ทุกคนในโลกไม่มีสิทธิ์ดูแลตัวเองได้ (มีหลักฐานและเหตุผลพิสูจน์)
คนทั้งโลกที่เกิดขึ้นมาและยังมีชีวิตอยู่นี้ (ชีวิตในอดีตก็ดี ชีวิตในปัจจุบันก็ดี ชีวิตใน
อนาคตก็ดี) ไม่มีสิทธิ์ที่จะดูแลรักษาตัวเองได้ หรือว่าไม่มีใครจะกำหนดชะตาชีวิตตน
ของตนได้ (โปรดอ่าน ฟัง คิดไปก่อนอย่าเพิ่งออกความเห็น) แต่ทุกคนมีสิทธิ์ทำกรรม
ได้ทั้ง ๔ ระบบ คือ กุศลกรรม ๑ อกุศลกรรม ๑ อนันตริยกรรม ๑ และอัพยากตกรรม ๑
ในสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๙ ขุททกนิกายชาดก ภาค ๑ ข้อ ๑๔๒๐ ภาษาไทยฉบับหลวง
ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งที่ ๓ พุทธศักราช ๒๕๒๑ มีอยู่ว่า
“ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะจาริง…” แปลว่า ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม หมายความว่า คนศักสิทธิ์ สุนัขศักดิ์สิทธิ์ เครื่องรางของขลังที่ศักดิ์สิทธิ์ เทพาอารักษ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ศักสิทธิ์ดิ์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธ์อื่น ๆ ที่มีในโลก ก็ไม่สามารถดูแลรักษาใคร ๆ ได้ นอกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ ธรรมที่ตนประพฤติปฏิบัติแล้วเท่านั้นจะดูแลรักษาให้เป็นไปตามกรรมนั้น ๆ ได้ (นี้คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันแท้จริง)
= ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม =
คำว่า “ธรรม” เป็นชื่อของสิ่งทั้งปวงในโลกที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามเหตุและปัจจัย บ้างก็มีชีวิต บ้างก็ไม่มีชีวิต ที่มีชีวิต เช่น คน สัตว์ เป็นต้น เรียกว่าธรรมทั้งสิ้น หรือเรียกว่าธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตก็ได้ เพราะมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามเหตุและปัจจัย
คำว่า “กรรม” เป็นกิริยาอาการของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนความประพฤติหรือพฤติกรรม ก็มีความหมายเช่น เดียวกับคำว่า “กรรม” ซึ่งแปลว่า การกระทำ พฤติกรรม ความประพฤติ จรรยาบรรณ จริยา มรรยาท ในทางปฏิบัติล้วนมีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน
= คนมีสิทธิ์ประพฤติธรรมอยู่ ๔ ระบบ = (ทำได้ทุกเชื้อชาติศาสนา เพราะชีวิตจะเคลื่อนไหวไปเอง ในระหว่างดำเนินชีวิตประจำวันไปตามปรกติ)
