๖๐. สังขธมนชาดก (ว่าด้วยการทำเกินประมาณ)

          พระบรมศาสดาได้ทรงปรารภภิกษุหัวดื้อรูปหนึ่ง แล้วทรงแสดงเรื่องอดีตว่าในอดีตกาลล่วงแล้วมา ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีมีนักเป่าสังข์อยู่ตระกูลหนึ่ง นักเป่าสังข์ตระกูลนั้นอยู่ตำบลหนึ่ง เมื่อมีการเล่นนักขัตฤกษ์ประจำปีในกรุงพาราณสี ก็พาบุตรนำสังข์ไปเป่าในที่เล่นมหรสพต่าง ๆ เมื่อได้ทรัพย์ค่าจ้างแล้วก็พาบุตรกลับมา เมื่อมาถึงดงแห่งหนึ่งซึ่งมีโจรซ่องสุมอยู่จึงเป่าสังข์กระชั้นมิได้ขาดเสียง บุตรจึงห้ามและให้เป่าเป็นจังหวะ แต่บิดาไม่เชื่อฟังกลับพูดว่า ข้าจะเป่าให้นายโจรหนีไป ว่าแล้วก็เป่าสังข์ขึ้นถี่ ๆ เมื่อพวกโจรได้ยินเสียงสังข์ ก็พากันมาโบยตีแย่งชิงเอาทรัพย์ไป เหมือนกับในชาดกก่อน เมื่อพวกโจรหนีไปแล้ว บุตรจึงเตือนบิดาว่า

ธเม   ธเม   นาติธเม    อติธนฺตํ   หิ   ปาปกํ

ธนฺเตนาธิคตา   โภคา      เต   ตาโต   วิธมี   ธมนฺติ

          แปลว่า บิดาจะเป่าสังข์ก็จงเป่าตามประสงค์เถิด แต่อย่าเป่าให้เกินประมาณเพราะเหตุว่าการเป่าเกินประมาณ  ย่อมเป็นการเสื่อมเสีย ทรัพย์ที่ได้มานี้ล้วนแต่ได้มาด้วยการเป่าสังข์ก็จริง แต่ก็ได้พินาศไปเพราะเหตุที่เป่าสังข์เกินไป ดังนี้

          ในชาดกนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นชัดว่า การเจรจาปราศรัยหรือกล่าวสิ่งใด เมื่อเกินประมาณไปก็เป็นของไม่ดีมีแต่จะให้โทษ ไม่มีประโยชน์แก่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่าให้มากให้น้อยเกินไปจึงจะได้รับผลดี อีกประการหนึ่ง ต้องให้รู้จักเวลาถ้าไม่รู้จักเวลาก็ให้โทษ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้โปรดประทานพุทธโอวาทไว้ว่า วาจาย   สํวโร   สาธุ   การระวังวาจาย่อมเป็นการดี ดังนี้ ในพุทธโอวาทข้อนี้มีอรรถาธิบายว่า ถ้าบุคคลไม่ระวัง วาจา กล่าวคือ อยากพูดสิ่งใดก็พูดไปตามประสงค์ ไม่เลือกว่าควรหรือไม่ควร ทั้งไม่รู้จักเวลาว่าเป็นเวลาที่สมควรพูดหรือไม่วาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่ไร้ประโยชน์ มีแต่จะให้โทษแก่บุคคลผู้เจรจาฝ่ายเดียว ถ้าพูดแต่พอประมาณให้ถูกต้องตามกาลเวลาย่อมนำมาซึ่งประโยชน์ โดยเหตุนี้ขอท่านทั้งหลายผู้เห็นโทษแห่งการไม่ระวังวาจา และเห็นคุณแห่งการระวังวาจาจงถือพระพุทธโอวาทข้อนี้ไว้สำหรับปฏิบัติสืบต่อไป ดังนี้

“ท่านจะเป่าก็จงเป่าเถิด แต่อย่าเป่าให้เกินประมาณ เพราะการ

เป่าเกินประมาณเป็นการชั่วช้าของเราโภคะที่เราได้มาเพราะ

การเป่าสังข์ได้ฉิบหายไป เพราะท่านเป่าสังข์เกินประมาณ.”

สังขธมนชาดกจบ.

…………………………………………………………………

จบอาสิงสวรรค