พระพุทธองค์ทรงปรารภพระเทวทัตให้เป็นเหตุ แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในกรุงพาราณสีมีพรานป่าคนหนึ่ง ได้เดินหลงทางไปในป่าเที่ยวร้องไห้อยู่แต่คนเดียว ครั้งนั้นมีพญาช้างเผือกอยู่เชือกหนึ่ง ซึ่งมีช้างแปดหมื่นเป็นบริวาร ได้ไปพบนายพรานคนนั้น พญาช้างเผือกนั้นเป็นช้างที่รักษาศีล ได้หนีออกจากบริวารไปเที่ยวสงบกายอยู่แต่ผู้เดียว เมื่อเห็นนายพรานเดินหลงป่าอยู่เช่นนั้นก็มีความกรุณาสงสาร จึงให้นายพรานขึ้นขี่หลังของตน เพื่อจะนำไปส่งให้ถึงหนทางคนเดินไปมา นายพรานนั้นจึงทำเครื่องหมายหนทางไว้เพื่อจะกลับมาโดยสะดวก เมื่อไปถึงบ้านเมืองแล้วได้พบงาช้างที่เขาวางขายอยู่ในร้านตลาด จึงตกลงราคากับพวกพ่อค้า แล้วจัดหาเสบียงอาหารออกไปสู่ป่าหิมพานต์จนกระทั่งถึงสำนักพญาช้างเผือกนั้น แล้วขอตัดเอางาพญาช้างเผือก ๆ นั้นก็อนุญาตให้ตามปรารถนา นายพรานก็ตัดเอางากลับไปขาย เมื่อใช้ทรัพย์หมดแล้วก็เวียนไปขออีก ได้เวียนไปตัดเอางาอยู่เช่นนี้ถึง ๗ หน ในหนที่ ๗ นั้น นายพรานคนนั้นได้ผ่าศีรษะเลื่อยเอางาจนกระทั่งโคน แล้วนำไปพอเดินไปลับตาพญาช้างนั้น แผ่นดินก็แยกออกเป็นช่องสูบเอานายพรานนั้นไปสู่อเวจีมหานรก ด้วยโทษที่ตนอกตัญญูไม่รู้จักคุณแห่งท่านผู้มีคุณ ในครั้งนั้นพฤกษเทพยดาตนหนึ่งได้เห็นเหตุการณ์ดังนั้นจึงติเตียนนายพรานนั้นว่า
อกตญฺญุสฺส โปสสฺส นิจฺจํ วิวรทสฺสิโน
สพฺพญฺเจ ปฐวึ ทชฺชา เนว นํ อภิราธเยติ
แปลว่า ถึงบุคคลจะยกสมบัติในแผ่นดินทั้งสิ้น ให้แก่คนอกตัญญู ที่คอยหาช่องประทุษร้ายตนอยู่เป็นนิจ ก็ไม่อาจทำให้คนอกตัญญูมีจิตคิดยินดีได้เลย ดังนี้ เมื่อทรงตรัสเรื่องอดีตดังนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่าพรานป่าในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นเทวทัตในบัดนี้ พฤกษเทวดา ได้มาเกิดเป็นพระสารีบุตร พญาช้างผู้มีนามว่าสีลวนาคราช ได้เกิดมาเป็นเราตถาคตนี้แล ในชาดกนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้มีนิสัยอกตัญญูถึงมีผู้ทำอุปการคุณสักเท่าใด ก็ย่อมไม่รู้จักบุญคุณที่เขากระทำแก่ตน มีแต่คอยจะประทุษร้ายผู้มีบุญคุณแก่ตนเสมอ ไม่ควรที่คนทั้งหลายจะทำคุณแก่คนอกตัญญูเป็นอันขาด เพราะจะกลับให้โทษแก่ตนในภายหลัง
“ถ้าใคร ๆ จะพึงให้สมบัติในแผ่นดินทั้งหมดแก่คนอกตัญญู
ผู้มีปรกติมองหาโทษอยู่เป็นนิตย์ ก็ให้เขาพอใจไม่ได้.
สีลวนาคชาดกจบห