๑. กุศลธรรมหรือกุศลกรรม คือ ประพฤติกุศลธรรมหรือความดี ๑๐ ประการ (ดีทางกาย ๓ ดีทางวาจา ๔ ดีทางใจ ๓) ผู้ประพฤติกุศลธรรมหรือความดีทั้ง ๑๐ ประการแล้ว ความดีนี้ก็ย่อมตามรักษาไปทุกหนทุกแห่ง คือ รักษาจิตใจในชีวิตคนนี้ให้เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพระพรหม และไม่ให้จิตใจตกไปในอำนาจฝ่ายต่ำ คือ สัตว์นรก เปรต เดียรัจฉาน อสุรกาย อมนุษย์ หรือคนมารได้ และเมื่อนาน ๆ ไปก็จะประสบความเจริญ ๗ อย่าง คือ (๑) อายุวัฑฒโก อายุเจริญ (๒) ธนวัฑฒโก ทรัพย์สินสมบัติเจริญ (๓) สิริวัฑฒโก ศิริหรือบุคคลิกลักษณะเจริญ (๔) ยสวัฑฒโก ยศฐาบรรดาศักดิ์เจริญ (๕) พลวัฑฒโก กำลังเจริญ (๖) วัณณวัฑฒโก ผิวพรรณเจริญ (๗) สุขวัฑฒโก ความสุขสบายเจริญ (โปรดดูหนังสือนวโกวาท หมวด ๑๐)
๒. อกุศลธรรมหรืออกุศลกรรม คือ ประพฤติอกุศลธรรมหรือความชั่ว ๑๐ ประการ (ชั่วทางกาย ๓ ชั่วทางวาจา ๔ ชั่วทางใจ ๓) ผู้ประพฤติอกุศลธรรมหรือความชั่วทั้ง ๑๐ ประการแล้ว ความชั่วนี้ก็ติดตามดูแลรักษาไปทุกหน ทุกแห่ง คือ ดูแลรักษาจิตใจในชีวิตคนนี้ให้เป็นสัตว์นรก เปรต เดียรัจฉาน อสุรกาย อมนุษย์ มาร และไม่ให้จิตใจในชีวิตเจริญรุ่งเรืองเป็นจิตใจมนุษย์ เทวดา พรหม พระอริยบุคคลได้ และเมื่อทำอกุศลกรรมหรือความชั่ว นาน ๆ ไปพอสมควรก็จะประสบกับภัยพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๐ ภัย คือ (๑) ราชภัย (๒) โจรภัย (๓) อัคคีภัย (๔) วาตภัย (๕) อุทกภัย (๖) วิวาทภัย (๗) โรคภัย (๘) อุปัตติภัย (๙) ทุพภิกขภัย (๑๐) วินาศภัย
๓. อนันตริยกรรม คือ ประพฤติอนันตริยกรรมที่เป็นกรรมชั่วที่สุด ๕ ประการ (ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำโลหิตุปบาทในอวัยวะของพระอรหันต์ และทำสังฆเภท) คนผู้ทำอนันตริยกรรม (ปัจจุบันคนทำสังฆเภทได้มาก) อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๕ อย่าง เมื่อทำบ่อย ๆ และนาน ๆ ไปพอสมควรก็จักถูกแผ่นดินสูบ คือ เสียชีวิตปัจจุบัน (ปฐวิง ปะวิสิสสะติ) และแผ่นดินสูบได้หลายลักษณะ เช่น อุปัตติภัยทางถนน ทางน้ำ ทางอากาศ ถูกทำร้าย ทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) ในรูปแบบต่าง ๆ มีผูกคอตาย ดื่มยาพิษตาย เป็นต้น
๔. อัพยากตธรรมหรืออัพยากตกรรม คือ ประพฤติอัพยากตธรรม ได้แก่ ความไม่ดีและไม่ชั่ว ๔ อย่าง (วิปัสสนากัมมัฏฐานสายตรง ที่เป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง ๆ) ผู้ประพฤติอัพยากตธรรม คือ วิปัสสนากัมมัฏฐานสายตรงเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง ๆ แล้ว ความไม่ดีไม่ชั่ว (ทิฏฐิดำรงอยู่กลาง ๆ ไม่ยินดียินร้าย) ก็ติดตามดูแลรักษาไปทุกหนทุกแห่ง คือ ดูแลรักษาจิตใจในชีวิต (โลกุตตรจิต ๘ คือ มรรค ๔ ผล ๔) คนนี้ไม่ให้ตกต่ำไปสู่ความเป็นสัตว์นรก เปรต เป็นต้น และให้จิตใจดำรงอยู่ใน “โลกุตตรธรรม” คือ ความเป็นพระอริยบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ใน ๔ เหล่า คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์
