๑๒. นิโครธมิคชาดก (ว่าด้วยการเลือกคบ)

(๑๒) นิโครธมิคชาดก (ว่าด้วยการเลือกคบ)

            พระพุทธองค์ได้ทรงปรารภภิกษุณีรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นมารดาแห่งพระกุมารกัสสปให้เป็นต้นเหตุ มีเรื่องราวมาว่ามารดาแห่งพระกุมารกัสสปนั้น มารดาบิดาได้แต่งงานกับบุตรเศรษฐีคนหนึ่ง นางได้ขออนุญาตสามีบรรพชา แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตจนนางตั้งครรภ์ สามีจึงอนุญาต แต่ทั้งตัวนางเองและสามีก็ไม่รู้ว่ามีครรภ์ เมื่อนางได้บรรพชาเป็นภิกษุณีแล้วครรภ์ก็ปรากฏแก่ขึ้น ภิกษุณีทั้งหลายจึงนำตัวไปหาพระเทวทัต พระเทวทัตไม่ได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนบังคับให้นางสึกเสีย นางก็ไม่ยอมตาม จึงไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาค พระองค์โปรดให้ประชุมสงฆ์และตระกูลใหญ่ ๆ ในกรุงสาวัตถี มีนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นต้น แล้วไต่สวนหาข้อเท็จจริง ได้ความจริงว่านางมีครรภ์ติดมาแต่เมื่อเป็นคฤหัสถ์พระอุบาลีก็ตัดสินใจให้นางเป็นผู้บริสุทธิ์ หมดมลทินในท่ามกลางบริษัท เมื่อนางคลอดบุตรพระราชาได้นำไปเลี้ยงไว้ เมื่อโตขึ้นก็ได้บรรพชาอุปสมบท มีนามปรากฏว่า พระกุมารกัสสป ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล จากนั้นก็ได้ให้สติมารดาจนดำรงอยู่ในอรหัตผล ตัดเสียซึ่งกิเลสให้ขาดจากสันดาน อยู่มาภิกษุทั้งหลายพากันสรรเสริญคุณแห่งพระศาสดาว่า เป็นการอัศจรรย์ยิ่งนักที่ได้เป็นที่พึ่งให้นางภิกษุณีกับบุตร เมื่อพระบรมศาสดาได้ทรงสดับ จึงตรัสว่า เราได้เป็นที่พึ่งแห่งนางภิกษุณีกับบุตรในแต่ชาตินี้ก็หาไม่ ถึงในชาติก่อนเราก็ได้เป็นที่พึ่งให้เขาทั้งสองเหมือนกัน ครั้นตรัสดังนี้แล้วทรงนิ่งอยู่ หมู่ภิกษุสงฆ์ทูลขอให้แสดงเรื่องอดีต สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลล่วงแล้วนาน ครั้งสมัยกาลแห่งสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีฝูงเนื้ออยู่ในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ๒ ฝูง มีฝูงละ ๕๐๐ เท่ากัน เนื้อนายฝูงตัวหนึ่ง ชื่อว่านิโครธมฤคราช เนื้อนายฝูงอีกตัวหนึ่ง ชื่อว่าสาขมฤคราช ในสมัยนั้น สมเด็จพระเจ้าพรหมทัตมีพระราชอัธยาศัยฝักใฝ่ในการเสด็จประพาสเนื้อในป่า จนไพร่ฟ้าประชาชนไม่ค่อยมีเวลาทำมาหากิน มัวแต่ตามเสด็จท้าวเธอไปล่าเนื้อ ในครั้งนั้น คนทั้งหลายได้พร้อมกันทำเนื้อรอบดงใหญ่แห่งหนึ่งแล้วต้อนฝูงเนื้อเข้าไปไว้ในดงนั้น สำหรับพระเจ้าพาราณสีจะได้เสด็จประพาสโดยสะดวกตามพระประสงค์ ต่อแต่นั้นมาพระเจ้าพาราณสีก็ได้เสด็จไปทรงยิงเอาเนื้อในที่นั้นโดยลำพังพระองค์ก็มี บางทีก็โปรดให้พนักงานครัวต้นไปยิงเอาเนื้อมาทำภักษาหารถวายก็มี เนื้อนายฝูงทั้งสอง คือ นิโครธมฤคราชกับสาขมฤคราชจึงปรึกษากันว่า พวกเราควรจะปันเวรให้แก่เนื้อที่เป็นบริวาร ให้ไปนอนคอยอยู่ในที่เขาจะฆ่าวันละตัว ๆ เถิด เมื่อตกลงกันแล้วก็ได้ปันเวรให้แก่เนื้อที่เป็นบริวารของตน ๆ เมื่อถึงเวรแห่งเนื้อตัวใด เนื้อตัวนั้นก็ไปนอนคอยอยู่ในที่เขาจะฆ่าเป็นอย่างนั้นเสมอมา ครั้นต่อมาวันหนึ่ง ถึงเวรแห่งแม่เนื้อตัวหนึ่งซึ่งกำลังมีครรภ์อันเป็นบริวารแห่งสาขมฤคราช นางเนื้อนั้นจึงไปอ้อนวอนต่อนายของตนว่าบัดนี้ข้าพเจ้ามีครรภ์อยู่ ขอเปลี่ยนให้เนื้อตัวอื่นไปก่อนเถิด เมื่อข้าพเจ้าคลอดบุตรแล้วจึงจะเข้าไปรับเวรต่อภายหลัง สาขมฤคราชผู้เป็นนายฝูงก็ไม่อนุญาตให้ตามคำขอร้อง นางเนื้อนั้นจึงไปหานิโครธมฤคราชผู้เป็นนายฝูงแห่งเนื้ออีกฝูงหนึ่ง ขอให้ช่วยชีวิตตนกับลูกในครรภ์ไว้ นิโครธมฤคราชจึงรับอาสาไปแทนนางเนื้อนั้น กิริยาว่า นิโครธมฤค-ราชนั้นที่โปรดปรานแห่งพระเจ้าพาราณสี ๆ ได้พระราชทานอภัยตั้งแต่วันแรกที่พระองค์ได้ทรงเห็น  ในวันนั้นพระองค์ไม่ได้เสด็จเอง ได้โปรดให้พ่อครัวไปแทนพระองค์ พ่อครัวได้เห็นนิโครธมฤคราชมานอนคอยอยู่ในที่จะฆ่า จึงกลับไปกราบทูลแก่พระเจ้าพาราณสี ๆ ได้เสด็จไปด้วยพระองค์เอง ได้ตรัสถามนิโครธมฤคราชว่า เหตุไรท่านจึงมานอนอยู่ในที่นี้ นิโครธมฤคราชจึงแจ้งเหตุให้ทรงทราบตั้งแต่ต้นจนอวสาน สมเด็จพระจอมภูมิบาลตนแทนพระองค์จึงทรงพระราชทานอภัยแก่เนื้อทั้งหลาย มีนิโครธมฤคราชเป็นประธานตลอดถึงสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้าเหล่าอื่นซึ่งอยู่ในที่นั้นและที่อื่นด้วย นิโครธมฤคราชได้แสดงธรรมถวายพระเจ้าพาราณสีแล้วก็ถวายบังคมลาพาบริวารของตนออกจากสถานที่นั้นไปอยู่ในป่าตามเดิม ส่วนนางเนื้อนั้นเมื่อบุตรเติบโตขึ้นได้ห้ามปรามมิให้ไปหาสาขมฤคราชเป็นอันขาด โดยนางกล่าวว่า นิโคฺรธเมว เสเวยฺย น สาขํ อุปฺสํวเส แปลว่า ควรคบแต่นิโครธมฤคราชเท่านั้น ไม่ควรคบสาขมฤคราชเลย นิโคฺรธสมึ มตํ เสยฺโย ยญฺเจ สาขสฺมิ ชีวิตนฺติ ตายเสียในสำนักนิโครธมฤคราชเป็นการประเสริฐกว่ามีชีวิตอยู่ในสำนักพญาสาขมฤคราช ดังนี้ จำเดิมแต่นั้นมาเนื้อทั้งหลาย ได้พากันเคี้ยวกินข้าวกล้าแห่งคนทั้งหลายตามใจชอบ เพราะไม่มีผู้ใดฆ่าเนื้อเหล่านั้นได้ โดยเกรงกลัวพระราชอาญาที่ได้พระราชทานอภัยแก่ฝูงเนื้อไว้ คนทั้งหลายได้พร้อมกันเข้าไปร้องทุกข์ แต่พระเจ้าพาราณสีตรัสว่าเราได้ให้อภัยแก่ฝูงเนื้อแล้ว ถึงท่านทั้งหลายจะถอดเราออกจากราชสมบัติ เราก็ไม่อาจคืนถ้อยคำได้ ในครั้งนั้น ก็ทราบถึงพญานิโครธมฤคราช พระองค์จึงประกาศห้ามปรามแก่ฝูงเนื้อทั้งหลายที่เป็นบริวาร ไม่ให้เนื้อตัวใดตัวหนึ่งกินข้าวกล้าแห่งคนทั้งหลาย ตั้งแต่นั้นมาไม่จำเป็นต้องล้อมรั้วเพียงแต่ผูกใบไม้ไว้ให้เป็นเครื่องหมายเท่านั้น ก็ไม่มีเนื้อตัวใดที่จะไปกินข้าวกล้าในนาของคนทั้งหลายได้ ดังนี้

