๖๖. มุทุลักขณชาดก (ว่าด้วยความต้องการไม่มีสิ้นสุด)

          พระบรมศาสดาได้ทรงปรารภซึ่งสิ่งที่ทำให้บุคคลเศร้าหมอง แล้วทรงแสดงชาดกเรื่องนี้ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ มีเรื่องว่า มีกุลบุตรผู้หนึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาออกบวชในพุทธศาสนา ครั้นได้บวชแล้วก็ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติอยู่ในกัมมัฏฐานเป็นนิตยกาล ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุนั้นไปเที่ยวบิณฑบาตได้เห็นสตรีคนหนึ่งประดับร่างกายด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ ได้แลดูสตรีนั้นด้วยความรักใคร่พอใจ จำเดิมแต่นั้นมาภิกษุนั้นก็ไม่ยินดีในทางสมณธรรมเหมือนก่อนมีความร้อนด้วยกิเลสอยู่เสมอ เมื่อภิกษุทั้งหลายทราบเรื่อง จึงพาภิกษุนั้นไปเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลเรื่องให้ทรงทราบ พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุเธอเสียอินทรีย์สังวรเพราะเห็นสตรีนั้นยังไม่เป็นการอัศจรรย์ เพราะเธอยังไม่ได้ธรรมวิเศษอันใด แต่บุคคลผู้ได้ธรรมวิเศษ คือ อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ แล้ว ก็ยังเสื่อมจากฌาน ด้วยอำนาจแลดูวิสภาคารมณ์ นับว่าเป็นการอัศจรรย์ยิ่งกว่าเธอ ก็แลพายุอันแรงกล้าย่อมพัดสิ่งทั้งปวงโดยไม่เลือกฉันใด กิเลสทั้งหลายก็พัดจิตใจของบุคคลโดยไม่เลือกหน้าฉันนั้น โดยเหตุนี้กิเลสจึงทำให้เธอตกอยู่ในอำนาจ ครั้นตรัสดังนี้แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตไปว่า

          ในอดีตกาลล่วงแล้วแต่ปางหลัง ครั้นพระเจ้าพรหมทัตเถลิงถวัลยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ครั้งนั้น มีบุตรแห่งพราหมณ์มหาศาลคนหนึ่งออกบวชเป็นดาบสเจริญพรตอยู่ในหิมวันตประเทศจนได้ธรรมวิเศษ คือ อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น อยู่มาวันหนึ่ง ดาบสนั้นได้เหาะมาจากป่าหิมพานต์บรรลุถึงกรุงพาราณสี เข้าอาศัยอยู่ในพระราชอุทยานแห่งจอมภูมิบาลพรหมทัตรุ่งเช้าขึ้นก็ได้เข้าไปบิณฑบาตในพระนคร ผ่านไปทางพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพรหมทัต ๆ ได้ทอดพระเนตรเห็นก็ทรงเลื่อมใสในอิริยาบถ จึงโปรดให้ราชบุรุษไปนิมนต์มา อาราธนาให้นั่งบนอาสนะอันมีค่ามาก ทรงถวายอาหารให้ฉันอิ่มหนำสำราญแล้วก็ทรงอาราธนาให้อยู่ในพระราชอุทยาน และให้เข้ามาฉันในพระราชวังต่อไปทุกวันวาร ดาบสนั้นก็รับคำอาราธนาของท้าวเธอได้ถวายพระพรลากลับไปพักอยู่ในพระราชอุทยาน พอถึงเวลาเช้าก็เข้าไปฉันในพระราชวัง และให้โอวาทสั่งสอนแก่ราชตระกูลทั้งปวงจนล่วงมาได้ ๑๕ พรรษา