= วิธีการทำให้ตนรู้แจ้งและเลือกประพฤติธรรมได้จริง =
คนผู้จะรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมหรือกรรมทั้ง ๔ อย่าง แล้วเลือกคัดจัดสรรประพฤติธรรมส่วนที่ดีมีประโยชน์ โดยงดเว้นไม่ประพฤติธรรมส่วนที่ชั่วและมีโทษานุโทษต่าง ๆ ได้นั้น ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ เช่นเดียวกับคนคิดจะเป็นนักกีฬาที่เชี่ยวชาญนานาชนิด มีนักมวย เป็นต้น หรือเป็นนักร้อง นักรำ เป็นต้น ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นได้ง่าย ๆ จะต้องอาศัยมีใจรักจริง ๆ ก่อน จากนั้นก็ไปสมัครศึกษาปฏิบัติอยู่ในค่ายนั้น ๆ นานพอสมควรและหมั่นฝึกฝนอบรมตนตามที่ครูฝึกเขาฝึกสอน
เหมือนกัน การที่คนคิดจะให้ตนรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมหรือกรรมทั้ง ๔ อย่างนั้นได้ และแล้วก็เลือกประพฤติปฏิบัติเฉพาะธรรมส่วนที่ดีมีประโยชน์ (กุศลธรรม ๑๐ อัพยากตธรรม ๔) และงดเว้นไม่ประพฤติปฏิบัติตามธรรมส่วนที่ไม่ดี (อกุศลธรรม ๑๐ อนันตริยกรรม ๕) และมีโทษานุโทษมากมายได้นั้น ก็ต้องมีใจรักที่จะรู้ก่อนจากนั้นก็เอาตนไปสมัครเป็น “อันเตวาสิก) เป็นศิษย์อยู่ในสำนักของสัตบุรุษ ผู้มีคุณธรรม ๗ อย่าง (ธัมมัญญุตา อัตถัญญุตา อัตตัญญุตา มัตตัญญุตา กาลัญญุตา ปริสัญญุตา และปุคคลัญญุตา) โดยสัตบุรุษจะฝึกฝนอบรมสัมมาทิฏฐิให้แก่ศิษย์ได้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรม ๔ อย่างและสามารถประพฤติปฏิบัติในธรรมส่วนที่ดีและงดเว้นในธรรมส่วนที่ไม่ดีได้ โดย ๓ วิธี คือ
๑. ทัสสเนน ปหาตัพพา ธัมมา. อกุศลธรรมอนันตริยกรรมบางอย่าง บุคคลจะละได้ด้วย “สัมมาทัศนะ” คือ ให้อันเตวาสิกหรือศิษยานุศิษย์เข้าไปถามสนทนาธรรมกับอาจารย์บ่อย ๆ ก็ย่อมเป็นสัมมาทัศนะได้
๒. ภาวนาย ปหาตัพพา ธัมมา. อกุศลธรรมอนันตริยกรรมบางอย่าง บุคคลจะละได้ด้วย “วิปัสสนาภาวนาสัมมาปฏิบัติ” คือ บางกรณีอาจารย์สัตบุรุษก็ให้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน จึงจะละอกุศลกรรมที่เป็น “อาสวะ”ได้ คนผู้เป็นศิษย์ก็ปฏิบัติตามจึงจะรู้แจ้งเห็นจริงและละอกุศลธรรมอนันตริยกรรมบางอย่างได้
๓. เนวทัสสเนน น ภาวนาย ปหาตัพพา ธัมมา. อกุศลกรรมอนันตริยกรรมบางอย่าง บุคคลจะละได้ด้วยสัมมาทัศนะก็ไม่ใช่ ละได้ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนาสัมมาปฏิบัติก็ไม่ใช่ แต่จะละได้ด้วยการแสดงกาย วาจา ใจ ตามอารมณ์จริงของตน และต้องแสดงออกในที่เฉพาะหน้าของสัตบุรุษเท่านั้น (สัตบุรุษจะได้แนะนำกรรมที่แสดงออกให้เจ้าตัวรู้)
ธัมมิกะ
watnongriewnang@gmail.com
๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๑