พระบรมศาสดาทรงปรารภอุบาสกชาวกรุงสาวัตถีคนหนึ่งให้เป็นต้นเหตุ มีเรื่องราวว่า อุบาสกคนนั้นเป็นพระโสดาบัน ได้เดินทางไปกับพ่อค้าเกวียนหมู่หนึ่ง ได้พักแรมอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง ในเวลากลางคืน มีพวกโจรประมาณ ๕๐๐ ได้พากันไปเพื่อจะปล้นพวกพ่อค้าเกวียน แต่พอได้เห็นอุบาสกคนนั้นเดินจงกรมอยู่ก็เข้าใจว่าเป็นคนยาม จึงคิดกันว่า เมื่อชายคนนี้นอนหลับแล้วพวกเราจึงจักเข้าปล้น ส่วนอุบาสกนั้นหาได้นอนไม่ ได้เดินจงกรมอยู่จนตลอดคืนยังรุ่ง พวกโจรเมื่อไม่ได้โอกาสจึงพากันหนีไป ครั้นต่อมา อุบาสกคนนั้นได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ บุคคลผู้รักษาตนนับว่าเป็นผู้รักษาคนอื่นได้หรือไม่ประการใด พระองค์จึงตรัสตอบว่า ได้ อุบาสกนั้นจึงกราบทูลต่อไปว่า ข้าพระองค์ได้เดินทางไปกับพ่อค้าเกวียนหมู่หนึ่ง ข้าพระองค์ได้เดินจงกรมอยู่ใต้ต้นไม้แห่งหนึ่งด้วยคิดว่าจะรักษาตนเอง แต่เป็นอันได้รักษาพวกพ่อค้าเกวียนนั้นด้วย สมกับวาจาที่พระองค์ได้ตรัสมา ครั้งนั้น พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสกบัณฑิตทั้งหลาย ผู้ที่รักษาตนเป็นอันชื่อว่ารักษาผู้อื่นด้วย ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในกรุงพาราณสีมีฤๅษีตนหนึ่ง ได้เดินทางไปกับพวกพ่อค้าเกวียนหมู่หนึ่ง เวลาพวกพ่อค้าเกวียนนั้นพักนอนอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ฤๅษีตนนั้นก็เดินจงกรมอยู่ตลอดคืนยันรุ่ง พวกโจรไม่ได้โอกาสที่จะไปปล้นพ่อค้าเกวียนเหล่านั้น แล้วพากันทิ้งเครื่องมือต่าง ๆ เสีย ได้ร้องบอกแก่พวกพ่อค้าเกวียนนั้นว่า ถ้าไม่มีฤๅษีตนนี้ท่านทั้งหลายก็จะถูกปล้น เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงสักการะบูชาฤๅษีตนนี้เถิด ครั้นร้องประกาศดังนี้แล้วก็พากันหนีไป ฝ่ายพวกพ่อค้าเกวียนเมื่อได้เห็นไม้ค้อนก้อนศิลาที่โจรเหล่านั้นทิ้งไว้ก็มีความสะดุ้งกลัว จึงพร้อมกันไปหาฤๅษีตนนั้น พากันไหว้แล้วไต่ถามว่า พระผู้เป็นเจ้าได้เห็นโจรเหล่านั้นหรือไม่ ฤๅษีนั้นตอบว่า ได้เห็น เมื่อพระผู้เป็นเจ้าได้เห็นแล้วมีความกลัวหรือไม่ เราไม่กลัวเลยเพราะเราไม่มีทรัพย์สมบัติสิ่งใด ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงแสดงธรรมต่อไปว่า อสงฺกิโยมฺหิ เป็นอาทิ แปลว่า เราไม่มีความระแวง ความกลัวย่อมไม่มีแก่เราทั้งในเวลาอยู่ในบ้านหรือในป่า เพราะเราได้เดินทางตรงมาด้วยเมตตากรุณาแล้ว อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เราได้เดินทางตรงอันจะไปสู่พรหมโลกด้วยความซื่อตรงทางกายและทางวาจา แล้วด้วยศีล และเดินทางไปสู่พรหมโลกด้วยการเจริญเมตตากรุณาเพราะเหตุว่า เมตตากรุณาย่อมเป็นทางตรงสู่พรหมโลกดังนี้ เมื่อพวกพ่อค้าเกวียนเหล่านั้นได้สดับธรรมเทศนาดังนี้ ก็มีใจชื่นชมยินดีพร้อมกันสักการะฤๅษีตนนั้นโดยความเคารพ พระพุทธองค์ตรัสเรื่องอดีตดังนี้แล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า พ่อค้าเกวียนในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นบริวารแห่งเราตถาคตในบัดนี้ ส่วนฤๅษีตนนั้นได้อุบัติเป็นเราตถาคตนี้แล ในชาดกนี้แสดงให้เห็นว่า ความระวังและความสะดุ้งกลัว ย่อมมีแก่คนทั้งหลายผู้มีความห่วงใยในทรัพย์สมบัติ บุตรภรรยา คณาญาติ ส่วนผู้ปราศจากความห่วงใยแล้ว ย่อมไม่มีความสะดุ้งกลัวต่อสิ่งใดเลย จะยืน เดิน นั่ง นอนอยู่ในสถานที่ใดก็มีความสุขทุกเวลา ส่วนพวกเรายากที่จะปฏิบัติตามชาดกนี้ได้ แต่ขอเตือนท่านทั้งหลายว่า เมื่อมีทรัพย์สมบัติบุตรภรรยา คณาญาติ แล้วควรรักษาไว้โดยทางธรรม คือ ถ้ามีทรัพย์สมบัติก็ให้รักษาด้วยการบริจาคทาน แก่พระภิกษุสามเณรบ้าง เลี้ยงดูบิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยายบ้าง เลี้ยงดูตนเองกับครอบครัวบ้าง ทำทุนค้าขาย หรือใช้ประกอบในการงานบ้าง เก็บไว้เพื่อใช้ในเวลาเจ็บไข้ หรือเวลาเกิดอันตรายต่าง ๆ มีทุพภิกขภัยการอดอยากเป็นต้นบ้าง อย่าหวงแหนไว้อย่างเดียว เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ได้ก็จะมีความสะดุ้งกลัวต่อภัยอันตรายน้อยลง ในเวลาทำลายขันธ์ก็จะพลันเกิดในสวรรค์เสวยทิพยสุขอันโอฬาร เพราะฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายจงปฏิบัติตามนี้เถิด ก็จะไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ดังนี้
“เราไม่มีความระแวงในบ้าน ไม่มีภัยในป่า
เราได้ขึ้นเดินทางตรงด้วยเมตตาและกรุณาแล้ว.“
อสังกิยชาดกจบ.
…………………………………………………………………..