๓๙. นันทชาดก (ว่าด้วยการกล่าวคำหยาบ)

          พระบรมศาสดาได้ทรงปรารภภิกษุผู้เป็นศิษย์แห่งพระสารีบุตรเถรเจ้า มีเรื่องราวมาว่า ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ครั้นนานมาพระสารีบุตรเถรเจ้าก็ทูลลาพระบรมศาสดาจารย์ พาภิกษุรูปนั้นไปในทักขิณาคีรีชนบท แต่พอไปถึงทักขิณาคีรีชนบทนั้นแล้ว ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ว่ายากสอนยาก หาเชื่อฟังถ้อยคำพระสารีบุตรเถรเจ้าไม่ เมื่อพระเถรเจ้ากลับมาจากชนบทแล้วได้เข้าไปกราบทูลสมเด็จพระบรมศาสดาให้ทรงทราบเรื่องนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร ภิกษุรูปนี้ จะได้เป็นอย่างนี้แต่ในปัจจุบันกาลนี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงในอดีตกาลก็เหมือนกัน จึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตผ่านสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีกุฎุมพีอยู่ ๒ คนเป็นสหายกัน แต่กุฎุมพีคนหนึ่งเป็นคนชรามีภรรยาสาว มีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง กุฎุมพีชรานั้นจึงคิดว่าภรรยาของเรายังสาวอยู่ เมื่อเราตายแล้วก็จักไปรักใคร่กับบุรุษอื่น จะทำให้ทรัพย์สมบัติของเราพินาศไป จะไม่ให้แก่บุตรของเรา เราควรจะนำทรัพย์ไปฟังไว้เสียเถิด แล้วจึงชวนทาสคนหนึ่งซึ่งมีนามว่านันทบุรุษพาไปฟังทรัพย์ไว้ในที่แห่งหนึ่ง แล้วบอกว่าถ้าเราตายเจ้าจงบอกขุมทรัพย์นี้แก่บุตรของเรา ครั้นต่อมา กุฎุมพีนั้นก็ตาย ฝ่ายบุตรของกุฎุมพีนั้นก็โตขึ้นโดยลำดับ อยู่มาวันหนึ่ง มารดาจึงบอกว่า บิดาของเจ้าได้นำทรัพย์ไปฝังไว้กับนายนันทะ เจ้าจงให้นายนันทะนำไปขุดเอาทรัพย์นั้นมาก่อร่างสร้างตัวเถิด ลูกชายจึงให้นายนันทะพาไปสู่ที่ฝังทรัพย์ไว้ เมื่อนายนันทะไปถึงก็ขึ้นไปยืนอยู่ตรงที่ฝังทรัพย์แล้วจึงเกิดมานะขึ้นเพราะอาศัยทรัพย์นั้นทันที ได้ด่าว่ากุมารนั้นด้วยคำหยาบคายต่าง ๆ กุมารนั้นก็ถือเอาจอบและตะกร้ากลับไปต่อมาอีก ๒-๓ วัน ก็พากันไปอีก นายนันทะก็ด่าว่าอีกเหมือนดังก่อน แต่กุมารนั้นหาได้โต้ตอบประการใดไม่ ได้แต่คิดสงสัยว่า ทาสคนนี้เมื่อยังไม่มาถึงตรงนี้ก็รับรองว่าจะบอกขุมทรัพย์ให้แก่เรา แต่ครั้นมาถึงเหตุไรจึงไม่บอกมิหนำซ้ำยังกลับด่าเราอีก เราควรจะกลับไปถามกุฎุมพีผู้เป็นสหายแห่งบิดาของเรา ครั้นคิดแล้วก็พานายนันทะกลับไป  ได้ส่งนายนันทะให้กลับไปสู่บ้านก่อน ส่วนตนได้ไปหากุฎุมพีผู้เป็นสหายแห่งบิดา เล่าเรื่องให้ฟังตลอดแล้วได้ถามว่าข้อนี้เป็นเพราะเหตุไร กุฎุมพีนั้นจึงบอกว่า ถ้านายนันทะยืนด่าเจ้าอยู่ในที่ใด ในที่นั้นแหละเป็นที่ฝังทรัพย์แห่งบิดาของเจ้า เจ้าจงกลับไปใหม่ ถ้านายนันทะด่าเจ้าอีกเจ้าจงเข้าไปฉุดมือให้ไปเสียจากที่นั้น แล้วจงขุดลงไปในที่นั้นเถิด กุมารนั้นก็กระทำตามอุบาย เมื่อขุดได้ทรัพย์แล้วจึงให้นายนันทะแบกกลับมา แล้วบอกอุบายวิธีตามที่เรียนมาจากกุฎุมพีนั้นแล้วจึงกล่าวว่า

มญฺเญ   โสวณฺณโย   ราสิ       โสวณฺณมาลา  จ   นนฺทโก

ยตฺถ   ทาโส  อามชาโต           ฐิโต   ถุลฺลานิ   คชฺชตีติ

          แปลว่า นันททาสเกิดจากนางทาสียืนด่าเราด้วยคำหยาบอยู่ในที่ใด เราเข้าใจว่าที่นั้นแหละเป็นกองทองและระเบียบทอง ดังนี้ แล้วจึงทรงประขุมชาดกว่านันททาสในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นภิกษุรูปนี้ กุมารผู้เป็นบุตรกุฎุมพีนั้น ได้มาเกิดเป็นพระสารีบุตร กุฎุมพีผู้บอกอุบายวิธีนั้น คือเราตถาคตนี้เอง ดังนี้ ในชาดกนี้เป็นตัวอย่างอันดีที่ชี้ให้เห็นซึ่งนิสัยสันดานแห่งคนอันธพาลต่ำช้าว่า เมื่อได้ดีแล้วย่อมมีใจฮึกเหิม ดูถูกดูหมิ่นผู้อื่นด้วยกิริยาหยาบคายหลายประการ โบราณทั้งหลายจึงได้ห้ามปรามลูกหลานไม่ให้เกี่ยวข้องกับทาสและทาสีโดยทางเป็นสามีภรรยากันเพราะเหตุว่าธรรมดานิสัยคนต่ำช้า เมื่อได้ดีแล้วมักจะทะนงตัว จึงมีสุภาษิตว่า ขี้ข้าได้ดีเหมือนสังกะสีปนนาก ผู้ดีตกยากเหมือนกับนากปนทอง ด้วยประการฉะนี้.

ทาสชื่อนันทกะเป็นบุตรของนางทาสี ยืนกล่าว

คำหยาบคายในที่ใด เรารู้ว่า กองแห่งรัตนะ

ทั้งหลายและดอกไม้ทองมีอยู่ในที่นั้น.”

นันทชาดกจบ.