          เผอิญมีพระราชกรณียกิจเกิดแก่พระเจ้าพรหมทัต ผู้เป็นมหิสราธิปัตย์ในกรุงพาราณสี กล่าวคือ พระองค์จะทรงเสด็จยาตราทัพออกไปปราบปัจจันตชนบทที่กำเริบ จึงรับสั่งพระอัครมเหสีผู้ทรงพระนามว่ามุทุลักขณาให้ปฏิบัติพระดาบสแทนพระองค์ ในเวลาที่พระดาบสเข้ามาฉันจนกว่าพระองค์จะเสด็จกลับ รับสั่งแล้วก็เสด็จเคลื่อนพยุหโยธาทัพไป จำเดิมแต่นั้นมาพระดาบสก็เข้าไปฉันในพระราชนิเวศน์ตามชอบใจของตน มิได้จำกัดเวลาเหมือนเมื่อพระราชาประทับอยู่ อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อพระนางมุทุลักขณาราชเทวีตกแต่งอาหารไว้เสร็จแล้ว จึงดำริว่าวันนี้พระผู้เป็นเจ้าเห็นจะมาแล้ว พระนางจึงทรงสรงพระองค์โดยสุคนโธทกาวารีเสร็จแล้วประดับพระองค์ด้วยเครื่องอลังการทรงบรรทมทอดพระเนตรดูทางที่พระดาบสจะมา ฝ่ายพระดาบสกำหนดเวลาว่า สมควรจะเข้าไปฉันในพระราชวังแล้วจึงเข้าฌานสมาบัติเหาะไปสู่พระราชนิเวศน์ พอพระนางมุทุลักขณาราชเทวีได้ทรงสดับเสียงผ้าเปลือกไม้ที่ดังมาบนอากาศ ก็ทรงทราบว่าพระดาบสมา จึงรีบเสด็จลุกจากพระแท่นที่บรรทมโดยเร็วพลัน ส่วนพระภูษาที่พระนางทรงนั้นก็เลื่อนลุ่ยลงมาจากพระสรีรกาย พระดาบสแลเข้าไปโดยสีหบัญชรพระแกลก็ได้พบเห็นวิสภาคารมณ์ กล่าวคือ ร่างกายของพระราชเทวี ก็มีใจกำเริบด้วยราคะดำฤษณาเสื่อมจากฌานสมาบัติทันที จึงตกจากอากาศลงไปในช่องพระแกลมีอาการประดุจดังว่าสกุณชาติซึ่งมีปีกหักทั้งสองข้างอันล่วงลงสู่พื้นพสุธาฉะนั้น แต่ไม่เป็นอันตรายด้วยอำนาจฌานสมาบัติ พระผู้เป็นเจ้าดำรงสติรับอาหารบิณฑบาตแล้วนำกลับไปสู่พระราชอุทยานตั้งอาหารทิ้งไว้แล้วก็เข้าสู่ห้องนอน มีใจเร่าร้อนด้วยอำนาจกิเลสลืมฉันอาหารอยู่ถึง ๗ วัน จนมีร่างกายซูบผอมลงเป็นลำดับ

          ในวันเป็นคำรบ ๘ นับแต่วันนั้นไปสมเด็จพระเจ้าพรหมทัต เมื่อมีชัยแก่ข้าศึกแล้วก็ยกทัพเสด็จกลับถึงพระนคร ทรงกระทำประทักษิณพระนครแล้ว ก็เลยเสด็จไปยังพระราชอุทยาน เพื่อทอดพระเนตรพระดาบส เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นพระดาบสนอนนิ่งอยู่ในบรรณศาลามีอาการซูบผอมผิดธรรมดา ก็ทรงเข้าพระทัยว่าพระดาบสเกิดโรคาพาธจึงตรัสสั่งให้ข้าราชบริพารปัดกวาดบริเวณศาลาให้เรียบร้อยเป็นอันดีแล้ว จึงเสด็จเข้าไปนวดฟั้นบาทพระดาบส มีพระราชดำรัสไต่ถามว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่สบายหรือ พระดาบสถวายพระพรว่า หามิได้ เป็นแต่ใจของอาตมาภาพตกอยู่ในอำนาจกิเลส จึงตรัสถามว่าพระผู้เป็นเจ้ามีใจผูกพันในบุคคลใด ถวายพระพรว่าอาตมาภาพมีใจผูกพันในพระนางมุทุลักขณาราชเทวี จึงตรัสว่าถ้าอย่างนั้นขอพระผู้เป็นเจ้าอย่าเป็นทุกข์เลย โยมจะถวายแก่พระผู้เป็นเจ้าดังปรารถนา ขอพระผู้เป็นเจ้าจงลุกขึ้นฉันโภชนาหารเถิด เมื่อพระดาบสลุกขึ้นฉันอาหารเสร็จแล้ว จึงเสด็จเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ตรัสสั่งให้พระนางมุทุลักขณาราชเทวี ตกแต่งพระองค์ให้เรียบร้อยเป็นอันดีทรงให้อาณัติสัญญาเป็นความลับว่า ขอพระน้องจงช่วยรักษาพระดาบสของเราไว้ด้วยปัญญาอย่าให้เสียศีลธรรม เมื่อพระนางรับพระราชโองการแล้วก็พระราชทานแก่พระดาบส เมื่อจะทรงส่งออกจากพระราชวัง พระนางจึงทูลขอคฤหสถานสำหรับอยู่ต่อไป ท้าวเธอจึงได้พระราชทานซึ่งเวจกุฎีแห่งหนึ่งในภายในพระราชวัง พระดาบสก็พาพระราชเทวีเข้าไปในเวจกุฎีนั้น พระราชเทวีจึงมีพระเสาวนีย์ตรัสสั่งพระดาบสให้ทำความสะอาดเริ่มแต่นำเครื่องโสโครกไปทิ้ง นำจอบเสียมมาถากถางเป็นต้น จนกระทั่งถึงตักน้ำใส่ตุ่มให้เต็ม เสร็จแล้วในเวลาจะเข้านอนพระราชเทวีจึงทรงจับสีข้างพระดาบสฉุดลากมากดศีรษะให้ก้มลงที่ภาคพื้น แล้วตรัสว่า นี่แน่ะดาบสท่านไม่รู้สึกตัวว่าเป็นสมณพราหมณ์บ้างเลยหรือไฉน ขณะนั้นพระดาบสก็ได้สติทันที เกิดญาณปรีชาขึ้นว่า โอ! กิเลสทั้งหลายช่างเป็นเหตุทำให้บุคคลมืดมนปราศจากปัญญาเห็นสภาวะปานฉะนี้หนอ ครั้นพระดาบสกลับได้สติอย่างนี้แล้ว จึงคิดว่าอันตัณหาคือความดิ้นรนปรารถนานี้ ถ้าเจริญอยู่ตราบใดก็จักไม่ให้เรายกศีรษะขึ้นมาจากอบายได้อยู่ตราบนั้น ในวันนี้ เราจักคืนพระราชเทวีให้แก่พระราชา แล้วจักกลับไปสู่ป่าหิมพานต์ตามเดิม ครั้นตกลงใจอย่างนี้แล้วจึงนำพระราชเทวีไปถวายคืนแก่พระเจ้ากรุงพาราณสี ชี้แจงความดำริของตนให้ทรงทราบแล้ว จึงกล่าวว่า เอกา อิจฺฉา ปุเร อาสิ เป็นอาทิ แปลว่า เมื่อก่อน เรามีความปรารถนาอยู่อย่างเดียว คือต้องการพระนางมุทุลักขณาราชเทวีเท่านั้น แต่ครั้นได้รับพระราชทานซึ่งพระราชเทวีผู้มีดวงพระเนตรอันกลมงาม ก็เกิดความปรารถนาอย่างอื่นอีกเป็นอันมาก ดังนี้

