๙๙
ปโรสหัสสชาดก (ว่าด้วยคนผู้มีปัญญา)
พระพุทธองค์ทรงปรารภปัญหาปุถุชน ๙ ข้อให้เป็นต้นเหตุ ส่วนปัญหา ๕ ข้อนั้น มีอยู่ในสรภังคชาดกข้างหน้า ในชาดกนี้มีใจความโดยย่อว่า ครั้งหนึ่งภิกษุทั้งหลายได้ประชุมกันในธรรมสภา กล่าวสรรเสริญคุณแห่งพระสารีบุตรเถรเจ้าว่าเป็นผู้อาจกล่าวแก้ซึ่งพระพุทธภาษิตที่แสดงโดยย่อให้พิสดารได้ เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงสดับจึงเสด็จไปประทับ ณ ธรรมสภาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรได้กล่าวแก้คำที่ย่อของเราให้พิสดารได้แต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงในปางก่อนก็เหมือนกัน ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงเรื่องอดีตต่อไปว่า ในอดีตกาลล่วงแล้วมานาน มีบุตรของพราหมณ์มหาศาลคนหนึ่ง เมื่อสำเร็จการศึกษาจากเมืองตักกสิลาแล้ว ภายหลังได้ออกไปบรรพชาเป็นฤๅษีอยู่ในป่าหิมพานต์ สำเร็จอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ มีฤๅษีเป็นบริวาร ๕๐๐ องค์ ครั้นต่อมาถึงฤดูฝน ศิษย์ผู้ใหญ่ ของฤาษีนั้นได้พาฤๅษี ๒๕๐ รูป ไปจำพรรษาอยู่ในพระนครแห่งหนึ่ง เวลาฤๅษีผู้เป็นอาจารย์จะทำกาลกิริยาตาย ศิษย์ ๒๕๐ รูปได้ไต่ถามว่า ข้าแต่พระอาจารย์คุณวิเศษอันใดที่ท่านอาจารย์ได้แล้วมีอยู่บ้างหรือ อาจารย์ตอบว่า คุณวิเศษหน่อยหนึ่งมิได้มี ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ก็ทำกาลกิริยาตายไปเกิดในอาภัสสรพรหมโลก ฝ่ายศิษย์ทั้งหลาย เมื่อได้ฟังคำตอบของอาจารย์ดังนั้นก็เข้าใจว่า อาจารย์ของตนไม่ได้คุณพิเศษสิ่งใด จึงพร้อมกันนำศพอาจารย์ไปเผาในป่าช้า โดยไม่ได้ทำสักการบูชาศพเลย เมื่อศิษย์ผู้ใหญ่พาศิษย์บริวารมาถึงทราบว่า อาจารย์ทำกาลกิริยาตายแล้ว จึงถามว่า เมื่ออาจารย์ของพวกเราจะถึงมรณภาพ ท่านทั้งหลายได้ไต่ถามถึงคุณวิเศษของท่านบ้างหรือไม่ ฤๅษีทั้งหลายก็เล่าให้ฟังตามเรื่องที่มีมา จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายไม่รู้จักถ้อยคำของอาจารย์ การที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าคุณวิเศษหน่อยหนึ่งมิได้มีนั้น ท่านหมายความว่า ท่านได้อากิญจัญญายตนสมาบัติ ซึ่งแปลว่า สมาบัติอันไม่มีอะไรสักหน่อยหนึ่งเป็นอารมณ์ มหาพรหมผู้เป็นอาจารย์ได้ทราบเหตุนั้น จึงลงมาจากพรหมโลก มานั่งอยู่บนอากาศตรงอาศรมบทแห่งฤๅษีเหล่านั้น แล้วเปล่งรัศมีให้รุ่งโรจน์ ได้ออกโอษฐ์เปล่งวาจาสรรเสริญศิษย์ผู้ใหญ่ว่า
ปโรสหสฺสมฺปิ สมาคตานํ กนฺเทยฺยุ เต วสฺสสตํ อปญฺญา
