พระบรมศาสดาทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่าจิตตหัตถะให้เป็นเหตุ จึงทรงแสดงชาดกนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย มีเรื่องมาว่า ภิกษุผู้มีชื่อว่าจิตตหัตถะองค์นั้นเป็นบุตรแห่งชาวกรุงสาวัตถี เมื่อภิกษุนั้นยังเป็นฆราวาส เวลากลับจากไถนาได้แวะเข้าไปในวิหาร อาศัยรับประทานซึ่งอาหารอันเหลือจากพระ แล้วจึงคิดว่า เราทำงานเหน็ดเหนื่อยทั้งกลางวันและกลางคืน เรายังไม่ได้รับประทานอาหารอันมีรสโอชาเห็นปานนี้ เราควรจะบวชเสียดีกว่า ครั้นคิดตกลงอย่างนี้แล้วก็ไปขอบวชเป็นภิกษุ ครั้นเมื่อบวชแล้วก็มิได้เล่าเรียนพระกัมมัฏฐาน จิตสันดานก็ตกไปในอำนาจกิเลสพอล่วงไปได้กึ่งเดือนเศษก็สึกออกไปด้วยความรำคาญ อยู่มาไม่นานก็กลับมาบวชอีก แต่บวช ๆ สึก ๆ อยู่อย่างนี้ถึง ๗ ครั้ง ในเวลาบวชครั้งที่ ๗ ได้ศึกษาเล่าเรียนพระอภิธรรมจนจบทั้ง ๗ พระคัมภีร์ ทั้งได้เจริญวิปัสสนาให้แก่กล้าจนได้สำเร็จพระอรหันต์ อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายที่เป็นสหายก็เยาะเย้ยว่า ดูก่อนท่านจิตตหัตถะกิเลสไม่เจริญขึ้นแก่ท่านเหมือนแต่ก่อนหรือ ท่านตอบว่า ตั้งแต่นี้ไปเราไม่ควรเป็นคฤหัสถ์อีกแล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงสนทนากันว่า พระจิตตหัตถะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ผู้ที่มีอุปนิสัยพระอรหันต์เช่นนี้เหตุไรจึงบวช ๆ สึก ๆ อยู่ถึง ๗ ครั้ง เมื่อพระบรมศาสดาทรงทราบเรื่อง จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธรรมดาจิตใจปุถุชนเป็นของห้ามได้ยาก การฝึกหัดจิตที่เป็นของข่มขี่ได้ยาก เป็นของกลับกลอกรวดเร็ว เป็นของตกไปตามความใคร่ ได้เป็นการดี เพราะจิตที่บุคคลฝึกหัดดีแล้ว ย่อมนำมาซึ่งความสุข ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า แม้ในอดีตกาลล่วงแล้วมา บัณฑิตทั้งหลายได้เวียนบวชเวียนสึกถึง ๖ ครั้ง ในเวลาบวชครั้งที่ ๗ จึงข่มความโลภได้แล้วทำฌานสมาบัติให้บังเกิด ครั้นตรัสดังนี้แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตต่อไปว่า ในครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีมีบุตรของบุคคลผู้ปลูกผักขายผู้หนึ่ง ชื่อว่า กุททาลกบัณฑิต เพราะมีจอบเป็นนิมิตเครื่องหมาย กล่าวคือ กุททาลกบัณฑิตนั้น ได้ถากพื้นพรวนดินด้วยจอบ แล้วปลูกผักและพืชพันธุ์ต่าง ๆ ในฤดูฝน อาศัยเลี้ยงชีพด้วยการปลูกพืชพันธุ์เป็นอาจิณ อยู่มาวันหนึ่งจึงเห็นว่าการอยู่เป็นฆราวาสไม่ประเสริฐ แล้วก็เอาจอบซ่อนเสียหนีออกไปบวชเป็นฤๅษีเวลานึกถึงจอบนั้นขึ้นมา ก็เกิดความโลภในการปลูกผักและพืชพันธุ์จึงสึกออกไปจากฤๅษีไปทำกิจการนั้นอีก แต่ได้เวียนบวชเวียนสึกอยู่อย่างนี้อยู่ถึง ๖ ครั้ง ในครั้งที่ ๗ เวลาบวชแล้วจึงคิดขึ้นมาได้ว่าเป็นเพราะจอบเล่มนี้เองเราจึงเวียนบวชเวียนสึกเสมอมา ถ้าจอบเล่มนี้ยังอยู่ตราบใดเราก็จะต้องเวียนบวชเวียนสึกอยู่ตราบนั้น ครั้นคิดแล้ว จึกเอาจอบไปขว้างลงในแม่น้ำคงคา แล้วเปล่งวาจาขึ้น ๓ ครั้งว่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว ดังนี้ ขณะนั้นพระเจ้ากรุงพาราณสี ได้เสด็จกลับจากปราบข้าศึกมาถึงแม่น้ำนั้น ครั้นได้สดับเสียงแห่งกุททาลกบัณฑิตนั้นก็ทรงพระพิโรธว่า