๔๘. เวทัพพชาดก (ผู้ปรารถนาประโยชน์โดยไม่แยบคายย่อมเดือดร้อน)

          พระศาสดาทรงปรารภภิกษุผู้มีสันดานดื้อรูปหนึ่งให้เป็นต้นเหตุ แล้วจึงทรงแสดงชาดกนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย มีเรื่องปรากฏมาว่า เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาได้รับคำกราบทูลของภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้มีสันดานดื้อ จึงโปรดให้หาตัวเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจักได้เป็นคนดื้อแต่ในบัดนี้ก็หาไม่ เมื่อก่อนเธอก็เป็นคนดื้อมาแล้วเหมือนกัน ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงเรื่องอดีตให้ฟังว่า ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตผ่านสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีนั้น มีพราหมณ์คนหนึ่ง เป็นผู้มีมนต์อันชื่อว่าเทวทัพพะ ๆ นั้น เป็นมนต์ที่หาค่ามิได้ เพราะเหตุว่าเมื่อพราหมณ์นั้นสาธยายขึ้นในเวลาฤกษ์ดีแล้ว ย่อมมีฝนห่าแก้ว ๗ ประการตกลงมาจากอากาศ พราหมณ์มีศิษย์อยู่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ใกล้ชิดอยู่กับพราหมณ์นั้น อยู่มาคราวหนึ่ง พราหมณ์นั้นได้พาศิษย์ผู้ใหญ่นั้นเดินทางไปเมืองเจตราฐ พอไปถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่งได้ถูกพวกโจร ๕๐๐ จับตัวไว้ แล้วปล่อยศิษย์ให้ไปหาเงินมาเพื่อไถ่ตัว เมื่อศิษย์จะลาไปได้สั่งอาจารย์ไว้ว่า ขอท่านอาจารย์อย่าสาธยายมนต์นั้นเป็นอันขาด ถึงแม้ว่าพวกโจรจะทำให้อาจารย์ลำบากสักเพียงไรก็ตาม ท่านอาจารย์จงอดทนไว้จนกว่าข้าพเจ้าจะกลับ เมื่อสั่งอาจารย์อย่างนี้แล้วก็กราบลาไป เพื่อจะแสวงหาทรัพย์มาไถ่อาจารย์

