พระบรมศาสดาได้ทรงปรารภอุบาสกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้รอบรู้ในผลไม้ แล้วจึงแสดงชาดกเรื่องนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย มีเรื่องปรากฏมาว่า มีกุฎุมพีชาวกรุงสาวัตถีคนหนึ่ง ได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประธานให้ไปสู่บ้านของตน ถวายอาหารเสร็จแล้วจึงนิมนต์ให้พระสงฆ์ไปเที่ยวชมสวน นายอุทยานจึงชี้ผลไม้อันอ่อน แก่ ห่ามและสุก ซึ่งอยู่บนต้นไม้ให้ภิกษุทั้งหลายดูได้ถูกต้องทุกผล เมื่อกลับจากเที่ยวชมสวนแล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงสรรเสริญนายอุทยานนั้นว่า เป็นผู้ฉลาดในการดูผลไม้ ถวายแด่สมเด็จพระบรมศาสดาให้ทรงทราบ พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ฉลาดในผลไม้อย่างนี้ได้มีมาแล้วแต่ปางก่อน หาได้มีแต่นายอุทยานคนเดียวนี้ไม่ ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีพ่อค้าเกวียนคนหนึ่งได้พาบริวารไปค้าขายต่างประเทศ พ่อค้าคนนั้น ก่อนแต่จะออกเดินทางได้สั่งสอนบริวารทั้งหลายให้ระวังการกินโดยกวดขันและสั่งสอนไว้ว่า สิ่งใดยังไม่เคยกินถ้าประสงค์จะกินจงบอกเราให้ทราบก่อน ครั้นสั่งสอนบริวารอย่างนี้แล้วก็ออกเดินทางต่อไป ได้ไปพักอยู่ใกล้ต้นไม้ต้นหนึ่งซึ่งกำลังมีผลสุกอยู่เต็มต้นอยู่ใกล้ตำบลบ้านแห่งหนึ่ง ต้นไม้นั้นมีผล ต้น กิ่ง และใบ เหมือนกับมะม่วงทุกอย่าง เมื่อพวกบริวารแจ้งให้ทราบจึงไปตรวจดู ก็รู้ได้ทันทีว่าไม่ใช่มะม่วงอย่างที่เคยปรากฏมีมา จึงห้ามบริวารทั้งหลายไม่ให้กินผลไม้นั้น แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นผลไม้อะไร
ในเวลาเช้าขึ้น พวกชาวบ้านนั้นก็พากันหลั่งไหลออกมา โดยหวังว่าพวกพ่อค้าเกวียนนั้นคงพากันตายหมด ด้วยพากันกินผลไม้นั้น แล้วพวกตนจักได้เก็บเอาทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองดังที่เคยมาแต่ปางก่อน เมื่อออกมาเห็นพวกพ่อค้าเหล่านั้นยังดีอยู่จึงถามว่า เหตุไรท่านทั้งหลายจึงไม่พากันกินผลไม้นี้ให้เป็นสุขสบายเล่า พ่อค้าเกวียนจึงตอบว่า
นายํ รุกฺโข ทุรารุโห นปิ คามโต อารกา
อาการเกน ชานามิ นายํ สาทุผโล ทุโมติ
แปลว่า ต้นไม้นี้ขึ้นในที่ไม่ไกลไม่ห่างจากหมู่บ้าน แต่ไม่มีผู้ใดมาเก็บกินผลเราจึงรู้ว่าต้นไม้นี้มีผลเป็นพิษ ไม่ใช่ต้นไม้มีผลอันมีรสอร่อย เมื่อกล่าวดังนี้แล้วก็ได้เดินทางต่อไป ดังนี้
ครั้นพระบรมศาสดาได้ตรัสเรื่องอดีตนี้จบลงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พ่อค้าเกวียนที่เป็นบริวารทั้งหลายในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ส่วนพ่อค้าเกวียนที่เป็นหัวหน้านั้น ได้อุบัติมาเป็นเราตถาคตในบัดนี้ ดังนี้ ในชาดกนี้เป็นเครื่องเตือนสติอันดีในการกินอยู่ทุกประการ เพื่อไม่ให้ได้รับโทษจากอาหาร ดังนี้
“ต้นไม้นี้ขึ้นก็ไม่ยาก ทั้งอยู่ไม่ไกลบ้าน เราจึงรู้ได้
ด้วยเหตุนี้ว่า ต้นไม้นี้ไม่ใช่ต้นไม้มีผลอร่อย”
ผลชาดกจบ