ในสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๙ ขุททกนิกายชาดก ภาค ๑ ข้อ ๑๔๒๐ ภาษาไทยฉบับหลวงของ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งที่ ๓ พุทธศักราช ๒๕๒๑ มีอยู่ว่า :-
“ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะจาริง…”
แปลว่า ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม หมายความว่า คนศักดิ์สิทธิ์ สุนัขศักดิ์สิทธิ์ เครื่องรางของขลังที่ศักดิ์สิทธิ์ เทพารักษ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ที่มีในโลกก็ไม่สามารถดูแลรักษาใครๆ ให้พ้นจากภัยพิบัติได้นอกจากธรรมที่ตนประพฤติปฏิบัติแล้วเท่านั้น จะดูแลรักษาให้เป็นไปตามกรรมนั้นๆ ได้ (นี้คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันแท้จริง)
๑. กุศลกรรมอันดี ๑๐ มีอำนาจรักษาให้พ้นจากภัยพิบัติทุกชนิด
๒. อกุศลกรรมอันชั่ว ๑๐ มีอำนาจนำทางให้ประสบภัยพิบัติ
๓. อนันตริยกรรม ๕ มีอำนาจนำทางให้ประสบภัยพิบัติร้ายแรง
๔. อัพยากตกรรม (วิปัสสนาฯ สัมมาปฏิบัติ) นำไปให้พ้นโลก.
บอกกล่าวให้ทราบ
หนังสือและบทธรรมบรรยายเรื่อง วัดคืออะไรสำคัญแค่ไหน ? ที่ท่านได้อ่านและได้ฟังกันอยู่นี้นั้น อุบัติขึ้นมาได้เพราะผู้บรรยายได้สัมผัสรสที่ซาบซึ้งและซึมซาบเนื้อหาสาระ พุทธศาสนสุภาษิต ที่มีในสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๗ ธัมมปทัฏฐกถา ขุททกนิกาย ข้อ ๒๓ มีว่า :-
◊ เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ จิตฺตํ ราชรถูปมํ
ยตฺถ พาลา วิสีทนฺติ นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ.
แปลว่า ท่านทั้งหลาย จงพากันมาดูโลกนี้ อันเป็นโลกที่วิจิตรงดงามตระการตาดุจราชรถ ที่พวกคนพาล (คนเขลา) หมกมุ่นอยู่ แต่พวกผู้รู้หาข้องอยู่ไม่.
คำว่า ท่านทั้งหลาย ในพุทธภาษิตนี้ หมายถึง เป็นคำปลุกให้คนทั้งโลกตื่นขึ้นจากความหลับ ความหลับ คือ ความประมาท เลินเล่อ ไม่รู้ไม่เห็นโลกที่ตนมาเกิดแล้วดำรงชีวิตอยู่กว่าจะถึงวันตายนี้ แต่เสียงปลุกอาจได้ยินเฉพาะ เวเนยยสัตว์ คือ คนผู้มีบุญติดตัวมามากพอจะแนะนำสั่งสอนได้บ้างเท่านั้น ต่ำกว่านั้นคงตื่นยาก.
