สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงแสดงไว้เพราะทรงปรารภพระติสสเถระเป็นต้นเหตุ มีเรื่องราวมาว่า พระติสสเถระนั้นได้เป็นบุตรแห่งเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ ท่านได้ออกบวชด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริง เมื่อได้บวชแล้วก็ได้ถือเคร่งครัดในธรรมวินัย ครั้นอยู่ต่อมา มารดาของท่านได้ร้องไห้ร่ำไรถึงท่านโดยประการต่าง ๆ มีหญิงแพศยาคนหนึ่งไปรับอาสาว่า จะหาอุบายให้ท่านสึกมาจนได้ มารดาของท่านจึงให้คำมั่นสัญญาว่า ถ้าให้ท่านสึกมาได้จริงเราจะยกสมบัติเศรษฐีให้ทั้งสิ้น และตั้งตัวเจ้าให้เป็นลุกสะใภ้ นางก็รับคำ แล้วไปคอยสังเกตทางที่พระผู้เป็นเจ้าเที่ยวบิณฑบาต เมื่อเห็นแล้ว นางก็คอยจัดอาหารใส่บาตร ครั้นนานมาพระผู้เป็นเจ้าก็ติดในรสอาหาร ถึงกับขึ้นไปฉันบนเรือนเป็นที่พักแห่งนางหญิงแพศยานั้น ครั้นต่อมาวันหนึ่ง หญิงแพศยานั้นได้กำชับคนใช้ของตนไว้ว่า พอพระผู้เป็นเจ้ามาถึงจงบอกว่าเราไม่สบาย แล้วนิมนต์ให้ท่านเข้าไปฉันในห้องของเรา เมื่อพระผู้เป็นเจ้าไปถึงก็ได้เข้าไปในห้องแห่งหญิงนั้นตามคำแห่งพวกคนใช้ แล้วหญิงนั้นได้เปลื้องพระผู้เป็นเจ้าออกจากความเป็นภิกษุ พากลับไปหามารดาในกรุงราชคฤห์ได้ตามสัญญา เมื่อเรื่องนั้นปรากฏไปถึงสมเด็จพระศาสดาพระองค์จึงแสดงเรื่องอดีตว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในครั้งก่อนมีเลียงผาตัวหนึ่งเที่ยวหากินอยู่ในพระราชอุทยานของพระเจ้าพรหมทัต ในกรุงพาราณสี นายอุทยานได้เอาน้ำผึ้งไปเที่ยวหยดไว้ตามใบหญ้า ตั้งแต่ประตูสวนไปจนกระทั่งถึงภายในสวน เลียงผานั้นได้เลียกินน้ำผึ้งเข้าไปทีละน้อย ๆ ในที่สุดนายอุทยานก็ได้เอาน้ำผึ้งทาหญ้าอ่อนถือไปล่อให้เลียงผากินกับมือของตน จนเลียงผานั้นคุ้นเคยสนิทสนม นายอุทยานจึงนำเลียงผานั้นเข้าไปถวายแด่พระเจ้าพาราณสี ๆ ปรารภเลียงผานั้นเป็นต้นเหตุ จึงทรงพระราชทานโอวาทแก่ราชบริษัททั้งหลายด้วยพระคาถาว่า น กิรตฺถิ รเสหิ ปาปิโย อวาเสหิ วา สนฺถเวหิ วา วาตมิคํ คหนนิสฺสิตํ วสมาเนสิ รเสหิ สญฺชโยติ แปลว่า สิ่งที่เลวกว่ารสอาหารมิได้มีการติดอยู่ในที่อยู่อาศัยก็ดี การติดอยู่ในความรักใคร่ฐานมิตรสหายก็ดี นับว่าเป็นของเลวมักให้โทษอยู่แล แต่ยังไม่เลวเท่าการติดในรสอาหาร ดูแต่นายอุทยานผู้ชื่อว่าสญชัย นำซึ่งเลียงผาอันอาศัยอยู่ในป่ามาได้ด้วยรสอาหารเป็นตัวย่างเถิด แล้วจึงตรัสว่า พระติสสภิกษุจะถึงความพินาศขาดจากความเป็นภิกษุ ด้วยการติดรสอาหารแต่ในกาลนี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงเมื่อก่อนก็ได้หลงติดรสอาหารมาแล้วเหมือนกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า นายอุทยานในครั้งนั้น ได้เกิดมาเป็นหญิงแพศยาในบัดนี้ เลียงผาตัวนั้น ได้เกิดมาเป็นพระติสสะ ส่วนพระเจ้าพาราณสี ได้มาเกิดเป็นเราตถาคตในบัดนี้ ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นชัดว่า รสต่าง ๆ ที่ทำให้บุคคลตกอยู่ในอำนาจได้เหมือนรสอาหารย่อมไม่มี
“ได้ยินว่า สิ่งอื่นที่จะเลวยิ่งไปกว่ารสทั้งหลายไม่มี รส
เป็นสภาพเลวแม้กว่าถิ่นฐาน แม้กว่าความสนิทสนม
นายสญชัยอุยยาบาล นำเนื้อสมันซึ่งอาศัยอยู่ใน
ป่าชัฎมาสู่อำนาจของตนได้ด้วยรสทั้งหลาย.”
วาตมิคชาดก จบ.