พระบรมศาสดา ทรงปรารภภิกษุผู้มีศาลาอันถูกไฟไหม้เป็นเหตุ มีเรื่องเล่าว่าภิกษุรูปนั้น เมื่อศาลาถูกไฟไหม้ ก็ได้จำพรรษาอยู่กลางแจ้งตลอด ๓ เดือน ได้รับความลำบาก จากแดดฝนเป็นอันมากจนไม่สามารถจะทำให้สำเร็จธรรมวิเศษได้ เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงทราบจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ แม้สัตว์ดิรัจฉานก็ยังรู้จักที่สบายและไม่สบาย เหตุไรเธอจึงไม่รู้จักที่สบายและไม่สบาย แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีนกตัวหนึ่งกับบริวาร อาศัยอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งบริบูรณ์ด้วยกิ่งก้านสาขา
ครั้นอยู่ต่อมา ต้นไม้นั้นต้องลมพัดคาคบก็สีกันจึงเกิดเป็นควัน นกนายฝูงนั้นจึงคิดว่าไม่ช้าก็จะเกิดไฟไหม้ขึ้นที่ต้นไม้นี้เราไม่ควรจะอยู่ที่ต้นไม้นี้อีกต่อไป แล้วจึงกล่าวแก่นกบริวารทั้งหลายว่า ยนฺนิสฺสิตา ชคติรุหํ เป็นอาทิ แปลว่า หมู่นกทั้งหลายที่บินไปมาอยู่ในอากาศได้อาศัยต้นไม้ต้นใด ซึ่งเกิดอยู่กับแผ่นดินบัดนี้ต้นไม้ต้นนั้นจะเกิดเป็นไฟขึ้นเสียแล้ว พวกเราควรจะพากันไปในที่อื่นเสียเพราะมีภัยเกิดจากต้นไม้อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลายเสียแล้ว ดังนี้ ครั้นกล่าวดังนี้แล้วก็พาบริวารที่มีปัญญาหนีไปจากต้นไม้นั้นเสีย ส่วนบริวารที่หาปัญญามิได้ก็พากันกล่าวว่า นกนายฝูงนี้เพียงแต่แลเห็นน้ำหยดเดียวก็เพ้อว่าจะมีจระเข้ เป็นนกที่ ขี้ขลาดเกินประมาณ นกพวกนั้นได้พากันอาศัยอยู่ที่ต้นไม้ต้นนั้น เมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นที่ต้นไม้นั้น นกเหล่านั้นก็ร่วงลงสู่ไฟถึงซึ่งความตายเสียสิ้น ครั้น พระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องนี้จบลงแล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า นกทั้งหลายที่เป็นบริวารแห่งนกตัวนั้น ได้มาเกิดเป็นบริวารแห่งเราตถาคตในบัดนี้ ส่วนนกที่เป็นนายฝูงนั้น คือเราตถาคตนี้เอง ในชาดกนี้แสดงให้เห็นว่าผู้มีปัญญาย่อมหาที่อยู่ให้เป็นที่สบายใจเพราะที่อยู่เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าอย่างอื่น เมื่อได้ที่อยู่เป็นที่สบายไม่มีภัยอันตรายเบียดเบียนแล้ว จะคิดสิ่งไดก็ย่อมสำเร็จได้ดังประสงค์ ได้ที่อยู่ไม่เป็นที่สบายถึงจะตั้งใจทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้สำเร็จแน่นอนสิ่งนั้นก็จะไม่สำเร็จได้ดังปรารถนาเหมือนกับภิกษุที่ถูกไฟไหม้ศาลานั้นเป็นตัวอย่าง ด้วยประการฉะนี้
“นกทั้งหลายอาศัยต้นไม้ใด ต้นไม้นั้นย่อม
ทิ้งเอาไฟลงมา นกทั้งหลายจงพากันหนีไปอยู่
เสียที่อื่นเถิด ภัยเกิดจากที่พึ่งของพวกเราแล้ว.”
สกุณชาดกจบ.