๑๐๔. มิตตวินทุกชาดก (โทษผู้ลุอำนาจความปรารถนา)

           พระบรมศาสดาทรงปรารภภิกษุผู้ว่ายากรูปหนึ่งให้เป็นต้นเหตุ ก็แลเรื่องภิกษุผู้ว่ายากในชาดกนี้ เหมือนกันกับมิตตวินทุกชาดก ที่ยกขึ้นแสดงมาแล้วข้างต้นนั้น ชาดกนี้มีมาแต่ครั้งศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯ มีเนื้อความว่าในเวลานั้นสัตว์นรกผู้หนึ่งทูนจักรกรดไว้บนศีรษะ ได้ถามอุปัตติเทพยดาว่าข้าพเจ้าได้ทำกรรมหยาบช้าประการใดจึงได้มาทนทุกขเวทนาอยู่อย่างนี้ อุปัตติเทพยดาจึงชี้แจงว่าท่านได้ทำกรรมอันหยาบช้าอย่างนี้ ๆ ไว้ จึงได้รับทุกขเวทนาอยู่อย่างนี้ แล้วก็กล่าวต่อไปเป็นคาถาว่า

จตุพฺภิ   อฏฺฐฌคมา          อฏฺฐาภิปิ   จ   โสฬส

โสฬสาภิ   จ   พตฺตึส        อตฺริฉํ   จกฺกมาสโท

อิจฺฉาหตสฺส   โปสสฺส          จกฺกํ   ภมติ   มตฺถเกติ

          แปลว่า ผู้มีความปรารถนาเกินไป เป็นต้นว่ามี ๔ แล้วต้องการ ๘ มี ๘ แล้วต้องการ ๑๖ มี ๑๖ แล้วต้องการ ๓๒ ย่อมต้องกงจักรเบียดเบียนอยู่อย่างนี้ ธรรมดากงจักรย่อมพัดผันอยู่บนขม่อมของผู้ลุอำนาจแก่ความปรารถนา ดังนี้ เมื่อเทพยดากล่าวดังนี้แล้ว ก็กลับไปสู่เทวโลก ส่วนสัตว์นรกนั้นครั้นสิ้นโทษแล้วก็ไปตามยถากรรมของตน

          สมเด็จพระทศพลทรงแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว ก็ทรงประชุมชาดกว่า สัตว์นรกในครั้งนั้น คือภิกษุผู้ว่ายากสอนยากรูปนี้ ส่วนอุปัตติเทพยดา คือเราตถาคตนี้แล ดังนี้

          ในชาดกนี้เป็นแบบอย่างอันดีสำหรับสอนคนหัวดื้อ ให้เป็นคนว่าง่ายสอนง่ายไม่ถือดีด้วยทิฏฐิมานะของตน เพราะเหตุว่า คนที่ว่ายากสอนยากต้องทนทุกข์ลำบากเหมือนสัตว์นรก ที่ถูกจักรกรดพัดผันศีรษะดังที่แสดงมาแล้วนี้ ส่วนบุคคลผู้ว่าง่ายสอนง่ายต้องได้รับความสุขกายสบายใจ ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ในชาตินี้เป็นที่รักใคร่ชอบใจแห่งคนทั้งหลาย มีมารดา บิดา ครูบาอาจารย์ เป็นต้น ผู้ที่ว่าง่ายสอนง่ายต้องหวังได้ผล คือ ความสุขอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่นอน เหมือนอย่างเรื่อง ทีฆาวุกุมารซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพรหมทัตในกรุงพาราณสี เมื่อพระบิดาจะสวรรคตได้ทรงสั่งสอนไว้ ประการใด พระราชกุมารก็ทรงกระทำตามทุกอย่างจนได้เสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์ถึง ๒ ประเทศ  มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล ประเทศทั้ง ๒ มีนามว่าประเทศกาสีและโกศล เพราะฉะนั้นจึงมีนักปราชญ์นิพนธ์เป็นสุภาษิตไว้ว่า

        สิริสวัสดิพิพัฒนศรี                      ยศยิ่งสุขมีวรลาภมหันต์

     ลุประสิทธิประสงค์              ดุจจงมานะพลัน

นิรทุกข์นิรสรร                       นิรภัยนิรโศก

นิรโรควรผล                          ทุมนัสบ่มิดล

ทุรกรรมบ่กราย                     สุภลัมภกาย

ก็เพราะตามปิตุสอน                   จบนักประดิษฐ์

กลกลอนพิพิธ                      สาธกสาธร

 เชื่อถ้อยบิดา                        อาพาสโมสร

     สบสุภากร                            ลาภล้ำเหลือตรา

แต่ใช่หมายประสงค์                 เอาความซื่อตรง

      เดียวแต่บิดา                         ถึงแม้ชนนีเมธีครูบา

  กล่าวสุภา-                           ษิตเป็นแก่นสาร

ก็ควรจักเอื้อ                          เชื่อถ้อยโวหาร

โดยพจน์สุภาณ                     อาจให้สมหวัง

                     จบสุนทรถ้วน                         แต่ละอย่างล้วน   คุณอนันตัง

เฉกเช่นตัวอย่าง                     ที่อ้างแต่หลัง

         ถ้าผู้ใดฟัง                             อย่าคิดสงสัย   ดังนี้

          ในโครงสุภาษิตที่ยกขึ้นแสดงแล้วนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ผู้เชื่อถือถ้อยคำมารดา บิดา ครูบาอาจารย์ ย่อมมีแต่ความสุขความเจริญ โดยเหตุนี้ขอพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จงฝึกหัดตนให้เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย เมื่อเราเติบโตเป็นพ่อเรือนหรือแม่เรือนแก่เฒ่าชราแล้ว ต้องหัดตนให้เป็นคนที่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้าว่าง่ายสอนง่าย คือ อย่าดื้อดึงขัดขืนคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อพระภิกษุ สามเณรเทศนาคำแปลของพระพุทธเจ้าให้ฟังก็ให้เชื่อตามอย่าง อย่าอวดรู้ อวดมีทิฏฐิมานะ จึงจะพ้นความทุกข์ในอบายอันจักมีในภายหน้า ดังนี้

“ผู้มีความปรารถนาจัด มี ๔ ก็ต้องการ ๘ มี ๘ ก็ต้อง

การ ๑๖ มี ๑๖ก็ต้องการ ๓๒ บัดนี้ มาได้รับกงจักรกรด

กงจักรกรดพัดอยู่เหนือศีรษะของคนผู้ลุอำนาจความปรารถนา.”

มิตตวินทุกชาดกจบ.