๑๐๕. ทุพพลกัฏฐาชาดก (ว่าด้วยช้างกลัวไม้แห้ง)

          พระบรมศาสดาทรงปรารภภิกษุขี้ขลาดรูปหนึ่งให้เป็นต้นเหตุ มีเนื้อความว่าภิกษุนั้นเป็นผู้มีนิสัยกลัวความตายอยู่เป็นนิจ ไม่ว่าจะอยู่ในที่แห่งใดจะเป็นกลางวันหรือกลางคืนก็ตาม เมื่อได้ยินเสียงลมพัด เสียงกิ่งไม้แห้งหักลงมา หรือเสียงสัตว์ต่าง ๆ ในเวลาใดก็มีแต่ความกลัวตายจนถึงกับร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังแล้ววิ่งหนีไป เมื่อพระพุทธองค์ได้ทราบเรื่องนั้น จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า การที่ภิกษุรูปนี้กลัวตายมากมายถึงเพียงนี้ จะได้มีแต่ในปัจจุบันนี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงในอดีตก็เหมือนกัน ครั้นแล้วพระองค์จึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี ท้าวเธอทรงมอบช้างต้นมงคลหัตถีเชือกหนึ่ง ให้พวกนายหัตถาจารย์นำไปฝึกหัดให้หายตื่นตกใจในป่า พวกนายหัตถาจารย์รับพระราชโองการแล้วก็นำช้างพระที่นั่งไปสู่ป่าแห่งหนึ่ง ผูกไว้กับเสาตลุงให้มั่น แล้วก็ต่างถือหอกซัดเข้าแวดล้อม ทำท่าล้อช้างนั้นด้วยประการต่าง ๆ ช้างนั้นก็ยิ่งตกใจมากขึ้น จึงทำลายเสาตลุงออกไล่พวกนายหัตถาจารย์ให้แตกหนีไป แล้ววิ่งเข้าป่าหิมพานต์ไป พวกนายหัตถาจารย์ เมื่อไม่สามารถจะตามจับช้างนั้นได้ก็พากันกลับไป ส่วนช้างนั้นเมื่ออยู่ในป่าหิมพานต์ก็ยิ่งกลัวตายมากขึ้น กลัวจนถึงว่าเมื่อได้ยินเสียงใด ๆ เป็นต้นว่าเสียงลมพัดก็สลัดงวงแล้ววิ่งหนีไปจากที่นั้น เหมือนกับในเวลาที่เขาผูกไว้ที่เสาตลุง และผัดล่ออยู่ฉะนั้นมิได้มีความสำราญกายเลย มีแต่กลัวตายอยู่เป็นนิตยกาล ในเวลานั้นมีพฤกษเทพยดาตนหนึ่ง เมื่อได้เห็นกิริยาของช้างดังนั้นก็แสดงตนให้ปรากฏ ประดิษฐานอยู่ที่คาคบไม้ แล้วสั่งสอนช้างนั้นด้วยประพันธ์คาถาว่า

พหุมฺเปตํ   วเน  กฏฺฐํ          วาโต   ภญฺชติ  ทุพฺพลํ

ตสฺส   เจ    ภายสิ   นาค          กีโส   นูน   ภวิสฺสีติ

          แปลว่า ดูก่อนช้างตัวประเสริฐไม้ที่แห้งเหี่ยวถูกลมพัดให้หักลงย่อมมีอยู่มากในป่าหิมพานต์ ถ้าท่านจะตกใจต่อไม้แห้งอันหักลงเช่นนี้ ก็น่าที่ท่านจะซูบผอมลงโดยแท้ ดังนี้ เมื่อช้างนั้นได้ฟังโอวาทของเทพยดาอย่างนี้แล้ว ก็หายความตกใจกลัวตั้งแต่นั้นมา

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจสืบต่อไป เมื่อจบอริยสัจลงภิกษุผู้กลัวตายรูปนั้นก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วสมเด็จพระทศพลบรมศาสดา จึงทรงประชุมชาดกว่า ช้างพระที่นั่งในครั้งนั้นได้เกิดมาเป็นภิกษุรูปนี้ ส่วนพฤกษเทพยดา คือเราตถาคตนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นเด่นชัดว่าคนและสัตว์ทั้งหลายที่อุบัติเป็นรูปเป็นกายในบัดนี้ โดยมากย่อมไม่ทิ้งวาสนา กล่าวคือ ผู้ใดเคยอบรมมาเป็นอย่างไรในชาติก่อน ผู้นั้นย่อมเป็นอย่างนั้นอีกในปัจจุบันชาตินี้ ถ้าในปัจจุบันชาตินี้ไม่พยายามละสิ่งนั้นจนหายขาดได้ ต่อไปในชาติหน้าก็จะต้องเป็นอย่างนั้นอีก โดยเหตุนี้ เมื่อพุทธศาสนิกชนผู้ใดเห็นว่า สิ่งใดเป็นนิสัยไม่ดีก็จงอย่าอบรมสิ่งนั้น คือจงอย่าทำสิ่งนั้นให้มาก จงพยายามละสิ่งนั้นเสีย ถ้าสิ่งใดเป็นนิสัยดีจงสงวนสิ่งนั้นไว้ จงทำสิ่งนั้นไว้ให้มากเพื่อเป็นวาสนาต่อไปในอนาคต ส่วนผู้มีนิสัยขี้ขลาดหวาดกลัวต่อความตาย จงให้นึกถึงพระกัมมัฏฐานบทหนึ่งซึ่งมีนามว่ามรณสติให้ได้เสมอ จึงจะหายกลัวตาย มรณสติกัมมัฏฐานนั้นว่า ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน ยั่งยืนแต่ความตายเท่านั้น เราต้องตายในเวลาใดเวลาหนึ่งเป็นแน่ เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด ชีวิตของเราไม่เที่ยง ความตายของเราเที่ยง ดังนี้ เมื่อจำไม่ได้ทั้งหมดนี้จะนึกแต่โดยย่อว่า เราจะต้องตาย ๆ ดังนี้  เมื่อทำได้อย่างนี้เสมอจะไม่กลัวตายเลย เราจะไม่เกียจคร้านในการงาน และการให้ทาน รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา ขอให้ท่านทั้งหลายจงทำตามอนุศาสนีนี้เถิด ดังนี้

“ลมย่อมพัดไม้แห้งที่ทุรพลในป่านี้ แม้มีจำนวนมากมายให้หักลง ดูกร

ช้างตัวประเสริฐ  ถ้าท่านมากลัวต่อไม้แห้งนั้น  ท่านจักซูบผอมเป็นแน่.”

ทุพพลกัฏฐาชาดกจบ.