๗๔. รุกขธรรมชาดก ( ต้นไม้โดดเดี่ยวย่อมแพ้ลม )

            พระบรมศาสดาทรงปรารภพระประยูรญาติของพระองค์ ด้วยการทะเลาะวิวาทแย่งน้ำในลำธารเป็นมูลเหตุ แต่ก่อนที่พระองค์จะทรงแสดงชาดกนี้ พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย ท่านทั้งหลายผู้เป็นญาติวงศ์อันเดียวกันควรจะดำรงมั่นสามัคคี เพราะเหตุว่า เมื่อมีความสามัคคีกันอยู่แล้ว ข้าศึกศัตรูหมู่ปัจจามิตรก็คิดทำร้ายมิได้  อย่าว่าแต่มนุษย์เลย ถึงต้นไม้เมื่อรวมกันอยู่เป็นหมู่ก็สู้พายุใหญ่ได้ ส่วนต้นไม้ที่อยู่โดดเดี่ยวย่อมหักโค่นด้วยกำลังลมโดยง่าย เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว กล่าวคือ ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตผ่านสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ท้าวเวสวัณมหาราชองค์ก่อนได้จุติจากเทวโลก สมเด็จพระอมรินทราธิราชประกาศตั้งท้าวเวสวัณขึ้นใหม่ ท้าวเวสวัณองค์ใหม่นั้นได้มีคำสั่งแก่เทพยดาที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้กอหญ้าลดาวัลย์ ให้เลือกจับจองที่อยู่ตามความพอใจของตน ๆ เทวดาตนหนึ่งได้ประกาศแก่เทวดาที่เป็นญาติของตนให้จับจองที่อยู่ใกล้กับวิมานของตนโดยเห็นว่าเป็นป่าไม้ที่มีต้นไม้เครือเถาประสานกันแน่นหนา สามารถต่อสู้กำลังพายุอันใหญ่ได้ พวกญาติที่มีสติปัญญาพิจารณาถึงเหตุผลรอบคอบ ก็ได้จับจองวิมานในที่ล้อมรอบวิมานของรุกขเทวดาตนนั้น ฝ่ายพวกเทวดาที่เป็นอันธพาลต่างก็คิดว่า การที่จะจับจองวิมานอยู่ในกลางป่าหาประโยชน์อันใดมิได้ แล้วก็พากันไปจับจองวิมานอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเกิดอยู่กลางทุ่งใกล้ถิ่นมนุษย์ โดยมุ่งหวังต่อการเซ่นสรวงบูชาแห่งคนทั้งหลายที่ไปมา อยู่มาวันหนึ่ง ได้เกิดลมพายุใหญ่ขึ้นพัดต้นไม้ใหญ่ ๆ ที่อยู่โดดเดี่ยวให้ล้มลงเป็นอันมาก แต่ไม่อาจพัดป่าไม้รังซึ้งมีต้นและเครือไม้เกาะเกี่ยวกันแน่นหนาให้หักโค่นลงได้ ส่วนพวกเทวดาที่พากันไปจับจองวิมานบนต้นไม้ใหญ่กลางทุ่งนานั้น เมื่อต้นไม้โค่นลงวิมานก็หักทะลายหาที่อาศัยมิได้ จึงจูงมือลูกหลานกลับมาสู่ป่าหิมพานต์แจ้งเหตุการณ์แก่เทวดาทั้งหลายซึ่งอยู่ในป่าไม้รังนั้นให้ทราบ เทวดาเหล่านั้นจึงนำความไปแจ้งแก่เทวดาผู้เป็นหัวหน้า เทวดาผู้เป็นหัวหน้าจึงกล่าวว่า

สาธุ   สมฺพหุลา   ญาตี        อปิ   รุกฺขา   อรญฺญชา

วาโต   วหติ   เอกฏฺฐํ      พฺรหฺมตมฺปิ   วนปฺปตินฺติ

แปลว่า หมู่ญาติวงศ์เป็นอันมากที่พักพร้อมกันจึงเป็นการดี  ถึงแม้ว่าต้นไม้ที่เกิดอยู่ในป่าก็เหมือนกัน  ถ้าอยู่แต่ลำพังต้นเดียวไม่เกี่ยวข้องกับต้นไม้อื่น ถึงจะเป็น ต้นไม้ใหญ่ลมก็พัดให้โค่นลงได้ ดังนี้ ครั้นตรัสเรื่องอดีตจบลง จึงทรงประชุมชาดกว่า พวกเทพยดาในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ส่วนรุกขเทวดาผู้แนะนำหมู่ญาติในครั้งนั้น คือเราตถาคตในบัดนี้ ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นผลแห่งสามัคคีว่า สามัคคี คือ ความพร้อมเพรียงรักใคร่ปรองดองกัน ย่อมมีคุณประโยชน์นำมาซึ่งโสตถิผลแก่ปวงชนตลอดถึงสัตว์ดิรัจฉาน และต้นไม้ กอหญ้าลดาวัลย์ เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจงมีความสามัคคีประจำใจ จะอยู่ในที่ใดจงอยู่ในหมู่ญาติและจงพร้อมเพรียงกัน จึงจะปราศจากอันตราย ซึ่งจะเกิดจากข้าศึกศัตรูภายนอก ก็หมู่ญาตินั้นมี ๒ อย่างต่างกันตามประเภท คือ ญาติเก่า ๑ ญาติใหม่ ๑ ญาติเก่านั้น ได้แก่ผู้ที่เกี่ยวพันโดยสายโลหิตข้างมารดาและบิดา ญาติใหม่นั้นได้แก่คนที่รู้จักคุ้นเคยรักใคร่ชอบพอกัน สนิทสนมมีความช่วยเหลือสุขทุกข์กัน กลมเกลียวกัน มีความรักใคร่ซื่อตรงต่อกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง ญาติทั้ง ๒ ประเภทนี้ ย่อมมีแก่คนทั้งหลายเหมือนกันหมดต่างแต่มากและน้อยเท่านั้น โดยเหตุนี้จงมีความพร้อมเพรียงกันเป็นนิตยกาลจึงจะเป็นการดี ผลของสามัคคี คือความถูกต้องปรองดองกันนี้มีมากมายหลายประการ ขอจงจำชาดกที่ยกขึ้นแสดงแล้วนี้ ไว้เป็นตัวอย่าง ที่อ้างให้แลเห็น ดังนี้

“มีญาติมากเป็นความดี อนึ่ง ต้นไม้ที่เกิดขึ้นในป่าหลาย

ต้นเป็นการดี  ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่โดดเดี่ยว ถึงจะเป็นต้นไม้

งอกงามใหญ่โตสักเท่าใด ลมก็ย่อมพัดให้ล้มลงได้.“

รุกขธรรมชาดกจบ.

…………………………………………