พระบรมศาสดาได้ทรงปรารภภิกษุผู้มีสันดานว่ายากรูปหนึ่งให้เป็นเหตุ แล้วตรัสเทศนาชาดกเรื่องนี้ต่อไปว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีนักตีกลอง ๒ คนพ่อลูกอยู่ที่บ้านตำบลหนึ่งซึ่งมีในแขวงกรุงพาราณสี ถึงเวลานักขัตฤกษ์ประจำปี นักตีกลอง ๒ คนพ่อลูกนั้นก็ได้นำกลองไปตีในที่เล่นมหรสพต่าง ๆ ในกรุงพาราณสี เมื่อได้ทรัพย์แล้วก็พากันกลับไป ส่วนบุตรเมื่อมาถึงกลางป่าแห่งหนึ่งซึ่งมีพวกโจรซ่องอยู่ จึงตีกลองกระชั้นขึ้นเพื่อจะขู่พวกโจรให้หนีไป เมื่อพวกโจรได้ฟังครั้งแรก เข้าใจว่าเป็นกลองแห่เสด็จพระราชาก็ได้พากันวิ่งหนีไป ส่วนบิดาได้สอนบุตรว่า อย่าตีกลองให้กระชั้นจงตีให้เป็นระยะจังหวะเหมือนกับกลองแห่นำเสด็จ แต่บุตรไม่เชื่อฟังขืนตีกลองกระหน่ำใหญ่ พวกโจรเข้าใจว่าไม่ใช่เสียงกลองแห่นำเสด็จ จึงพากันกลับมา เมื่อแอบดูเห็นแต่ ๒ คนพ่อลูกพากันเดินมาตามมรรคา จึงตรูกันเข้าไปจับทุบตีให้บอบช้ำแล้วเอาทรัพย์ไปเสีย เมื่อหมู่โจรลับตาไปแล้วบิดาจึงกล่าวแก่บุตรว่า เราได้ทรัพย์ด้วยความเหนื่อยยาก แต่ได้เสียทรัพย์ไปทั้งเจ็บร่างกายก็เพราะเจ้าไม่ฟังคำบิดาขืนตีกลองไม่เป็นจังหวะ ครั้นกล่าวดังนี้แล้วจึงกล่าวต่อไปว่า
ธเม ธเม นติธเม อติธนฺตํ หิ ปาปกํ
ธนนฺเตน สตํ ลทฺธํ อติธนฺเตน นาสิตํ
แปลว่า เจ้าจะตีกลองก็ตีเถิด แต่อย่าตีให้มากเกินไป เพราะว่าการตีมากเกินไปย่อมเกิดโทษ ทรัพย์ ๑๐๐ กหาปณะที่เราได้มานี้ก็ได้มาด้วยการตีกลองแต่ได้พินาศไปเพราะการตีมากเกินไป ดังนี้
ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาแสดงเรื่องอดีตจบลงดังนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า บุตรของคนตีกลองในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นภิกษุผู้ว่ายากคนนี้ ส่วนบิดานั้น ได้มาเกิดเป็นเราตถาคตนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่พูดมากเกินไปและพูดไม่เป็นระยะจังหวะย่อมได้รับโทษจากการพูด ถ้าพูดแต่พอประมาณไม่มากไม่น้อยเกินไปทั้งพูดเป็นระยะจังหวะสละสลวย ย่อมได้รับประโยชน์จากการพูดโดยเหตุนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงจำไว้เป็นคติสอนตนและบุคคลอื่นสืบต่อไปเริ่มแต่หัดทารกทาริกาที่กำลังสอนพูด เป็นต้น ให้เป็นคนรู้จักประมาณในการพูดให้พูดสละสลวยเป็นระยะจังหวะ อย่าให้ลุกลี้ลุกลนจนฟังไม่ได้เรื่อง เพื่อจะได้ประโยชน์แห่งการเจรจา ถ้าไม่อย่างนั้นจะได้รับโทษ เหมือนกับเรื่องตีกลองไม่เป็นจังหวะตามที่แสดงมานี้ ดังนี้
“ท่านจะตีก็พึงตีเถิด แต่อย่าตีให้เกินประมาณ เพราะการตีเกิน
ประมาณเป็นการชั่วช้าของเรา ทรัพย์ที่เราได้มาตั้งร้อยเพราะ
ตีกลอง ได้ฉิบหายไป เพราะท่านตีกลองเกินประมาณ.”
เภริวาทชาดกจบ.