          เมื่อตะวันตกแล้ว พวกโจรก็มัดพราหมณ์ให้นอนในที่แจ้งแห่งหนึ่ง พราหมณ์นั้นพอเห็นพระจันทร์ตั้งขึ้นมาในทิศตะวันออก ก็แลดูอากาศเห็นว่าเป็นฤกษ์ที่ฝนห่าแก้ว ๗ ประการจะตกลงมาได้จึงคิดแต่ในใจว่า เราจะมานอนทนลำบากอยู่อย่างนี้ทำไม เราควรจะสาธยายมนต์เรียกฝนห่าแก้วลงมาไถ่ตัวเรา จะเป็นการดี ครั้นคิดแล้วจึงถามพวกโจรว่า ท่านทั้งหลายจับข้าพเจ้าไว้เพื่อประโยชน์อะไร พวกโจรจึงตอบออกไปว่า เพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์ พราหมณ์จึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นพวกเจ้าจงแก้เราเถิด หาน้ำมาให้เราชำระเกล้า หาเครื่องนุ่งห่มใหม่มาให้เรานุ่งห่ม หาเครื่องหอมมาให้เราลูบไล้ร่างกาย จัดที่นั่งอันสมควรให้เรานั่งตามสบาย เราจะนั่งสาธยายมนต์ให้ห่าฝนแก้วตกลงมา ให้แก่ท่านทั้งหลายตามปรารถนา เมื่อพวกโจรได้ฟังดังนั้นก็ปรีดาปราโมทย์ ด้วยหวังประโยชน์ในทรัพย์ศฤงคาร จึงแก้พราหมณ์ออกจากเครื่องพันธนาการ พร้อมกับทำตามคำของพราหมณ์ทุกอย่าง เมื่อพราหมณ์เห็นว่าฤกษ์ดีแล้วจึงร่ายมนต์อันนั้นขึ้น เมื่อจบแล้วก็แลดูขึ้นไปบนอากาศ ขณะนั้นฝนห่าแก้ว ๗ ประการก็ตกลงมาจากอากาศ พวกโจรก็พากันเก็บเอาแก้ว ๗ ประการนั้นเต็มตามความประสงค์ทุกคน แล้วก็พาพราหมณ์เดินทางต่อไป ได้ไปพบโจรอีกพวกหนึ่งซึ่งมีประมาณ ๕๐๐ เท่ากัน ก็ได้เกิดต่อสู้กันขึ้นโดยความเก่งกาจ ในที่สุดโจรพวกใหม่ก็ได้ชัยชนะจับโจรพวกเก่าได้ทั้งสิ้น โจรพวกเก่าจึงบอกว่า ถ้าท่านทั้งหลายจะต้องการทรัพย์ จงอย่าจับพวกข้าพเจ้าเลย เพราะทรัพย์ที่พวกข้าพเจ้าได้มานี้ เป็นทรัพย์ของพราหมณ์นี้ทั้งสิ้น คือพราหมณ์คนนี้มีมนต์เสกเอาทรัพย์ได้ เมื่อเขาร่ายมนต์แลขึ้นดูบนอากาศแล้วทรัพย์ย่อมตกลงมาดุจห่าฝน พวกข้าพเจ้าจะมอบพราหมณ์คนนี้ให้แก่พวกท่านทั้งหลาย เมื่อโจรพวกใหม่เชื่อถือยอมรับเอาพราหมณ์นั้นไว้ พวกโจรเก่าก็ลาไปฝ่ายพวกโจรใหม่จึงบังคับให้พราหมณ์นั้นร่ายมนต์เอาทรัพย์ พราหมณ์บอกว่าสำหรับในปีนี้มีฤกษ์ที่ร่ายมนต์เอาทรัพย์ได้เพียงสองหน คือ ต้นปีกับปลายปีเท่านั้น เมื่อท่านทั้งหลายต้องการทรัพย์ก็จงรอไปถึงปลายปีเถิด เราจึงจักร่ายมนต์เอาทรัพย์ให้ท่านทั้งหลายได้ เมื่อพวกโจรได้ฟังดังนั้นก็โกรธตวาดออกไปว่า เฮ้ยอ้ายพราหมณ์ถ่อย แกร่ายมนต์เอาทรัพย์ให้แก่โจรพวกก่อนในเดี๋ยวนี้เอง ส่วนพวกเราจักต้องให้รอไปถึงปลายปีเป็นอันเสียเวลาเปล่า พวกเราหาเชื่อฟังไม่ ว่าแล้วก็ฟันพราหมณ์นั้นด้วยดาบขาดเป็นสองท่อน ทิ้งศพไว้ริมทางแล้วรีบติดตามโจรพวกก่อนไป เมื่อไปทันก็เกิดสู้รบกัน ต่างฝ่ายต่างล้มตายเป็นอันมาก ยังเหลืออยู่เพียง ๒๕๐ คน ในไม่ช้า ๒๕๐ คนนั้นก็เกิดรบพุ่งแย่งทรัพย์กันอีก มีเหลือตายอยู่เพียงสองคน ทั้งสองคนนั้นได้พากันขนเอาทรัพย์ไปซ่อนไว้ในป่าใกล้หมู่บ้านตำบลหนึ่ง แล้วใช้ให้คนหนึ่งเข้าไปหุงข้าวในบ้าน อีกคนหนึ่งอยู่เฝ้าทรัพย์ ทั้งสองคนนั้นต่างก็มีความโลภอยากได้ทรัพย์แต่ตัวผู้เดียว คนที่เฝ้าทรัพย์จึงคิดว่าเมื่อโจรคนหุงข้าวกลับมาจากบ้านเราจักแอบฟันเสียให้ตาย ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็จักต้องแบ่งทรัพย์ออกเป็น ๒ ส่วน ซึ่งไม่สมควรแก่เราผู้เป็นโจรอันแกล้วกล้า ฝ่ายโจรคนที่เข้าไปหุงข้าวในบ้านก็ดุร้ายเหมือนกัน คือเขาคิดว่าเราควรจะเอายาพิษใส่หม้อข้าวไปให้เจ้าคนที่เฝ้าทรัพย์นั้นกินตายเสีย แล้วเราจะได้รวบรวมเอาทรัพย์แต่คนเดียว ครั้นคิดแล้ว ก็เอายาพิษใส่ลงในหม้อข้าว เมื่อหุงสุกแล้วก็ถือหม้อข้าวออกไป พอไปจวนจะถึงที่ฝังทรัพย์ ก็ถูกฟันตายอยู่ในที่นั้น เมื่อโจรคนที่เฝ้าทรัพย์ได้ฆ่าเพื่อนตายแล้ว ก็มีความดีใจเป็นอันมากด้วยสมเจตนาที่คิดไว้ จึงจัดแจงกินข้าวต่อไป เมื่อกินอิ่มหนำดีแล้ว ในไม่ช้าก็ถึงซึ่งความตายด้วยกำลังยาพิษนั้น เป็นอันว่าโจรทั้งพันคนนั้นได้สิ้นชีวิตเพราะพราหมณ์เป็นต้นเหตุ