คำว่า จงมาดูโลกนี้ หมายถึง จงมาดูชีวิตตนศึกษาหาความรู้ในชีวิตตนให้รู้ให้เห็นโลกในตนตามความเป็นจริง ซึ่งมีอยู่ ๔ โลก และโลกุตตระ ๑ รวมเป็น ๕ คือ (๑) อบายโลก โลกของคนผู้มีจิตใจเสื่อม (๒) มนุสสโลก โลกของคนผู้มีจิตใจสูง (๓) เทวโลก โลกของคนผู้มีหูตาทิพย์ (๔) พรหมโลก โลกของคนผู้มีจิตใจประเสริฐด้วยสมาธิและฌานสมาบัติ (๕) โลกุตตระ คนผู้มีจิตใจพ้นจากโลกทั้งปวง คือหลุดพ้นจากวงโคจรของโลกทั้ง ๔ นั้นแล้ว โดยบัญญัติว่า “นิพพาน”
เมื่อรู้เห็นโลกอย่างชัดเจนแล้ว เราก็สามารถเลือก วิถีชีวิตให้อยู่ในโลกที่มีความปลอดภัยสูงสุดได้ คือ อาจเลือกอยู่ในมนุสสโลก เทวโลก พรหมโลกหรือโลกุตตรก็ได้ตามความรู้ที่ตนรู้มา ส่วนอบายโลกนั้นรู้เห็นว่า มีภัยพิบัตินานาชนิดที่กระจายอยู่ทั่วทั้งแผ่นดินก็งดเว้นวิถีชีวิตไม่ดำเนินไปดังนั้น สัตบุรุษ จะแนะนำให้เวเนยยสัตว์ปฏิบัติเพื่อให้ศึกษาและดูตนของตนให้รู้เห็นโลกตามความจริงนั้นมีอยู่ ๓ หลัก คือ สั่งสอนให้มีสัมมาทัศนหรือสัมมาทิฏฐิ ๑ สั่งสอนให้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาสายกลาง ๑ สั่งสอนให้แสดงอุปนิสัยออกมาตามความจริง และแสดงตามธรรมชาติของตนเอง โดยไม่มีเจตนาแอบแฝงแต่อย่างใด ๑
วัด ซึ่งหมายถึง สถานที่สอบขนาดคุณธรรมในใจของคนนั้น ก็จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่สัตบุรุษจะดำรงชีพอยู่ และสำหรับเป็นที่สั่งสอนเวเนยยสัตว์ใน ๓ หลักนั้น ให้ได้ศึกษาและปฏิบัติตน จะได้รู้เห็นโลกตามความเป็นจริงได้ แต่คนทั่วไปยังไม่เข้าใจคำว่า “วัด” กันเลย เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องวัดได้รู้และเข้าใจคำว่า “วัด” จะได้ปฏิบัติชอบกับสถานที่ที่เรียกว่าวัดนั้น หนังสือและบทธรรมบรรยายจึงอุบัติขึ้นมาให้ได้อ่านและฟังกัน เนื้อหาสาระในหนังสือและบทธรรมบรรยายเหล่านี้ อาจเป็นเสียงปลุกให้เวเนยยสัตว์ได้ตื่นมาดูโลกให้รู้เห็นแล้วกลายเป็นสัตบรุษคนใหม่สั่งสอนเวเนยยสัตว์ต่อไปอีกได้.
พระครูสุคนธ์คณารักษ์
เจ้าอาวาสและเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด
วัดหนองริวหนัง อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐พุทธศาสนสุภาษิตเตือนใจ
(มาในสุตตันตปิฏกภาษาไทย เล่ม ๘ สังยุตตนิกาย
นิทานวรรค อาณิสูตร คือ ลิ่มธรรม ข้อ ๖๗๒)
—————————-
… ดูกรภิกษุทั้งหลาย! พวกภิกษุในอนาคตกาล เมื่อเขา (ผู้เผยแผ่พุทธศาสนา) กล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นธรรมอันลึก (คัมภีรา) มีความหมายลึก (คัมภีรัตถา) เป็นโลกุตตรธรรม (โลกุตตรา) ประกอบไปด้วยสุญญตธรรมอยู่ (สุญญะตะปะฏิสัญญุตา) จักไม่ปรารถนาฟัง จักไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อรู้ และจักไม่สำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าเป็นธรรมควรเล่าเรียนเป็นธรรมควรศึกษา แต่เมื่อเขากล่าว (ผู้เผยแผ่พุทธศาสนา) สูตรอันนักปราชญ์ (นักปราชญ์นอกจากพระพุทธเจ้า) รจนาไว้ร้อยกรองไว้ ซึ่งมีอักษรอันวิจิตร มีพยัญชนะอันวิจิตร และเป็นภายนอก (นอกจากอริยสัจในกาย ใจ) เป็นสาวกภาษิตอยู่ จักปรารถนาฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้และจักสำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าเป็นธรรมที่ควรเรียน เป็นธรรมที่ควรศึกษา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย! พระสูตรเหล่านั้น ที่ตถาคตกล่าวแล้ว…จักอันตรธาน… (โปรดไปอ่านดูในอาณิตสูตร จักรู้ความห่วงใยของพระพุทธองค์ ที่ทรงห่วงใยต่อพวกภิกษุในอนาคตกาล).
