(๙๗)
นามสิทธิชาดก (ว่าด้วยชื่อไม่เป็นของสำคัญ)
พระพุทธองค์ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่งซึ่งมีชื่อว่านามสิทธิ มีเนื้อความว่า มีกุลบุตรผู้หนึ่งชื่อปาปกะ แปลว่า คนลามก ได้บวชในพระพุทธศาสนา ภิกษุทั้งหลายได้ร้องเรียกว่า ท่านปาปกะ คือ เรียกว่าท่านลามก ท่านจงมานี่ ท่านจงยืนอยู่ที่นี่ ดังนี้เป็นต้น ภิกษุนั้นจึงคิดว่า เราจักไปขอให้พระอุปัชฌาย์อาจารย์ เปลี่ยนชื่อให้เสียใหม่ให้เป็นชื่อดีงาม แล้วจึงไปหาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ๆ กล่าวว่า ธรรมดาชื่อเพียงแต่เป็นของสมมติขึ้นเท่านั้นจะทำให้ดีชั่วไม่ได้เลย ท่านจงอยู่ตามชื่อเดิมเถิด พระปาปกะได้อ้อนวอนอยู่เสมอจนรู้ทั่วไปถึงพระสงฆ์ทั้งปวง
วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายจึงประชุมสนทนากันในธรรมสภา ปรารภเรื่องพระปาปกะขึ้น เมื่อเสด็จพระบรมศาสดาได้ทรงสดับ จึงเสด็จไปสู่ธรรมสภา แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องของภิกษุนี้เคยมีมาแล้วในอดีตกาล แล้วจึงทรงแสดงชาดกนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งอดีตกาล มีทิศาปาโมกข์อาจารย์คนหนึ่ง อยู่ในเมืองตักกสิลามีศิษย์อยู่ถึง ๕๐๐ คน คนหนึ่งชื่อปาปกะ อาจารย์ได้เรียกว่าเจ้าปาปกะจงมานี่จงไปโน่น ดังนี้เป็นต้น อยู่เนือง ๆ เขาจึงคิดว่าชื่อของเรานี้ไม่ดีเลย เราจะขอให้อาจารย์เปลี่ยนชื่อให้เสียใหม่ จึงไปหาอาจารย์ ๆ ให้ไปเที่ยวเลือกหาชื่อซึ่งเป็นที่พอใจของเขา ว่าเจ้าจงไปเที่ยวในบ้านน้อยและเมืองใหญ่ เมื่อได้ชื่อเป็นที่พอใจของเจ้าแล้ว จงนำมาบอกเรา ๆ จะเปลี่ยนให้ตามความประสงค์ เขาก็รับคำอาจารย์เที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ ได้ไปถึงเมืองหนึ่ง พบบุรุษคนหนึ่งซึ่งทำกาลกิริยาตาย บุรุษนั้นชื่อว่าชีวก เรียกตามภาษาไทยว่า นายเป็น หมู่ญาติของนายเป็นได้พากันนำศพของนายเป็นไปสู่ป่าช้า เขาจึงถามว่า ชายคนนั้นชื่ออะไร คนทั้งหลายตอบว่า ชื่อ นายเป็น แล้วเขาจึงถามว่า เมื่อเขาชื่อนายเป็นเหตุไฉนจึงตายเล่า คนทั้งหลายตอบว่า จะชื่อนายเป็นหรือชื่ออะไรก็ตามต้องตายเหมือนกันทั้งนั้น เพราะเหตุว่า ชื่อไม่เป็นสิ่งสำคัญประการใด เป็นแต่ตั้งไว้สำหรับร้องเรียกกันเท่านั้น เมื่อนายปาปกะได้ฟังก็หมดความทะยานอยากเปลี่ยนชื่อของตน จึงตั้งต้นกลับมาทางเก่า ได้พบหญิงทาสีคนหนึ่งซึ่งมีชื่อว่านางธนปาลี เรียกตามภาษาไทยเราว่า นางรวย แต่นางนั้นยากจนขัดสน จนถึงกับเป็นทาสีให้ผู้อื่นเฆี่ยนตีอยู่เสมอ นายปาปกะได้เดินเข้าไปถามว่า