝ่ายพระเจ้าพาราณสีก็ได้เสด็จออกยังหน้าพระลาน มีพระราชโองการตรัสว่า ถ้าท่านมาด้วยความหวังดี เพื่อจะเป็นพาหนะของเราก็จงลงมาที่ภาคพื้นเถิด พอพญาช้างได้สดับ ก็ลงมาประดิษฐานที่หน้าพระลานดังพระราชโองการ ครั้นพระเจ้าพาราณสีดำรัสถามถึงเหตุการณ์ที่มีมา นายหัตถาจารย์จึงลงจากพญาช้างกราบถวายบังคม แล้วทูลความให้ทรงทราบตั้งแต่ต้นจนอวสาน จอมภูมิบาลพาราณสีก็ทรงโสมนัสหาที่เปรียบมิได้ โปรดให้ตกแต่งพระนครรับพญาเศวตกุญชรเข้าไปไว้ในมหามงคลสถาน แล้วทรงแบ่งราชสมบัติออกเป็น ๓ ส่วน พระราชทานแก่พระคชาธารส่วน ๑ พระราชทานแก่นายหัตถาจารย์ส่วน ๑ สำหรับพระองค์ส่วน ๑ จำเดิมแต่พญาเศวตกุญชรชาติคชาธารไปประดิษฐานอยู่ในกรุงพาราณสีแล้ว ราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้น ประหนึ่งว่าอยู่เงื้อมพระหัตถ์ของพระเจ้าพาราณสี ๆ ก็ได้เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ล้ำเลิศในชมพูทวีป พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบุญราศี มีทาน เป็นต้น อยู่จนตลอดพระชนมชีพของพระองค์

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาโปรดประทานเทศนาเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้ามคธในกรุงราชคฤห์คราวนั้น ได้เกิดมาเป็นพระเทวทัตในบัดนี้ พระเจ้ากรุงพาราณสี ได้เกิดมาเป็นพระสารีบุตร ควาญช้าง ได้เกิดมาเป็นพระอานน์ ส่วนพญาช้างมงคลเศวต ได้เกิดมาเป็นเราตถาคตนี้แล ดังนี้

          ในชาดกนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงเข้าใจเถิดว่า เมื่อผู้ใดมีนิสัยริษยา คือเห็นผู้อื่นได้ดีมีสุข หรือมีผู้สรรเสริญแล้วไม่ยินดีด้วยมีแต่คิดโกรธแค้น ผู้นั้นเป็นคนอันธพาล ไม่มีปัญญา ไม่ควรที่ผู้ใดจะคบหาสมาคมเพราะผู้นั้นจะทำความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ผู้ที่คบหาสมาคม เหมือนอย่างพระเจ้ากรุงราชคฤห์ที่ทรงโกรธแค้นให้แก่พญาช้างของพระองค์ ในเวลาได้ทรงสดับคนทั้งหลายสรรเสริญพญาช้าง แล้วตั้งพระหฤทัยให้พญาช้างตกเหวตาย ดังเรื่องที่บรรยายมาแล้วนั้น ด้วยประการฉะนี้

ผู้มีปัญญาทรามได้ยศแล้ว ย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

แก่ตน ย่อมปฏิบัติเพื่อความเบียดเบียนตนและคนอื่น .”

ทุมเมธชาดกจบ.