วัดคืออะไรสำคัญแค่ไหน
วัด คือสถานที่เป็นที่สอบขนาดแห่งคุณธรรมในใจของคนผู้เกี่ยวข้องกับวัด จะตรงกับภาษาอีสานว่า “แทก” และคนผู้เกี่ยวข้องวัดมี ๓ จำพวกคือ :-
๑. คนที่อยู่ประจำวัด คือ ผู้สละบ้านเรือนมาเป็นบรรพชิตแล้วอาจจะบวชเป็นภิกษุ เป็นสามเณร เป็นแม่ชีก็ได้ หรืออาจจะปฏิญาณตนว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ได้ แต่ดำรงชีวิตอยู่ในวัดที่ตนสังกัด
๒. คนที่ขวนขวายไปรับใช้ หรือไปทำกิจการในวัดที่เรียกกันว่า “เวยยาวัจกร” นั้น และคนจำพวกนี้ไม่ได้อยู่วัดเป็นประจำเหมือนกับพวกบรรพชิต ๓. คนที่ได้นามว่าทายกทายิกา หรือพุทธศาสนิกชนทั่วๆไป ส่วนมากจะไปเกี่ยวข้องด้วยการทำทานเพื่อหวังส่วนบุญบ้าง ไปสนทนาธรรมหรือสอบถามปัญหาบ้าง ไปเรียนปริยัติธรรมบ้าง เป็นต้น คนที่ไปเกี่ยวข้องกับวัดทั้ง ๓ จำพวกนี้ ในแง่ของการปฏิบัติจริงแล้ว ถือว่าเป็นผู้ไปวัดหรือไปสอบขนาดแห่งคุณธรรมในใจของตนๆทั้งนั้นว่า ตนมีคุณธรรมในด้านใดมาก ด้านทาน ด้านศีล หรือด้านปัญญา (ทาน ใจกว้าง x ศีล ใจยาวหรือไกล x ปัญญา ใจสูงหรือลึก)ชีวิตหรือใจจะมีขนาดไหนนั้น ย่อมรู้ได้ถ้าคนไปวัดตนในวัดจริงๆ
[๑] ทานมัย
ทานมัย คือ บุญ (คุณธรรมที่ให้ชีวิตเป็นมนุษย์เต็ม) อันสำเร็จด้วยการทานหรือการให้นั้น มีอยู่ ๓ ขั้น คือ
๑. ทานปารมี คือ ปฏิปทาอันจักยังผู้ปฏิบัติในทานให้ถึงฝั่ง (ฝั่งมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก) หมายถึง การวัดตนด้วยสามัญทานหรือทานธรรมดา เช่น ทานจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และทานปัจจัยอื่นๆ ที่สมควรแก่สมณะบริโภค การทานก็มีเจตนาทานลงในเนื้อนาบุญของโลก และไม่หวังผลตอบแทนด้วย ข้อนี้ก็เป็นการวัดหรือสอบขนาดคุณธรรมอย่างหนึ่ง. ๒. ทานอุปปารมี คือ ปฏิปทาอันจักยังผู้ปฏิบัติในทานให้เข้าไปใกล้ฝั่ง (ใกล้ฝั่งนิพพานหรือโลกุตตระ) หมายถึง การวัดตนด้วยทานที่เหนือกว่าสามัญทาน หรือเหนือกว่าทานธรรมดา เพราะเป็นการทานโดยไม่ต้องทาน หรือทานโดยไม่มีผู้รับ แต่เป็นการทานด้วยวิธีงดเว้นให้ห่างไกล เช่น :- – ทานชีวิตสัตว์ ด้วยวิธีเว้นจากการเกี่ยวข้องสัตว์ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น ข้อนี้ก็เป็นทานอุปปารมีหนึ่ง. – ทานทรัพย์สิน ด้วยวิธีเว้นจากการเกี่ยวข้องทรัพย์สินในทางทุจริต ไม่ว่าการได้มา การบริโภคและการเก็บรักษา ข้อนี้ก็เป็นทานอุปปารมีหนึ่ง. – ทานอบายมุขต่างๆ มีสุรา การพนัน เป็นต้น ด้วยวิธีไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ข้อนี้ก็เป็นทานอุปปารมีหนึ่ง. ทานชีวิตสัตว์ก็ดี ทานทรัพย์สินก็ดี หรือแม้ทานอบายมุขต่างๆ มีสุรา เป็นต้น ก็ดี ข้อนี้ก็เป็นการวัดหรือสอบขนาดคุณธรรมอย่างหนึ่ง. ๓. ทานปรมัตถปารมี คือ ปฏิปทาอันจักยังผู้ปฏิบัติในทานเพื่อให้ถึงฝั่งปรมัตถ์ หรือถึงฝั่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง (คือฝั่งนิพพานหรือฝั่งโลกุตตระ) หมายถึง การวัดตนด้วยทานที่เป็นทานอย่างยิ่ง หรือที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือ ยิ่งกว่าทานปารมี และทานอุปปารมีมาก และสำหรับปรมัตถทานนั้น มีอยู่ ๖ อย่าง คือ :- ๑. ทานรูป คือ สำรวมระวังตาเมื่อเห็นรูป