เหตุไรจึงโบยตีหญิงคนนี้ นายเงินตอบว่าเพราะเขาไม่มีเงินให้ดอกเบี้ยแก่เรา แล้วจึงถามว่าหญิงคนนี้ชื่อเรียงเสียงไร นายเงินตอบว่าชื่อนางรวย เขาจึงซักถามว่าเหตุไรจึงยากจนเล่า นายเงินจึงตอบว่า นั่นเป็นแต่ชื่อเท่านั้น เขาจึงเดินออกจากที่นั้น แล้วไปพบคนหลงทางคนหนึ่ง เขาจึงถามว่าชื่ออะไร บุรุษนั้นตอบว่าชื่อนายทาง จึงซักว่าถ้าเช่นนั้นเหตุไรจึงได้หลงทาง บุรุษนั้นตอบว่าท่านเป็นคนเซอะเสียแล้ว เพราะธรรมดาชื่อไม่ใช่จะบันดาลให้สิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปได้เหมือนกับชื่อ เมื่อนายปาปกะ ซึ่งเรียกตามภาษาไทยว่านายลามกได้ฟังดังนั้นก็สิ้นความกระหายในการอยากจะเปลี่ยนชื่อของตน จึงบ่ายหน้ากลับไปสู่สำนักอาจารย์ ๆ ถามว่า เจ้าไปเที่ยวเลือกชื่อมาได้แล้วหรือยัง จึงตอบว่าข้าแต่ท่านอาจารย์คนที่มีชื่อว่านายเป็นก็ตาย ที่ชื่อว่านางรวยก็จน ที่ชื่อว่านายทางก็หลงทาง ข้าพเจ้าเข้าใจแล้ว ชื่อย่อมไม่ให้สำเร็จประโยชน์สิ่งใด เพียงแต่อาศัยเรียกพอให้รู้กันเท่านั้น ข้าพเจ้าไม่ยินดีที่จะเปลี่ยนชื่อแล้ว เมื่ออาจารย์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
ชีวกญฺจ มตํ ทิสฺวา ธนปาลิญฺจ ..ทุคฺคตํ
ปนฺถกญฺจ วเน มูฬฺหํ ปาปโก ปุนราคโตติ
แปลว่า ปาปกมาณพได้เห็นเหตุทั้ง ๓ คือ บุรุษชื่อนายเป็นก็ตาย ๑ หญิงชื่อนางรวยก็จน ๑ ชายชื่อนายทางก็หลงทาง ๑ จึงได้กลับมาสู่สำนักอาจารย์อีก ดังนี้
ครั้นแล้วสมเด็จพระบรมศาสดา จึงทรงประชุมชาดกว่าปาปกมาณพในครั้งนั้นได้เกิดมาเป็นปาปกภิกษุ ผู้ถือว่าสำคัญเพราะชื่อนี้ ส่วนทิศาปาโมกข์อาจารย์นั้น คือเราตถาคตนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้ เป็นเครื่องคัดค้าน ตำราพราหมณ์ ซึ่งถือการตั้งชื่อเป็นสำคัญ คือพวกพราหมณ์ย่อมมีตำราตั้งชื่อ ตามวัน เดือน ปี ของบุคคลโดยถือว่าการตั้งชื่อไม่ถูกตามตำรา แล้วก็จะเกิดความอัปรีย์จัญไร ถึงคนทั้งหลายเหล่าอื่นก็ย่อมรังเกียจชื่อเหมือนกัน แต่ในทางพุทธศาสนาไม่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ถือแต่ความประพฤติและบาปบุญที่ทำไว้เท่านั้น โดยเหตุนี้ ขอพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จงอย่าหลงงมงายในการตั้งชื่อเลย ให้ระวังแต่ความประพฤติทางกาย วาจา ใจ เท่านั้นเถิด เมื่อมีความประพฤติดีอยู่แล้ว ก็จะมีสิริสวัสดิ์เกิดขึ้นเอง ดังนี้
“มาณพคนหนึ่งชื่อว่าปาปกะได้เห็นคนชื่อว่านายเป็น
ตายลง เห็นนางทาสีชื่อว่านางรวยทรัพย์จน เห็น
คนชื่อว่านายทางหลงทางแล้วก็กลับมา.”
นามสิทธิชาดกจบ.