พระบรมศาสดาได้ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่งให้เป็นต้นเหตุ มีเรื่องราวมาว่า มีกุลบุตรผู้หนึ่ง ครั้นอุปสมบทแล้ว เมื่อได้ฟังพระอุปัชฌาย์อาจารย์ชี้แจงเรื่องศีลให้ฟังเป็นอันมากก็เกิดท้อใจ จึงหวนคิดจะลาสมณเพศออกไปบำเพ็ญบุญอยู่ในทางฆราวาส แล้วเข้าไปลาอุปัชฌาย์อาจารย์ ๆ จึงนำภิกษุนั้นไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อพระองค์ทราบเหตุนั้น จึงตรัสติเตียนพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของภิกษุรูปนั้นว่า เหตุไรเธอทั้ง ๒ จึงต้องชี้แจงเรื่องศีลเป็นอันมากแก่ภิกษุรูปนี้โดยเร็วพลันต่อนี้ไปเธอทั้ง ๒ อย่ากล่าวสิ่งใดแก่ภิกษุรูปนี้อีก เราตถาคตจะรับเป็นธุระ แล้วจึงตรัสถามภิกษุนั้นว่า เธอจะรักษาศีลเพียง ๓ ประการได้หรือไม่ ภิกษุนั้นจึงกราบทูลว่าได้ แล้วพระองค์จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นเป็นการดีแล้ว ต่อแต่นี้ไปเธอจงรักษาแต่กาย วาจา ใจเท่านั้น อย่าทำความชั่วเสียหายด้วยกาย วาจา ใจ ภิกษุรูปนั้นก็ยินดีกระทำตาม เมื่อปฏิบัติไปจึงรู้สึกว่าศีลทั้งหลายที่พระอุปัชฌาย์อาจารย์ชี้แจงให้ฟังนั้น ล้วนแต่รวมอยู่ที่กาย วาจา ใจนี้เอง ต่อมาไม่ช้าก็เจริญวิปัสสนาได้สำเร็จซึ่งพระอรหัตผล ครั้นต่อมาภิกษุทั้งหลายได้ประชุมสนทนากันในธรรมสภาว่า สมเด็จพระบรมศาสดา เป็นผู้ทรงเฉลียวฉลาดในการทำของหนักให้เป็นของเบา เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะฉลาดทำของหนักให้กลับเป็นของเบาขึ้น แต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ถึงในปางก่อนก็เคยฉลาดมาแล้วเหมือนกัน ครั้นแล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตต่อไปว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีบุรุษคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวนาไปทำนาอยู่ที่แห่งหนึ่งซึ่งเคยเป็นบ้านเก่าของเศรษฐีในกาลก่อน เศรษฐีได้ฝังทองแท่งใหญ่ประมาณเท่าขา ยาว ๕ ศอกไว้ในที่แห่งหนึ่งแล้วทำกาลกิริยาตาย มื่อชายคนนั้นได้ไถนาไปถึงในที่นั้นไถของเขาก็ไปโดนแท่งทองเข้า เขาจึงขุดเอาขึ้นมาแล้วไถนาต่อไป ในเวลาตะวันตกก็ปลดไถเก็บไว้ในที่สมควร แล้วจัดการยกแท่งทองขึ้น โดยคิดว่าจะแบกไปบ้านแต่ไม่อาจจะยกขึ้นได้จึงนั่งตรองหาอุบายอยู่ เมื่อตรองไปก็คิดได้ว่าเราจะแบ่งทองนี้ออกเป็น ๔ ส่วน คือ จะจับจ่ายเลี้ยงชีวิตส่วนหนึ่ง จักเก็บไว้ส่วนหนึ่ง จักลงทุนการงานส่วนหนึ่ง จักทำบุญส่วนหนึ่ง เมื่อคิดตกลงใจอย่างนี้แล้วก็ยกทองแท่งนั้นขึ้นบ่าได้เหมือนกับเป็นของเบา เขาได้แบกทองแท่งนั้นไปจนถึงเคหสถานแล้วจัดแบ่งสันปันส่วนให้เป็น ๔ ประเภทตามเจตนาที่คิดไว้ เมื่อบุรุษนั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ไปตามบุญกรรมของตน
