(๖) เทวธัมมชาดก (ว่าด้วยธรรมของราชา)
พระบรมศาสดาทรงปรารภภิกษุผู้มีความละอายรูปหนึ่งให้เป็นต้นเหตุ มีเรื่องเล่าว่า มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง บวชในพุทธศาสนาแล้วได้ให้บ่าวไพร่นำเอาของไปสะสมไว้ในกุฎีของตน และจัดแจงโภชนาหารให้ตนบริโภคเหมือนยังเป็นฆราวาส ภิกษุทั้งหลายห้ามปรามก็โต้เถียง พระพุทธองค์ได้ทรงทราบ ตรัสถามได้ความว่า เป็นดังนั้นจริง จึงตรัสติเตียน ภิกษุนั้นเกิดขัดเคือง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เหตุไรเธอจึงไม่มีความละอายเช่นนี้ เธอทำอย่างนี้ย่อมไม่เป็นการสมควรยิ่งนัก แม้เมื่อเรายังสร้างบารมีอยู่ เธอก็ยังมีความละอายต่อเรา เมื่อภิกษุนั้นได้ฟังจึงยั้งใจได้สติ แล้วกราบลงขอประทานอภัยโทษต่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เหล่าภิกษุที่อยู่ในที่นั้นจึงกราบทูลขอให้ทรงแสดงเรื่องภิกษุรูปนั้นมีความละอายในปางก่อนว่าเป็นประการใด สมเด็จพระจอไตรจึงทรงแสดงเรื่องแต่ปางหลังว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระองค์ทรงมีพระราชโอรสกับพระมเหสีองค์ก่อนอยู่สองพระองค์ ทรงพระนามว่ามหิสสากุมารองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าจันทกุมารองค์หนึ่ง เมื่อพระมเหสีนั้นสวรรคต พระองค์ได้มีพระมเหสีองค์ใหม่อีกองค์หนึ่ง และมีพระโอรสกับพระมเหสีองค์ใหม่นั้นอีกองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าสุริยกุมาร เป็นที่โปรดปรานของพระองค์มาก พระองค์ได้พระราชทานพรแก่พระมเหสีองค์ใหม่ว่า ต้องการสิ่งใดให้ทูลขอ ครั้นต่อมาพระมเหสีองค์ใหม่นั้นจึงทูลขอราชสมบัติให้แก่พระโอรสของพระนาง ท้าวเธอจึงตรัสห้ามปราม แต่พระนางเจ้าก็ได้รบกวนทูลขออยู่เสมอไป ในที่สุดพระนางได้กราบทูลว่า พระองค์เป็นกษัตริย์เหตุไรจึงตรัสเป็นคำสองเช่นนี้ เมื่อท้าวเธอได้ฟังพระราชเสาวนีย์ ก็ทรงรู้สึกละอายพระราชหฤทัย เพราะพระองค์ได้ลั่นพระวาจาไว้จริง จึงจำเป็นต้องพระราชทานตามที่พระนางได้ทูลขอ แล้วท้าวเธอโปรดให้หาพระราชโอรสทั้ง ๒ ซึ่งเกิดจากพระมเหสีองค์ก่อน ที่ทรงนามกรว่า มหิสสาสกุมารและจันทกุมารเข้าเฝ้า ตรัสเล่าเรื่องที่พระองค์ได้พลั้งพระราชทานพรให้แก่พระมเหสีองค์ใหม่ และเรื่องที่ได้พระราชทานพระราชสมบัติให้พระโอรสองค์ใหม่นั้นให้พระราชโอรสทั้ง ๒ ทราบ แล้วตรัสว่า ดุก่อนลูกรักทั้ง ๒ ขอให้เจ้าทั้ง ๒ จงช่วยกันรักษาสัจจะของบิดาไว้ พากันออกจากพระนครไปอยู่ในสถานที่อื่นก่อน เมื่อต้องการพลโยธา ทรัพย์สมบัติ ข้างของมากน้อยเท่าใดก็จงนำเอาไปตามประสงค์ เมื่อสิ้นบุญบิดาแล้วจงพากันกลีบมาครอบครองซึ่งราชสมบัติต่อไป ฝ่ายพระราชกุมารทั้ง ๒ เมื่อได้ฟังพระราชองค์การดังกล่าวแล้ว ก็พากันโศกเศร้าเสียใจ กราบลงทรงกรรแสงแทบพระบาทแห่งพระราชบิดา แล้วกราบถวายบังคมลาพากันออกจากพระนคร แต่สุริยกุมารผู้เป็นราชกนิฎฐาที่กำลังเล่นอยู่ที่หน้าพระลานได้แลเห็นซึ่งพระราชกุมารทั้ง ๒ เสด็จผ่านไปก็วิ่งติดตามไป พระราชกุมารทั้ง ๒ จะห้ามปรามสักเท่าไรก็ไม่เชื่อฟัง ขืนติดตามไปจนกะทั่งถึงราวไพรอันกว้างใหญ่ซึ่งมีนามว่าหิมวันตประเทศ พระราชกุมารทั้ง ๓ ได้พากันไปพักอยู่ริมป่าไม้แห่งหนึ่ง มหิสสาสกุมารผู้เป็นพระเชฎฐาธิราชจึงตรัสสั่งสุริยกุมารให้ไปตักน้ำในสระแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่สิงสถิตแห่งผีเสื้อน้ำตนหนึ่ง ผีเสื้อน้ำตนนั้นได้รับพรจากท้าวเวสวัณว่า ผู้ใดลงไปในสระนั้นถ้าไม่รู้จักเทวธรรมให้จับกินเสีย ผีเสื้อน้ำนั้นได้จับกินคนและสัตว์ที่ลงไปในสระนั้นเสียเป็นอันมาก ในเวลาที่สุริยกุมารลงไปในสระนั้น ผีเสื้อน้ำนั้นก็จับไว้แล้วไต่ถามว่า ท่านรู้จักเทวธรรมหรือไม่ สุริยกุมารก็ตอบว่า เรารู้จักเทวธรรมนั้น คือพระจันทร์และพระอาทิตย์ ผีเสื้อน้ำนั้นจึงกล่าวว่า ไม่ถูก แล้วจับลงไปขังไว้ในใต้น้ำอันเป็นที่อยู่ของตนเพื่อจักกินเป็นภักษาหาร เมื่อมหิสสากุมารเห็นสุริยกุมารหายไป จึงใช้ให้จันทกุมารตามลงไปอีก ผีเสื้อน้ำนั้นก็จับไว้อีก เมื่อมหิส-สาสกุมารเห็นพระกนิฏฐาทั้ง ๒ พระองค์ หายไปนานเช่นนั้น พระองค์จึงทรงซึ่งพระขรรค์และธนูติดตามไปจนกระทั่งถึงสระนั้น ได้ทรงตรวจสอบดูรอบสระก็ได้เห็นรอยพระราชกุมารทั้ง ๒ ลงไปไม่เห็นมีรอยขึ้น จึงทรงเข้าพระทัยว่าสระนี้ต้องมีผีเสื้อจับจองแน่นอน แล้วพระองค์ทรงยืนนิ่งคอยดูอยู่ริมสระหาได้เสด็จลงไปในสระไม่ ฝ่ายผีเสื้อน้ำได้เห็นดังนั้นจึงจำแลงแปลงเพศเป็นช่างไม้เดินออกจากป่ามาไต่ถามพระราชกุมารว่า เหตุไรท่านจึงไม่ลงไปอาบน้ำ และเก็บฝักบัวในสระนี้กินให้สบาย พระราชกุมารได้สังเกตเห็นอาการแปลกปลอม ก็ทรงเข้าพระทัยว่า เป็นผีเสื้อน้ำอันสิงอยู่ในสระนั้นแน่นอน จึงตรัสถามออกไปว่า ตัวท่านเป็นผีเสื้อน้ำได้จับน้องชายทั้ง ๒ ของเราไปไว้ที่ไหน ผีเสื้อน้ำจึงบอกไปตามความจริงว่า ได้จับไปไว้ใต้น้ำอันเป็นที่อยู่ของเรา พระราชกุมารจึงตรัสถามถึงเหตุการณ์ว่า เหตุใดท่านจึงจับน้องชายของเราไว้ ผีเสื้อน้ำตอบว่า เพราะเหตุได้รับพรจากเท้าเวสวัณ ดังแสดงมาแล้วนั้น พระราชกุมารจึงตรัสถามว่า ถ้าเรารู้จักเทวธรรม ท่านจักคืนน้องชายให้เราหรือไม่ ผีเสื้อน้ำก็รับว่าจะคืนให้ แล้วพระองค์จึงบอกให้ผีเสื้อน้ำจัดแจงที่นั่งแสดงเทวธรรมให้แก่พระองค์ และให้ผีเสื้อน้ำนำน้ำมาให้พระองค์สรง เมื่อพระองค์ทรงสรงเสร็จแล้ว ได้ให้ผีเสื้อน้ำนั่งลงประนมมือคอยฟังเทวธรรม พระองค์ได้ทรงนั่งลงบนอาสนะที่ผีเสื้อน้ำจัดแจงถวาย แล้วทรงแสดงธรรมด้วยประพันธ์คาถาว่า
หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา
สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเรติ
แปลว่า บุคคลผู้มีกาย วาจา ใจ สลบเรียบร้อยซึ่งเรียกว่าสัปบุรุษผู้สมบูรณ์ด้วยความละอาย และความกลัวต่อความชั่ว ผู้มั่นอยู่ในธรรมอันบริสุทธิ์เรียกเทวธรรม คือธรรมอันปะเสริฐในโลก ดังนี้ พอผีเสื้อน้ำได้ฟังเทวธรรมดังนี้ ก็มีความเลื่อมใสจึงคืนจันทกุมารให้ แต่ได้กักตัวสุริยกุมารไว้ มหิสสาสกุมารจึงตรัสอ้อนวอนว่า สุริยกุมารเป็นน้องต่างมารดา ถ้าท่านไม่คืนให้เราก็จักมีคำครหานินทาเราได้ว่ารักแต่น้องของตัว ยกน้องต่างมารดาให้ผีเสื้อน้ำกินเสีย หรือไม่อย่างนั้นก็มีคำครหาว่าฆ่าน้องต่างมารดาเสีย เพราะฉะนั้นขอท่านจงคืนสุริยกุมารในบัดนี้ ผีเสื้อน้ำก็เห็นจริงตามจึงคืนสุริยกุมารให้ แล้วขอรับศีล ๕ ในสำนักมหิสสาสกุมาร ยอมเป็นผู้รับใช้มหิสสาสกุมารตั้งแต่นั้นมา ฝ่ายมหิสสาสกุมารกับพระกนิฏฐาทั้ง ๒ พระองค์ก็พากันบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่านั้น เมื่อได้ทราบข่าวว่าพระบิดาสวรรคตแล้วก็พากันเสด็จกลับสู่พระนคร ได้นำผีเสื้อน้ำนั้นไปด้วย เมื่อถึงพระนครแล้วมหิสสาสกุมารก็ได้ทรงราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่ในกรุงพาราณสี ทรงตั้งจันทกุมารให้เป็นมหาอุปราช พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีให้แก่สุริยกุมาร ผู้เป็นพระราชกนิฏฐา ส่วนผีเสื้อน้ำนั้นทรงโปรดให้ทำที่อยู่นอกพระนคร ส่วนพระองค์ทรงเสวยทศพิธราชธรรมจนตลอดพระชนมชีพแล้วเสด็จสวรรคต
ครั้นสมเด็จพระศรีสุคตทศพลญาณ ทรงแสดงอดีตนิทานดังนี้จบลงแล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจสืบต่อไป พอพบอริยสัจลงภิกษุผู้เคยเป็นพราหมณ์นั้นก็ดำรงตนอยู่ในโสดาปฏิผล แล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า ผีเสื้อน้ำในครั้งนั้น คือภิกษุรูปนี้แล จันทกุมาร คือ พระสารีบุตร สุริยกุมาร คือพระอานนท์ มหิสสาสกุมาร คือเราตถาคตนี้แล ในชาดกนี้แสดงให้เห็นว่าผู้มีเทวธรรมคือความละอายบาปอันได้แก่ ละอายความชั่วและความกลัวบาป อันได้แก่กลัวความชั่ว ไม่กล้าทำความดีด้วย กาย วาจา ใจทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ย่อมเป็นผู้ปราศจากภัยในที่ทั้งปวงไม่ว่าอยู่ที่ใด อยู่ในโลกนี้หรือโลกหน้า ก็ลอดจากภัยอันตรายเหมือนดังเรื่องชาดกนี้ เป็นอุทาหรณ์ฉะนี้
“สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะตั้งมั่น
อยู่ในธรรมอันขาว ท่านเรียกว่าผู้มีธรรมของเทวดาโลก.”
เทวธัมมชาดก จบ.