พระบรมศาสดา ได้ทรงปรารภพวกคนโง่เขลาในตำบลหนึ่งให้เป็นเหตุ มีเรื่องราวมาว่า คนทั้งหลายที่โง่เขลาเหล่านั้นได้พร้อมกันถือเอาสาตราวุธออกไปสู้รบกับยุงในป่า ด้วยเหตุว่า ยุงเป็นศัตรูสำคัญที่เคยขบกัดในเวลาทำการงาน คนเหล่านั้นต่างก็ได้ประหัตประหารฟันแทงซึ่งกันและกัน พากันเจ็บป่วยเป็นอันมาก แล้วพากันกลับมาสู่เคหสถานในเวลาเย็น เมื่อภิกษุทั้งหลายได้เห็นจึงประชุมสนทนากันว่า คนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคนโง่เขลา เมื่อพระบรมศาสดาทรงทราบจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในครั้งแผ่นดินพระเจ้าพรหมทัตอันเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีช่างไม้เป็นอันมากอยู่ในปลายแดนแห่งแคว้นกาสี ช่างไม้คนหนึ่งเป็นคนศีรษะล้าน ในขณะถากไม้อยู่ก็มียุงมากัดศีรษะ จึงบอกให้บุตรช่วยไล่ยุงให้บุตรได้คิดจะฆ่ายุงจึงเอาขวานฟันลงที่ศีรษะของบิดา บิดาก็ถึงซึ่งความตายในขณะนั้น และในขณะนั้นเองมีพ่อค้าคนหนึ่งยืนอยู่ในที่นั้นด้วย เมื่อพ่อค้าคนนั้นเห็นดังนั้น จึงประพันธ์คาถาว่า
เสยฺโย อมิตฺโต มติยา อุเปโต น เตฺวว มิตฺโต มติวิปฺปหีโน
มกสํ วิธิสฺสนฺติ เอลมูโค ปุตฺโต ปิตุ อพฺภิทา อุตฺตมงฺคนฺติ
แปลว่า ข้าศึกที่มีปัญญายังดีกว่ามิตรนี้ไม่มีปัญญา ดูแต่ลูกที่โง่เขลาได้ทำลายศีรษะของบิดาด้วยคิดว่าจะฆ่ายุงเป็นตัวอย่างเถิด ดังนี้
ครั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเรื่องอดีตดังนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พ่อค้าคนนั้น ได้อุบัติมาเป็นเราตถาคตในบัดนี้ ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ธรรมดาคนโง่เขลาถึงคิดจะให้มีประโยชน์แต่กลับเป็นโทษ ด้วยความโฉดเขลาของตน เหมือนกับเรื่องที่แสดงมาแล้วนั้น อันคนโฉดเขลาถึงจะเป็นมิตรก็ไม่ดี สู้ศัตรูที่มีปัญญาไม่ได้ เพราะเหตุว่าศัตรูที่มีปัญญาย่อมไม่ทำความพินาศฉิบหายให้โดยง่าย คือ ธรรมดาผู้มีปัญญาย่อมไม่กล้าที่จะทำความผิด โดยคิดกลัวโทษทุกขภัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ถึงจะเป็นศัตรูของผู้ใดก็ได้แต่เป็นศัตรูด้วยใจหรือกาย วาจาบ้างเล็กน้อยเท่านั้น ดังนี้
“ศัตรูประกอบด้วยปัญญายังดีกว่า มิตรผู้ไม่มีปัญญา
จะดีอะไร เหมือนบุตรของช่างไม้ผู้โง่เขลาคิดว่าจะ
ตียุง ได้ตีศีรษะของบิดาแตกสองเสี่ยง ฉะนั้น.”
มกสชาดกจบฺ