ใครบังอาจมาเปล่งวาจาว่าเราชนะแล้ว ๆ ดังนี้ จึงโปรดให้หาตัวเข้าเฝ้าทันที แล้วมีพระราชโองการ ตรัสถามว่า ดูก่อนท่านดาบส เราเป็นผู้ชนะสงครามมาในเดี๋ยวนี้เอง ส่วนท่านชนะใครเล่า จึงได้เปล่งวาจาเช่นนี้ กุททาสกบัณฑิตกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้าผู้ที่ชนะสงครามตั้งร้อยครั้ง พันครั้ง หรือแสนครั้งก็ดี ยังไม่เรียกว่าชนะแท้ เพราะอาจจะกลับแพ้ในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ ส่วนผู้ชนะกิเลสทั้งหลายนั้นแหละเรียกว่าชนะแท้ ครั้นกราบทูลดังนี้แล้วก็แลดูในแม่น้ำนั้น เป็นอารมณ์บัดเดี๋ยวใจก็ได้สำเร็จฌานสมาบัติ แล้วลอยขึ้นไปนั่งอยู่บนอากาศ กล่าวพจนารถคาถาว่า
น ตํ ชิตํ สาธุ ชิตํ ยํ ชิตํ อวชิยฺยติ
ตํ โข ชิตํ สาธุ ชิตํ ยํ ชิตํ นาวชิยฺยตีติ
แปลว่า ความชนะใดที่อาจกลับแพ้ได้ ความชนะนั้นไม่ดี ความชนะใดที่ไม่อาจกลับแพ้ได้อีก ความชนะนั้นแลดี ดังนี้ พระเจ้าพาราณสีได้ทรงสดับธรรมเทศนานี้ก็ทรงละกิเลสทั้งหลายได้ชั่วขณะ มีพระราชหฤทัยใคร่จะทรงบรรพชา จึงตรัสถามกุททาลกบัณฑิตว่าบัดนี้ท่านจะไปในที่ไหน เมื่อกุททาลกบัณฑิตถวายพระพรว่าจะไปอยู่ในป่าหิมพานต์ จึงมีพระราชโองการว่า ข้าพเจ้าจักตามไปบวชเป็นฤๅษีด้วย ฝ่ายพลโยธาก็ตกลงตามเสด็จ พระเจ้าพาราณสีกับไพร่พลจึงออกบรรพชาอยู่ในป่าหิมพานต์ เมื่อทราบถึงชาวพระนคร ชาวพระนครก็พากันตามออกไปบรรพชาทั้งสิ้น พากันสร้างบรรณศาลากว้างยาวได้ถึง ๑๒ โยชน์ สำหรับเป็นที่อยู่เจริญสมณธรรม ขณะนั้น ทราบถึงท้าวสักเทวราชในชั้นดาวดึงส์สวรรค์ พระองค์จึงทรงบัญชาให้พระวิสสุกรรมเทพบุตร ลงมาเนรมิตบรรณศาลาถวายฤๅษีเหล่านั้น วิสสุกรรมเทวบุตรก็ได้กระทำตามเทวบัญชา ต่อมามีกษัตริย์อีก ๗ พระนคร พาราชบริพารออกไปบวชอยู่ในสำนักกุททาลกบัณฑิต อยู่กันเต็มไปในอาศรมบรรณศาลาอันมีประมาณถึง ๓๐ โยชน์โดยทางกว้างยาวเป็นกำหนด กุททาลกดาบสก็สั่งสอนบริวารให้เจริญกสิณทั้งหลายและพรหมวิหารทั้ง ๔ จนได้ฌานสมาบัติไปเป็นอันมากก็มี ได้แต่เพียงคุณธรรมชั้นต่ำกว่าฌานสมาบัติก็มี เมื่อดาบสเหล่านั้นสิ้นชีพแล้วก็ขึ้นไปบังเกิดในเทวโลกบ้าง ขึ้นไปเกิดในพรหมโลกบ้าง ครั้นตรัสเรื่องอดีตดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า เมื่อจิตขุ่นด้วยอำนาจกิเลส ก็เป็นการยากที่จะละได้ซึ่งความโลภ ความโลภทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วยากที่บุคคลจะละได้โดยง่าย แล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้าพาราณสีในครั้งนั้น ได้เกิดมาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนกุททาลกบัณฑิต คือเราตถาคตนี้เอง ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นว่าใจของคนทั้งหลายย่อมเป็นของกลับกลอกยากที่จะฝึกหัดให้คงที่ได้ แต่เมื่อฝึกหัดได้แล้วก็มีประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไพศาล ขอพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจงพยายามฝึกหัดใจของตนให้แน่วแน่ไปในทางที่ดีเถิด ดังนี้
“ความชนะใดกลับแพ้ได้ความชนะนั้นเป็นความชนะไม่ดี
ความชนะใดไม่กลับแพ้ ความชนะนั้นแลเป็นความชนะที่ดี.”
กุททาลกชาดกจบ
…………………………………………………………….
จบอิตถีวรรค