ไม่ให้ยินดียินร้าย ๒. ทานเสียง คือ สำรวมระวังหูเมื่อได้ยินเสียง ไม่ให้ยินดียินร้าย ๓. ทานกลิ่น คือ สำรวมจมูกเมื่อได้กลิ่น ไม่ให้ยินดียินร้าย ๔. ทานรส คือ สำรวมระวังลิ้นเมื่อลิ้มรส ไม่ให้ยินดียินร้าย ๕. ทานโผฏฐัพพะ คือ สำรวมระวังใจเมื่อมีสิ่งถูกต้องกาย ไม่ให้ยินดียินร้าย ๖. ทานธรรมารมณ์ คือสำรวมระวังใจเมื่อมีอารมณ์อดีต อนาคต เข้ามาไห้ได้คิด ไม่ให้ยินดียินร้ายคำว่า สำรวมระวังนั้น หมายถึง การตั้งสติ กำหนดบริกรรมหรือภาวนา ในขณะที่ตาเห็นรูป เป็นต้น และกำหนดหรือบริกรรมให้ได้ปัจจุบันทันทีที่สัมผัสทุกครั้งเรียกว่า “ปรมัตถทาน” คือ ทานอารมณ์ดีและอารมณ์ร้ายออกไปจากใจของตนให้หมดสิ้น พระเรียกความรู้นี้ว่า “อาสวักขยญาณ” แปลว่า ญาณหรือความรู้ในการชำระอาสวะกิเลสอันเป็นเครื่องดองสันดานในชีวิตให้หมดสิ้นไป คือ หมดสิ้นไปทั้งอาสวะหรือเครื่องดองสันดานเก่า และอาสวะหรือเครื่องดองสันดานใหม่พร้อมกัน
การที่คนเราสามารถทำให้อาสวะของตนสิ้นไปได้นั้น ก็เป็นการทานอย่างหนึ่งเหมือนกัน และเรียกว่า “ปรมัตถทาน” ข้อนี้ก็เป็นการวัดหรือเป็นการสอบขนาดคุณธรรมอย่างหนึ่ง. ผู้ปฏิบัติทานปารมีสายสัมมาทิฐิจริงๆ ก็ได้มีคุณธรรมระดับมนุษย์ เทพ หรือระดับพระพรหมเป็นอย่างสูง แต่ถ้าทำทานในสายที่เป็นมิจฉาทิฐิ หรือสายทิฐิวิปัลลาสแล้ว แม้จะทานมากและหรือทานบ่อยสักปานใดก็ตาม คุณธรรมจริยธรรมของเขาก็จะตกอยู่ในวังวนแห่งอบายภูมิ มีสัตว์นรก เป็นต้น เพราะการทำทานประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐินี้นั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นศรัทธาญาณวิปปยุต คือ ทำทานที่ปราศจากญาณหรือปราศจากปัญญา สัมมาทิฏฐิ [๒] สีลมัย(สุตตันตปิฎก เล่ม ๑ ฑีฆนิกาย สีลขันธวรรค ข้อ ๑๖๓)
สีลมัย คือ บุญ (คุณธรรมที่ยังชีวิต เป็นต้นให้ปรกติ) อันสำเร็จด้วยการปฏิบัติศีลนั้น มีอยู่ ๓ ขั้น คือ จุลศีล ๑ มัชฌิมศีล ๑ มหาศีล ๑
๑. จุลศล มีอยู่ ๒๖ ข้อ
จุลศีล คือ ความปรกติเล็กน้อย หมายถึง ชีวิต ทรัพย์สมบัติของบุคคลผู้ศึกษาและปฏิบัติจุลศีล จะมีความปลอดภัยไม่มาก จะประสบปัญหาบ้างแต่ไม่รุนแรง
๒. มัชฌิมศีล มีอยู่ ๑๐ ข้อ
มัชฌิมศีล คือ ความปรกติพอปานกลาง หมายถึง ชีวิต ทรัพย์สมบัติของบุคคลผู้ศึกษาและปฏิบัติมัชฌิศีล จะมีความปลอดภัยพอปานกลาง ประสบปัญหาบ้างเล็กๆ น้อยๆ ความปรกติมีมากกว่า๓. มหาศีล มีอยู่ ๗ ข้อ
มหาศีล คือ ความปรกติมาก หมายถึง ชีวิต ทรัพย์สมบัติของบุคคลผู้ศึกษาและปฏิบัติมหาศีล จะมีความปลอดภัยสูง แทบจะไม่มีปัญหาใดๆ เลยในชีวิต หากจะมีก็เป็นกรรมชั่วเก่าตามมา
จุลศีล ๒๖ ข้อ
จุลศีล มาในสุตตันตปิฎก เล่ม ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ในสูตรชื่อว่า อัมพัฏฐสูตร ข้อ ๑๖๓ ภาษาไทยฉบับหลวง พ.ศ. ๒๕๒๑
๑. เธอเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