ครั้นสมเด็จพระทศพลทรงแสดงเรื่องอดีตนี้จบลงแล้วจึงตรัสว่า โสปหฏฺเฐนจิตฺเตน เป็นอาทิ แปลว่า ผู้ใดมีใจโสมนัส ร่าเริงยินดี ปราศจากนิวรณ์ราคี ตั้งหน้าเจริญธรรมอันเป็นกุศลเพื่อบรรลุผล คือความปลอดโปร่งจากกิเลสเครื่องร้อยรัด ผู้นั้นย่อมถึงความสิ้นไปแห่งกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงได้โดยลำดับ ดังนี้แล้ว พระองค์จึงทรงประชุมชาดกว่า บุรุษชาวนาผู้ได้ทองคราวนั้น ครั้นจำเนียรกาลนานมาก็อุบัติมาเป็นเราตถาคตนี้แล ในชาดกนี้แสดงให้เห็นว่าอุบายที่จะทำความหนักใจให้เป็นความเบาใจขึ้น ย่อมมีหลายอย่างตามเหตุการณ์ แต่ใจความมีว่าหนักใจในเรื่องใดควรคิดแก้ไขให้เบาใจในเรื่องนั้น โดยอุบายอันใดอันหนึ่งให้จงได้ เมื่อแก้ไขการหนักใจได้แล้ว จึงจะทำสิ่งอื่นให้สำเร็จต่อไป เหมือนอย่างบุรุษได้แท่งทองซึ่งแสดงเป็นตัวอย่างนั้น ในชาดกนี้เป็นแบบสำหรับเป็นเครื่องคิดเทียบเคียงของคนทั้งหลายต่อไป แต่สำหรับผู้ที่ไม่ฉลาดในอุบาย เมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้นมักหนักใจในสิ่งนั้น ส่วนผู้ฉลาดในอุบายย่อมไม่รู้สึกหนักใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด เหมือนนางวิสาขากับบิดาสามีเป็นตัวอย่าง มีใจความว่า เมื่อแต่งงานนางวิสาขาซึ่งเป็นลูกสาวเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาเกตกับลูกชายแห่งเศรษฐีคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเมืองสาวัตถี เวลาที่ส่งตัวนางวิสาขาให้ไปอยู่ในตระกูลของสามี ได้มีบ่าวไพร่บริวารของนางติดตามไป นับจำนวนด้วยร้อย ด้วยพัน ข้างบิดาของสามีก็หนักใจในการจะเลี้ยงดูคนเหล่านั้นจึงได้ไล่คนเหล่านั้นกลับไปเสีย ฝ่ายนางวิสาขาผู้เป็นสะใภ้จึงคัดค้านว่า อย่าให้เขากลับไปเลย เมื่อเขาสมัครจะอยู่ด้วยก็ให้มาตามใจสมัครเถิด เราไม่ต้องหนักใจในเรื่องที่จะเลี้ยงดูเขา เพราะธรรมดาคนเราต่างก็มีมือมีเท้าด้วยกันทุกคน ย่อมรู้จักการทำมาหาเลี้ยงตัวเองไปตามสติกำลัง เมื่อบิดาของสามีได้ฟังก็เห็นดีด้วยจึงอนุญาตให้บ่าวไพร่เหล่านั้นติดตามไปกับนางวิสาขาด้วย เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างที่จะแนะนำบุคคลให้รู้จักคิดแก้ไขความหนักใจ ดังนี้
นรชนใดมีจิตร่าเริง มีใจเบิกบาน เจริญกุศลธรรม เพื่อ
บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ นรชนนั้นพึง
บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งปวงได้โดยลำดับ.
กัญจนักขันธชาดกจบ.