พระบรมศาสดา ได้ทรงปรารภนางโรหิณีผู้เป็นทาสีแห่งอนาถบิณฑิกเศรษฐี มีเรื่องปรากฏมาว่า วันหนึ่งมารดาของนางโรหิณี ได้นอนอยู่ที่โรงกระเดื่อง ในเวลาแมลงวันตอมร่างกาย จึงบอกนางโรหิณีผู้เป็นธิดา ให้ช่วยไล่แมลงวันให้ นางโรหิณีคิดจะฆ่าแมลงวันเหล่านั้น จึงยกเอาสากตีลงไปที่ร่างกายของมารดา มารดาก็ถึงแก่ความตาย เมื่อเศรษฐีทราบเรื่อง จึงได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี เรื่องนี้ได้เคยมีมาแล้วในปางก่อน ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีทาสีของเศรษฐีคนหนึ่งชื่อว่านางโรหิณี เมื่อมารดาซึ่งนอนอยู่ที่โรงตำข้าว ได้มอบให้ช่วยไล่แมลงวันให้ เขาก็ตีมารดาด้วยสากให้สิ้นชีวิตด้วยคิดจะฆ่าแมลงวัน เศรษฐีผู้เป็นนายได้ทราบเรื่องจึงกล่าวว่า
เสยฺโย อมิตฺโต เมธาวี ยญฺเจ พาลานุกมฺปโก
ปสฺส โรหิณิกํ ชมฺมี มาตรํ หนฺตฺวาน โสจตีติ
แปลว่า ศัตรูที่มีปัญญาดีกว่าคนโง่เขลาที่เป็นมิตร อันมีจิตเอ็นดูกรุณา ดูแต่นางโรหิณีผู้ชั่วช้า ซึ่งฆ่ามารดาของตนแล้วโศกเศร้านี้เถิด ดังนี้
ครั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงเรื่องอดีตดังนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า มารดานางโรหิณีในครั้งนั้น ก็ได้มาเกิดเป็นมารดาแห่งนางโรหิณีคนนี้ นางโรหิณีในครั้งนั้น ก็ได้มาเกิดเป็นนางโรหิณีคนนี้ ส่วนเศรษฐีผู้เป็นนาย ได้อุบัติมาเป็นเราตถาคตนี้แล ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นว่า ธรรมดาคนโง่เขลาถึงจะเป็นมิตรก็ไม่ดีไปกว่าศัตรูที่มีปัญญา เพราะอาจทำความพินาศให้แก่คนผู้ที่คบหาสมาคมได้โดยง่ายคนทั้งหลายจึงควรระมัดระวัง เมื่อเห็นว่ามิตรของตนเป็นคนโง่เขลา ก็อย่าไว้ใจให้ทำสิ่งไดแทนตน ถึงจะใช้ก็ให้อยู่ในความควบคุมของตนจึงจะเป็นการดี ดังนี้
“ศัตรูผู้เป็นนักปราชญ์ยังดีกว่า คนโง่เขลา
ถึงเป็นผู้อนุเคราะห์จะดีอะไร ท่านจงดูนาง
โรหิณีผู้โง่เขลา ฆ่ามารดาแล้วเศร้าโศกอยู่.”
โรหิณีชาดกจบ.