๒. เธอเว้นขาดจากการลักทรัพย์ ๓. เธอเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ๔. เธอเว้นขาดจากการพูดปด ๕. เธอเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด ๖. เธอเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ ๗. เธอเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ๘. เธอเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม (พืชคาม คือพืชที่พรากจากที่แล้วยังเป็นได้อีก ภูตคาม คือ พืชที่ขึ้นอยู่กับที่ในดิน) ๙. เธอเว้นขาดจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ๑๐. เธอเว้นขาดจากการฟ้อนรำ การขับร้อง การประโคมดนตรี การดูการเล่นชนิดที่เป็นข้าศึกต่อกุศล ๑๑. เธอเว้นขาดจากการทัดทรงประดับ การตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องประเทืองผิว (เครื่องสำอาง) ๑๒.เธอเว้นขาดจากการนั่งนอน บนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ ๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน ๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ ๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ ๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี ๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส ๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ ๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร ๒๐.เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา ๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่ นา และที่ดิน ๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรม และการรับใช้ฆราวาส ๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อการขาย ๒๔. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด ๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง การตลบตะแลง ๒๖. เธอเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และการกรรโชก
มัชฌิมศีล ๑๐ ข้อ
มัชฌิมศีล แปลว่า ความปรกติพอปานกลาง คือ ผู้ปฏิบัติตามมัชฌิมศีลได้ตลอดชีวิต ชีวิตก็ดี ทรัพย์สมบัติ เป็นต้น ก็ดีจะมีความปรกติหรือปลอดภัยพอปานกลาง มีอยู่ ๑๐ ข้อ คือ
๑. เธอเว้นขาดจากการพรากพืชครามและภูตคราม ๕ ชนิด คือ พืชเกิดแต่เหง้า พืชเกิดแต่ลำต้น พีชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด และพืชเกิดแต่เมล็ด ๒. เธอเว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ ๓. เธอเว้นขาดจากการดูการเล่นชนิดที่เป็นข้าศึกต่อกุศล เช่น ดูการฟ้อนรำ การขับร้อง การดนตรี เป็นต้น ๔. เธอเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๕. เธอเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นอนสูงใหญ่ เช่น เตียงมีเท้าสูงเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย (เตียงขาสิงห์) เป็นต้น ๖. เธอเว้นขาดจากการประกอบการประดับตบแต่งร่างกายอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว เช่น อบตัว ไคลอวัยวะ อาบน้ำหอม นวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้ขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้า ประดับวิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชาย เป็นต้น ๗. เธอเว้นขาดจากการติรัจฉานกถา เช่น พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ เป็นต้น ๘. เธอเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่น ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมานั้นผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจงแก้เสีย ถ้าสามารถ เป็นต้น ๙. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เช่น รับเป็นทูตของพระราชา ราชมหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี และกุมารว่า ท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่โน้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไปที่โน้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ในที่โน้นมา เป็นต้น ๑๐. เธอเว้นขาดจากการพูดหลอกลวง การพูดเลียบเคียง เช่น พูดหว่านล้อม พูดแทะเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ เป็นต้น
มหาศีล ๗ ข้อ
๑. เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์ เป็นต้น
๒. เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะคัสตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทายลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกะทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค เป็นต้น
๓. เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกทัพออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชาภายในจักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด พระราชาภายในจักถอย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาองค์นี้จักมีชัย พระราชาองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ๆ เป็นต้น ๔. เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น พยากรณ์ว่าจักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทาง ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง ดาวนักษัตรจักเดินผิดทาง จักมีอุกาบาตร จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักขึ้น ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักหมอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักกระจ่าง จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินทางถูกจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินทางผิดจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินทางถูกจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินทางผิดมีผลเป็นอย่างนี้ มีอุกาบาตจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรตกจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมองจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็นอย่างนี้เป็นต้น เป็นต้น ๕. เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น พยากรณ์ว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษาหาได้ง่าย จักมีภิกษาหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือนับคะแนน คำนวณ นับประมวล แต่งกาพย์ โลกายศาสตร์ เป็นต้น ๖. เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ให้ฤกษ์อาวาหมงคล วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดุฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยิน เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงผู้หญิง เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ เป็นต้น ๗. เธอเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้าน เรือน ทำกระเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกระเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยาชะแผล เป็นต้น