            แล้วสมเด็จพระบรมศาสดาทรงประชุมชาดกว่า สาขมฤคราชในครั้งนั้นได้เกิดมาเป็นพระเทวทัตในบัดนี้ นางเนื้อที่มีครรภ์ได้เกิดมาเป็นภิกษุณีรูปนี้ ลูกแห่งนางเนื้อนั้น ได้เกิดมาป็นพระกุมารกัสสปะ เนื้อที่เป็นบริวารได้เกิดมาเป็นพุทธบริษัท ส่วนพญานิโครธมฤคราช คือ เราตถาคตนี้เอง ในชาดกนี้กล่าวถึงการเป็นการตายอยู่ในสำนักของผู้มีเมตตากรุณา และผู้ไม่มีเมตตากรุณาว่า การตายอยู่ในสำนักผู้มีเมตตากรุณาดีกว่ามีชีวิตอยู่กับผู้ไม่มีเมตตากรุณา ดังนี้

“ท่านหรือคนอื่นก็ตาม พึงคบหาแต่พญาเนื้อชื่อ

ว่านิโครธเท่านั้น ไม่ควรเข้าไปอาศัยอยู่กับพญาเนื้อ

ชื่อว่าสาขะความตายในสำนักพญาเนื้อนิโครธประเสริฐ

กว่า การมีชีวิตอยู่ในสำนักพญาเนื้อสาขะจะประเสริฐอะไร.”

นิโครธมิคชาดก จบ.