เอโกว เสยฺโย ปุริโส สปญฺโญ โย ภาสิตสฺส วิชานาติ อตฺถนฺติ
แปลว่า จำนวนคนตั้งพันก็ดีถ้าไม่มีปัญญาให้ใคร่ครวญไปตั้ง ๑๐๐ ปีก็ตาม (ก็ไม่รู้จักถ้อยคำของเรา) ส่วนบุรุษผู้มีปัญญา ซึ่งรู้จักถ้อยคำของเราเพียงคนเดียวเท่านั้นแหละประเสริฐ เมื่อมหาพรหมกล่าวดังนี้แล้ว ก็กลับไปสู่พรหมโลก
ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า ฤๅษีผู้เป็นศิษย์ผู้ใหญ่ในครั้งนั้น ได้เกิดมาเป็นสารีบุตรในครั้งนี้ ส่วนอาจารย์นั้น ได้เกิดมาเป็นเราตถาคตนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นว่า คนโง่เขลาโฉดเขลาย่อมไม่เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำของนักปราชญ์ทั้งหลาย รู้แต่ความหมายแห่งถ้อยคำของคนที่โง่เขลาด้วยกัน กล่าวคือ คำพูดคำเดียวกัน แต่บางคำนักปราชญ์หมายความอย่างหนึ่ง คนโง่หมายความอย่างหนึ่ง เหมือนกับคำพูดของฤๅษีในชาดกที่แสดงมาแล้วนี้ อีกอย่างหนึ่ง อย่างคำว่า โปรด ถ้าเป็นคำของคนโง่เขลา ซึ่งไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษก็หมายความว่าฆ่าให้ตาย อย่างคนอันธพาลทั้งหลายพูดกันอยู่เสมอว่า จงเอาปลานี้ไปโปรดเสียหรือจงโปรดปลานี้เสีย ดังนี้ คำนี้เขาหมายความว่าให้เอาปลาไปฆ่า ถ้าเป็นคำพูดของนักปราชญ์ก็หมายความว่า ให้ปล่อยปลาไปให้พ้นทุกข์ในแม่น้ำแห่งใดแห่งหนึ่ง โดยเหตุนี้ คนฉลาดกับคนโง่จึงพูดกันไม่สู้จะรู้เรื่อง พอจะเปลื้องความสงสัยให้พ้นไปได้ เพราะคนมีปัญญามักจะพูดให้เป็นแง่คิดเสมอ ส่วนคนโง่ย่อมพูดซื่อ ๆ ไม่ถือว่าเรื่องที่พูดนั้น เป็นเรื่องลับหรือเปิดเผย ควรไม่ควรพูดในที่เช่นไร เป็นเรื่องตื้นหรือลึก เป็นเรื่องควรพูดค่อยหรือควรพูดดัง เพราะเหตุนี้ สามีภรรยาคู่ใดมีอุปนิสัยสติปัญญาไม่เหมือนกัน สามีภรรยาคู่นั้นมักทะเลาะวิวาททุ่มเถียงกันเสมอ ด้วยเหตุความคิดความเห็นไม่ตรงกัน แต่ถ้าคนทั้งสองนั้นต่างรู้สึกตัวว่าใครมีสติปัญญาดีกว่าใคร ใครต่ำกว่าใครแล้วข้างสูงอย่าถือโกรธ ในเมื่อข้างต่ำไม่เข้าใจคำพูดของตน ส่วนข้างต่ำก็ไม่ควรจะถือมานะและทิฏฐิ คอยเชื่อถือตามข้างสูง แล้วก็ระงับการมีปากเสียงกันได้ ขอให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายผู้ที่มีสามีภรรยา จงปฏิบัติตนตามที่วิสัชนามานี้เถิด จึงจะเกิดสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว ดังนี้
“คนโง่เขลาประชุมกัน แม้ตั้งพันคนขึ้นไป พวกเขาไม่มีปัญญา
พึงคร่ำครวญอยู่ตลอดร้อยปี ผู้ใดรู้แจ้งเนื้อความแห่งภาษิต
ผู้นั้นเป็นบุรุษมีปัญญา คนเดียวเท่านั้นประเสริฐ.”
ปโรสหัสสชาดกจบ.