          ฝ่ายลูกศิษย์ที่ไปเที่ยวแสวงหาทรัพย์มาไถ่นั้น ครั้นล่วงมาได้ ๒-๓ วัน ก็นำทรัพย์กลับมาแต่มิได้เห็นอาจารย์อยู่ในสถานที่นั้น เห็นแต่สิ่งของกระจัดกระจายอยู่ก็สันนิษฐานว่า ชะรอยท่านอาจารย์จะไม่ทำตามคำของเรา คงร่ายมนต์ให้ฝนทรัพย์ตกลงมาเป็นแน่นอน ทำให้ตนกับพวกโจรได้พบความพินาศเป็นแม่นมั่น ครั้นคิดแล้วจึงเดินทางต่อไป ไม่ช้าก็ได้พบศพอาจารย์ซึ่งถูกฟันขาดเป็น ๒ ท่อนตายอยู่ริมมรรคา จึงคิดว่า อาจารย์เราไม่ทำตามคำสั่งของเรา จึงได้ถึงความตายลงเช่นนี้ แล้วก็จัดการเผาศพอาจารย์ พร้อมด้วยหาดอกไม้มาทำสักการบูชา แล้วออกเดินทางไปได้พบศพโจร ๕๐๐ แล้วพบอีก ๒๕๐ คนแล้วไปพบอีก ๒ คน แล้วก็เก็บเอาทรัพย์แห่งโจร ๒ คนที่ตายอยู่ แล้วจึงกล่าวเป็นคำสอนไว้ว่า

อนุปาเยน   โย   อตฺถํ      อิจฺฉติ   โส   วิหญฺญติ

เจตา   หนึสุ   เวทพฺพํ        สพฺเพ   เต   พฺยสนมชฺฌคุนฺติ

          แปลว่า ผู้ใดต้องการความเจริญโดยหาอุบายไม่ได้ผู้นั้นย่อมเดือดร้อน โจรชาวเจตราฐทั้งหลายได้ฆ่าพราหมณ์ผู้มีนามว่าเวทัพพะ แล้วพากันถึงซึ่งความพินาศสิ้น ดังนี้ ในขณะนั้น เทพยดาทั้งหลายต่างก็ได้สรรเสริญยินดีต่อถ้อยคำที่เป็นสุภาษิตนี้ ส่วนศิษย์ผู้กล่าวสุภาษิตนี้ได้จัดแจงนำเอาทรัพย์ไปสู่บ้านเรือนของตนแล้วบำเพ็ญทานเป็นต้นอยู่จนตลอดชีวิต

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาแสดงจบลงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า เวทัพพพราหมณ์ ในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นภิกษุผู้ว่ายากในบัดนี้ ส่วนศิษย์ของพราหมณ์นั้น คือเราตถาคตนี้เอง ดังนี้ ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า การทำสิ่งใดทั้งหมดย่อมเกี่ยวกับปัญญาอุบายทั้งนั้น ถ้าไม่มีอุบายปัญญาถึงจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็ย่อมกลับได้รับโทษในภายหลัง เพราะฉะนั้นคนเราทุกคนเมื่อจะทำ จะพูด จะคิดสิ่งใดต้องพิจารณาผลได้ผลเสียให้รอบคอบก่อน อย่าด่วนทำ ด่วนพูด ด่วนคิด ต้องพิจารณาหน้าหลังให้รอบคอบ เมื่อเห็นว่าจะไม่มีผลร้ายภายหลังจึงค่อยทำ ค่อยพูด ค่อยคิดในเวลาทำ เวลาพูด เวลาคิด ก็ให้มีสติสัมปชัญญะ คือความระมัดระวังประจำอยู่เสมอสิ่งที่ทำ คำที่พูด เหตุที่คิดนั้น จึงจะไม่พลั้งผิดเสียหาย ตัวอย่างดังบุคคลจะเดินทางต้องคิดให้ตลอดก่อนว่า การเดินทางนั้นจะยากง่ายเพียงไร มีภัยอันตรายแล้ว เราควรจะทำอย่างไรในเวลาเดินทางนั้น ดังนี้เป็นต้น รวมใจความว่า เมื่อคนใดมีปัญญาออกหน้า ใช้สติสัมปชัญญะกำกับ คนนั้นย่อมไม่พลาดท่าเสียที ถึงอันตรายจะเกิดมีก็หลีกเลี่ยงได้ โดยเหตุนี้ขอจงจำข้อนี้ไว้เป็นเครื่องปฏิบัติ กล่าวโดยรวบรัดว่า ในเวลาจะทำ จะพูด จะคิด อย่าใช้ความโลภ ความโกรธ ความเกลียด ความโง่ออกหน้า จงทำใจให้เย็นแล้วให้ปัญญาออกหน้า ใช้สติสัมปชัญญะกำกับไป จึงจะได้รับผลอันดีปราศจากโทษทุกขภัยโดยประการทั้งปวง ด้วยประการฉะนี้

“ผู้ใดปรารถนาประโยชน์ โดยอุบายอัน

ไม่แยบคาย ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนเหมือน

พวกโจรชาวเจติรัฐ ฆ่าเวทัพพพราหมณ์

แล้วพากันถึงความพินาศหมดสิ้น ฉะนั้น.”

เวทัพพชาดกจบ.