          ในขณะนั้น พระดาบสก็กลับได้ฌานอีก พอแสดงธรรมถวายพระเจ้าพาราณสีจบลงแล้ว  ก็เหาะขึ้นสู่อากาศวิถีไปเจริญพรหมวิหาร ๔ อยู่ในป่าหิมพานต์ แล้วไม่กลับไปสู่ถิ่นมนุษย์อีก เมื่อสิ้นชีพทำลายขันธ์ก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในพรหมโลก ครั้นแสดงเรื่องอดีตจบลงแล้ว ก็แสดงอริยสัจ ภิกษุนั้นก็ได้ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้ากรุงพาราณสีในครั้งนั้นได้อุบัติมาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ พระนางมุทุลักขณาราชเทวี ได้อุบัติมาเป็นนางอุบลวัณณาเถรี ส่วนดาบสนั้น คือเราตถาคตนี้แล

          ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นอำนาจแห่งความรักว่า มีกำลังอาจหักหาญซึ่งฌานสมาบัติได้นับประสาอะไรกับจิตใจของคนธรรมดา โดยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่คนทั้งหลายจะต้องระมัดระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของตนไม่ให้หลงคิดกังวลอยู่ด้วยกามารมณ์จนเกินไป การระวังนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้เป็นขั้น ๆ ไป ขั้นที่ ๑ ทรงสั่งสอนว่าไม่ให้มองดูอารมณ์อันเป็นที่รักใคร่ ขั้นที่ ๒ ทรงสั่งสอนว่า เมื่อมีกิจธุระจำเป็นที่จะต้องเจรจาปราศรัย ก็ให้มีสติคอยกำกับใจอย่าให้ความรักครอบงำได้ อันนี้เป็นโอวาทสำหรับพระภิกษุ สามเณร ส่วนสำหรับบุรุษสตรีชาวบ้านนั้นไม่มีปรากฏเป็นบรรทัดฐาน แต่เมื่อวิจารณ์ดูเห็นว่าพระพุทธโอวาทข้อนี้ใช้ได้ทั่วไป สำหรับบุรุษสตรีทั้งหลายจงจับใจความพระพุทธโอวาททั้ง ๒ ข้อนี้ไว้ให้ได้ แล้วนำไปปฏิบัติด้วยตนเองและสั่งสอนลูกหลานต่อไปเถิด

“ครั้งยังไม่ได้นางมุทุลักขณาเทวีเกิดความปรารถนา

เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อได้นางลักขณาเทวีผู้มีดวงตา

งามแล้ว ได้เกิดความปรารถนาสิ่งต่าง ๆ ขึ้นอีก.”

มุทุลักขณชาดกจบ.