๘๘. สารัมภชาดก (ว่าด้วยการพูดดี–พูดชั่ว )

          พระบรมศาสดาทรงปรารภโอมสวาทสิกขาบทเป็นต้นเหตุแห่งเทศนา มีเรื่องปรากฏมาว่า ในอดีตกาลมีโคตัวหนึ่งชื่อว่าสารัมภะ เป็นโคของพราหมณ์คนหนึ่งซึ่งอยู่ในเมืองตักกสิลา เจ้าของได้กล่าววาจาหยาบคายในเวลาเทียมเกวียน โคสารัมภะก็ไม่พอใจ ได้สลัดแอกทิ้งเกวียนหนีไปเสีย มีเรื่องเหมือนกับเรื่องโคนันทิวิศาลซึ่งแสดงมาแล้วข้างต้น เมื่อสมเด็จพระทศพลได้ทรงแสดงเรื่องอดีตโดยย่ออย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า

กลฺยาณิเมว   มุญฺเจยฺย       น   หิ   มุญฺเจยฺย   ปาปิกํ

โมกฺโข   กลฺยาณิยา   สาธุ     มุตฺวา   ตปฺปติ   ปาปิกนฺติ

         แปลว่า บุคคลควรกล่าวแต่ถ้อยคำที่ดี ไม่ควรกล่าวถ้อยคำที่ไม่ดี การกล่าวถ้อยคำที่ดีเป็นของมีประโยชน์ การกล่าวถ้อยคำที่ไม่ดีย่อมให้โทษเดือดร้อนต่อภายหลัง ดังนี้ ถ้อยคำที่ไม่ดีนั้น ได้แก่คำเท็จ คำส่อเสียด คำหยาบคาย คำเหลวไหล ส่วนถ้อยคำที่ดีนั้น ได้แก่ คำจริง คำอ่อนหวาน คำสมานมิตร คำมีประโยชน์ เมื่อบุคคลไม่กล่าวคำที่ไม่ดีก็ไม่เดือดร้อนใจ ตัวอย่างเช่น เราไม่ได้กล่าวคำเท็จให้ผู้ใดฟังเราก็ไม่ร้อนใจว่าเขาจะจับได้ต่อภายหลัง ดังนี้

         ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พราหมณ์ในอดีตกาลนั้น ได้มาเกิดเป็นอานนท์ ส่วนพราหมณีนั้นได้มาเกิดเป็นนางอุบลวัณณา โคสารัมภะนั้น ได้มาเกิดเป็นเราตถาคตนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้ เป็นเครื่องสอนให้บุคคลระวังวาจาของตน อย่าให้กล่าววาจาอันเป็นทุจริต มีคำเท็จเป็นต้น  ให้กล่าววาจาอันเป็นสุจริต มีคำจริงเป็นต้น จึงจะเย็นใจและเป็นที่รักใคร่แห่งคนทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้

“บุคคลพึงเปล่งวาจางามเท่านั้น ไม่พึงเปล่งวาจาชั่วเลย การเปล่ง

วาจางามยังประโยชน์ให้สำเร็จ ผู้เปล่งวาจาชั่วย่อมเดือดร้อน.”

สารัมภชาดกจบ.