๑๐๙. กุณฑกปูวชาดก (ว่าด้วยมีอย่างไรกินอย่างนั้น)

          พระบรมศาสดาทรงปรารภบุรุษเข็ญใจคนหนึ่งให้เป็นต้นเหตุ มีเรื่องปรากฏมาว่า ในกรุงสาวัตถีนั้น บางครั้งตระกูลเดียวก็ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธองค์เป็นประธานได้ บางครั้งต้องรวมกันเข้าถึง ๓-๔ ตระกูลจึงถวายทานได้ บางครั้งต้องรวมกันแทบทั้งตำบลก็มี

          ครั้งนั้นบุรุษเข็ญใจคนหนึ่ง ได้เลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างทำงานให้แก่ผู้อื่น เมื่อคนทั้งหลายป่าวร้องให้ถวายทาน เขาจึงจินตนาการว่าเรายากจนยิ่งนักไม่สามารถที่จะถวายทานดีได้ เราควรทำขนมรำถวาย ครั้นคิดแล้วก็กรองเอารำที่ละเอียดมาขยำให้เปียกน้ำทำเป็นขนมปิ้งโดยห่อใบรัก เผาไฟให้สุกดีแล้ว รีบนำออกไปเพื่อจะถวายพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงมีรับสั่งให้นำเข้าไปถวาย เขาก็นำไปใส่บาตรของพระพุทธองค์แล้วก็ถอยออกไปยืนอยู่ ส่วนสมเด็จพระบรมครูมิได้ทรงรับอาหารของผู้ใดอีก ฉันแต่ขนมรำของบุรุษเข็ญใจเท่านั้น คนทั้งหลายก็พากันโกรธบุรุษนั้น แล้วพร้อมกันไปขอซื้อส่วนบุญกับบุรุษนั้น บุรุษนั้นจึงกล่าวว่า เราจะไปกราบทูลถามพระพุทธองค์ดูก่อน ว่าแล้วก็ออกไปทูลถามพระพุทธองค์ พระองค์จึงตรัสว่า เธอจะรับทรัพย์เขาหรือไม่ก็ตาม แต่เธอควรแบ่งส่วนบุญให้แก่คนทั้งหลาย บุรุษนั้นก็กลับไปรับเอาทรัพย์แห่งคนทั้งหลาย จนกระทั่งได้ทรัพย์สมบัติจัดเป็นจำนวนได้ ๙ โกฏิ  แล้วได้เป็นเศรษฐีในวันนั้น ดังนี้ ในเวลาเย็น ภิกษุทั้งหลายได้สนทนาถึงเรื่องบุรุษเข็ญใจ และเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงพอพระทัยฉันขนมรำของเขา เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบ จึงเสด็จไปประทับที่ธรรมสภา แล้วโปรดประทานเรื่องในอดีตว่า

          ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตผ่านสมบัติในกรุงพาราณสี ในครั้งนั้นคนทั้งหลายพากันนับถือเทพยดาที่สถิตอยู่ ณ ต้นละหุ่งว่าเป็นสิริมงคล พากันมีมหรสพอยู่เสมอ ครั้งนั้นมีบุรุษเข็ญใจคนหนึ่งได้ทำขนมรำไปเซ่นสรวงเทพยดานั้น แต่พอไปถึงก็กลับนึกขึ้นมาได้ว่าธรรมดาเทพยดาย่อมบริโภคเครื่องทิพย์ คงจะไม่บริโภคขนมรำของเราเป็นแน่ ครั้นคิดแล้วก็บ่ายหน้ากลับไป  ส่วนรุกขเทวดารู้จักใจบุรุษนั้นจึงกล่าวเป็นคาถาว่า

ยถนฺโน   ปุริโส  โ หติ          ตถนฺนา   ตสฺส   เทวตา

อาหเรตํ   กุณฺฑปูวํ          มา   เม   ภาคํ   วินาสยติ

          แปลว่า บุรุษกินสิ่งใดเทพยดาของบุรุษนั้นก็ต้องกินสิ่งนั้น ท่านจงนำขนมรำของท่านมาเถิดอย่าให้ของ ๆ ท่านเสียหายไปเลย ดังนี้ บุรุษเข็ญใจนั้นก็นำเอาขนมรำกลับไปถวายแก่เทพยดานั้น เทพยดานั้นบริโภคแล้วจึงถามว่า บุรุษปรารถนาสิ่งใด เขาตอบว่า  ปรารถนาจะให้พ้นจากความเข็ญใจ เทพยดาจึงให้เงินทองซึ่งฝังอยู่รอบต้นละหุ่งแก่บุรุษเข็ญใจนั้น บุรุษเข็ญใจนั้นจึงเอาเกวียนมาบรรทุกไปไว้ที่หน้าพระลานหลวง พระมหากษัตริย์ได้ตั้งให้บุรุษเข็ญใจนั้น เป็นเศรษฐีในเวลาวันนั้น

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า บุรุษเข็ญใจในครั้งนั้น ได้เกิดมาเป็นบุรุษเข็ญใจคนนี้ ฃ ส่วนเทพยดาที่สถิตอยู่ที่ต้นละหุ่ง ฃ ได้เกิดมาเป็นเราตถาคตนี้แล ดังนี้

“บุรุษกินอย่างไร เทวดาของบุรุษนั้นก็กิน

อย่างนั้น ท่านจงนำเอาขนมรำนั้นมา

อย่าให้ส่วนของเราเสียไปเลย”.

กุณฑกปูวชาดกจบ.”