๒๙. กัณหชาดก (ว่าด้วยผู้เอาการเอางาน)

 

          เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้าประทับอยู่ที่พระเชตะวันมหาวิหาร ได้ทรงปรารภยมกปาฏิหาริย์ให้เป็นเหตุ มีเนื้อความว่า เมื่อพระองค์ทรงปรารภจะทำยมกปาฏิหาริย์ มีสาวก สาวิกา ตลอดจนอุบาสก อุบาสิกา เข้าไปทูลรับอาสาว่าจะทำปาฏิหาริย์แทนพระองค์ พระองค์ทรงเห็นว่าไม่มีผู้ใดจะสามารถจะทำได้ตามพุทธประสงค์จึงมีพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่มีผู้จะทำธุระแทนเราได้แต่ในบัดนี้หามิได้ ถึงในปางก่อนก็เหมือนกัน แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตต่อไปว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตผ่านสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีหญิงแก่คนหนึ่งได้เลี้ยงลูกโคตัวหนึ่งไว้ด้วยความรักใคร่เหมือนดังบุตรในอุทร ได้ป้อนข้าวอาบน้ำให้จนโคนั้นโตใหญ่ โคนั้นมีนามว่ากัณหะ แปลว่า ดำ เพราะมีสีเหมือนดอกอัญชัญ เมื่อโคนั้นเติบโตขึ้น ก็เป็นโคที่มีกิริยามารยาทอันเรียบร้อย ได้เที่ยวไปปะปนกับหมู่เด็กชาวบ้าน หมู่เด็กชาวบ้านก็เล่นหัวกับโคตัวนั้นเหมือนอย่างเพื่อนเล่น ครั้นต่อมาโคตัวนั้นจึงคิดว่ามารดาของเราเป็นคนยากจน แต่รักใคร่เลี้ยงดูเราเหมือนอย่างบุตรมาด้วยความลำบาก เราควรจะช่วยมารดาของเราให้พ้นจากความตกยากให้จงได้ ครั้นคิดดังนี้แล้วโคนั้นก็เที่ยวแสวงหาการรับจ้างต่อไป อยู่มาวันหนึ่ง มีพ่อค้าเกวียน ๕๐๐ เล่ม ขับหมู่เกวียนมาติดหลุมที่ท่าน้ำแห่งหนึ่ง โคของเขาไม่สามารถจะลากเกวียนขึ้นได้ เขาจึงปลดโคออกแล้วเอาเกวียน ๕๐๐ เล่มผูกติดกันแล้วมานำโค ๕๐๐ คู่ไปฉุดก็ไม่สามารถจะจะฉุดขึ้นได้ ในเวลานั้นโคกัณหอุสุภราชตัวนั้นเที่ยวไปอยู่ในที่ใกล้กับบริเวณนั้น  ฝ่ายพ่อค้าเกวียนเป็นคนรอบรู้ในในลักษณะโค เมื่อได้แลเห็นโคกัณหอุสุภราชตัวนั้น ก็เข้าใจว่าโคตัวนี้เป็นโคอันประเสริฐอาจลากเกวียนทั้ง ๕๐๐ เล่มขึ้นจากหลุมได้ แต่เราไม่รู้จักว่าเป็นโคของใคร จึงถามพวกเด็กที่เล่นอยู่ในสถานที่นั้น เมื่อ  ทราบว่าเป็นโคของยายแก่ เป็นโคเที่ยวรับจ้างจึงเข้าไปหาโคนั้น แล้วกล่าวว่า ดูก่อนโคผู้เจริญเราจะจ้างไปช่วยลากเกวียนของเราทั้ง ๕๐๐ เล่มขึ้นจากหลุมแล้วจะให้ค่าจ้างแก่เจ้าเล่มละ ๒ กหาปณะ รวมเป็นพันกหาปณะด้วยกัน เมื่อ   โคกัณหอุสุภราชได้ฟังดังนั้นก็รีบไปโดยดี เมื่อไปถึงพ่อค้าเกวียนก็เอาเข้าเทียบเกวียนเล่มหน้า โคตัวนั้นก็ลากเกวียนทั้ง ๕๐๐ เล่มขึ้นจากหลุมได้ในทันใด   พ่อค้านั้นจึงเอาทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะ ห่อผูกติดที่คอโคกัณหอุสุภราชแล้วปล่อยไป แต่โคกัณหอุสุภราชเห็นว่าค่าจ้างยังขาดอยู่จึงไม่ไปได้ยืนขวางทางเกวียนนิ่งอยู่ จนกระทั่งพ่อค้าผู้นั้นนำทรัพย์อีก ๕๐๐ กหาปณะมาผูกติดที่คอให้จึงได้เดินไปจากสถานที่นั้น พวกเด็กทั้งหลายเห็นก็พากันเข้ายื้อแย่ง โคกัณหอุสุภราชนั้นได้สลัดวิ่งหนีไปโดยกำลังแรง จนกระทั่งไปถึงยายแก่ผู้เป็นมารดา ได้มอบทรัพย์พันกหาปณะให้ยายแก่นั้น สมดังเจตนาของตน ยายแก่นั้นก็พ้นจากความยากจนกลับเป็นคนมั่งมีต่อไป ครั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเรื่องอดีตจบลงดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า

ยโต   ยโต   ครุ   ธุรํ                         ยโต   คมฺภีรวตฺตนิ

ยทาสฺสุ   กณฺหํ   ยุญฺชนฺติ                 สวาสฺสุ   ตํ   วหเต  ธุรนฺติ

          แปลว่า ในเวลาใดมีเกวียนหนัก มีทางอันลุ่มลึก ในเวลานั้นคนทั้งหลายก็เทียมโคกัณหะ โคกัณหะก็ลากเกวียนไปได้ ดังนี้ แล้วพระองค์จึงทรงประชุมชาดก ว่า ยายแก่ในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นนางอุบลวัณณา ส่วนโคกัณหะ ได้มาเกิดเป็นเราตถาคตในบัดนี้ ดังนี้.

ในที่ใด ๆ มีธุระหนักในที่ใดมีร่องน้ำ

ลึก ชนทั้งหลายก็เทียมโคดำในกาลนั้นที

เดียว โคดำนั้นก็นำเอาธุระนั้นไปได้โดยแท้.”

กัณหชาดกจบ.