๓. กุรุงควรรค
พระบรมศาสดา ทรงปรารภพระเทวทัตให้เป็นต้นเหตุ มีเนื้อความในปัจจุบันนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายได้สนทนาถึงเรื่องพระเทวทัตว่า พระเทวทัตได้พยายามจะปลงพระชนม์ชีพแห่งพระพุทธองค์ด้วยอุบาย ๓ อย่าง คือ ให้นายขมังธนูมายิง ๑ กลิ้งศิลาหวังจะให้ทับพระองค์ ๑ ปล่อยช้างซับมันให้มาทำร้าย ๑ ก็ไม่สำเร็จดังความประสงค์ ครั้นต่อมาเกิดอาพาธหนักถึง ๙ เดือน ในที่สุดก็ถูกแผ่นดินสูบลงไปสู่อเวจีมหานรก เมื่อภิกษุทั้งหลายสนทนากันอยู่อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเสด็จไปสู่ธรรมสภา แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตพยายามประทุษร้ายเราแต่ไม่สำเร็จในชาตินี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงในชาติก่อนก็เหมือนกัน แล้วจึงทรงแสดงซึ่งเรื่องในอดีตกาลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีพรานป่าคนหนึ่งได้เที่ยวขัดห้างอยู่ตามต้นไม้ คอยแทงซึ่งหมู่เนื้อทั้งหลาย ในเวลาต้นไม้ทรงดอกออกผล ครั้นอยู่มา พรานป่านั้นได้ไปขัดห้างอยู่ที่ต้นมะลื่น คอยแทงฝูงกวางอันไปกินผลมะลื่นต้นนั้น ครั้งนั้น มีกวางตัวหนึ่งได้ไปที่ต้นมะลื่นนั้นโดยประสงค์ที่จะกินผลมะลื่นอันหล่นลงมา กวางนั้นเป็นสัตว์ที่มีปัญญารอบคอบ ไม่ด่วนเข้าไปในร่มมะลื่นเหมือนกวางอื่น ๆ ได้ยืนคอยสังเกตเหตุการณ์อยู่แต่ไกลว่าที่ต้นไม้นี้จะมีอันตรายหรือไม่ประการใด เมื่อนายพรานไม่เห็นกวางเข้าไปภายในร่มมะลื่นดังนั้น จึงโยนผลมะลื่นลงไปให้ตกตรงหน้ากวาง กวางจึงเฉลียวใจ ว่าเหตุไรหนอผลมะลื่นจึงหล่นลงไกลต้นเช่นนี้ เมื่อพิจารณาไปก็เห็นว่ามีพรานขัดห้างอยู่ข้างบนจึงทำเป็นไม่รู้กล แกล้งกล่าวออกไปด้วยพระคาถาว่า “ญาตเมตํ กุรุงฺคสฺส” เป็นอาทิ แปลว่า ดูก่อนไม้มะลื่นการที่เจ้าทิ้งผลมะลื่นมาล่อลวงเราเช่นนี้ เรารู้จักเล่ห์ของเจ้าแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ชอบกินผลของเจ้า เราจักไปหาผลมะลื่นในที่อื่นต่อไป กล่าวดังนี้แล้วก็บ่ายหน้ากลับไป นายพรานก็ได้ซัดหอกตามลงไปแล้วกล่าวว่า ไปเถิดเจ้าที่นี้ข้าพลาดเจ้าว่าแล้วก็กลับไป กวางจึงตอบว่า ถึงเอ็งพลาดข้าในเวลาวันนี้ เอ็งก็จะไม่พลาดนรกต่อไปในข้างหน้าเพราะเอ็งทำบาปกรรมด้วยการฆ่าเนื้อมาเป็นอันมากแล้วครั้นกล่าวดังนี้แล้วจึงหนีไป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อนายพรานตายจากชาตินั้นแล้ว ก็ได้ไปทนทุกข์อยู่ในนรกตลอดกาลนาน ครั้นต่อมาในปัจจุบันกาลนี้ ได้เกิดมาเป็นพระเทวทัต ส่วนกวางนั้น ได้อุบัติมาเป็นเราตถาคตในบัดนี้
“ ดูก่อนไม้มะลื่น การที่ท่านปล่อยผลให้ตก
กลิ้งมานั้น เราผู้เป็นกวางรู้แล้ว เราจะไปสู่
ไม้มะลื่นต้นอื่น เพราะเราไม่ชอบใจผลของท่าน”.
กุรุงคมิคชาดกจบ.