[๓] ปัญญาหรือภาวนามัย
ปัญญา แปลว่า ความรู้ทั่ว หมายถึง ความรู้ที่รู้อย่างทั่วถึง คือรู้ทุกๆ อย่างที่มนุษย์ควรจะรู้ เรียกว่า ปัญญา และมีปัญญาหรือมีความรู้ที่คนจะรู้ได้อยู่ ๓ ระดับ คือ
๑. สุตามยปัญญา ความรู้ที่รู้ได้จากการฟัง คือ ฟังผู้อื่นสั่งสอนด้วยวิธีการอธิบายขยายความ การบรรยาย การเทศนา การปาฐกถา หรือการสนทนา การไต่สวนทวนถาม เป็นต้น แต่ส่วนมากจะได้จากการสั่งสอนในห้องเรียน ทั้งระดับอนุบาลศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา เพราะมุ่งมั่นที่จะเอาประกาศนียบัตรให้ได้ จึงมีการใส่ใจในการฟังและจดจำให้ได้มากๆ หรือมิฉะนั้นก็ใส่ใจในการอ่านหนังสือที่ผู้รู้แขนงนั้นๆ เขียนไว้ เมื่ออ่านหนังสือแขนงใดก็รู้และจดจำไว้ได้มากในเรื่องนั้นๆ อย่างนี้ก็จัดว่าเป็น สุตามยปัญญาทั้งสิ้น๒. จินตามยปัญญา ความรู้ที่รู้ได้จากการคิด คือ นำความรู้ที่รู้จากการเรียน การฟัง การอ่านนั้นมาเป็นหลักในการคิด ส่วนจะคิดไปในแนวใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานที่ตนได้เรียนมา ฟังมา อ่านมา ในแนวใดก็ย่อมจะคิดไปในแนวนั้น เช่นเรียนวิทยาศาสตร์ ก็ย่อมคิดไปตามแนววิทยาศาสตร์ เป็นต้น อันความรู้ที่ได้มาจากการคิดอย่างนี้ก็จัดว่าเป็นจินตามยปัญญา
๓. ภาวนามยปัญญา ความรู้ที่รู้ได้จากการปฏิบัติภาวนาทางใจโดยไม่มีการเรียน การอ่าน การคิดแต่อย่างใด คือ ทำให้มีปัญญาขึ้นมาด้วยการปฏิบัติสมถภาวนาบ้าง วิปัสสนาภาวนาบ้าง สมถภาวนาทำให้มีปัญญาด้านความสงบเกิดเป็นฌานสมาบัติ ส่วนวิปัสสนาภาวนา ทำให้มีปัญญารู้เห็นอริยสัจ ๔ อย่าง คือ รุ้เห็นความทุกข์ เหตุเกิดความทุกข์ ความดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้มีปัญญาดับทุกข์ได้
[๔] หลักและวิธีการเข้าวัดเพื่อวัดตน
การไปวัดเพื่อวัดตน หรือเพื่อสอบขนาดคุณธรรมจริยธรรมในตนด้วยทานมัย สีลมัย และภาวนามัยนั้น ในทางปฏิบัติจริงไม่ใช่จะวัดกันได้ง่ายๆ แม้ท่านจะอ่าน ฟัง เขียนบันทึกและพยายามจดจำให้ได้ทุกคำหรือทุกตัวอักษรก็ตาม เพราะบทความเหล่านั้นเป็นความรู้หรือเป็นปัญญาของผู้อื่น เป็นกุศลวิบากหรือเป็นผลกรรมดีของผู้อื่น ซึ่งผู้นั้นปฏิบัติกุศลกรรมหรือกรรมดีอันเป็นเหตุมาจนได้ผลแล้ว จึงนำผลิตผล คือ ปัญญาหรือความรู้นั้นๆ มาสั่งสอนเราให้รู้ตาม เท่านั้น “ อักขาตาโร ตถา คตา” พระตถาคต เป็นเพียงผู้บอกทางให้เท่านั้น ส่วนการปฏิบัติเป็นหน้าที่หรือเป็นภาระของท่านเอง ดังนี้.
เปรียบเหมือนคนผู้มีปัญญาด้านการเกษตรที่เกี่ยวกับผลไม้ เขาสามารถใช้ความรู้นั้นปลูกผลไม้มีมะม่วง เป็นต้น จนได้ ผลผลิตออกมาขายเป็นสินค้าในท้องตลาด และเขียนหนังสือเกี่ยวกับการปลูกมะม่วงบ้าง เป็นวิทยากรบรรยายบ้าง คุยสนทนากับใครต่อใครบ้าง และมีตัวอย่างมะม่วงสุกที่เขาผลิตได้มาแบ่งปันเรารับประทานบ้าง เป็นต้น เมื่อเราฟังคำบรรยาย หรืออ่านหนังสือ และได้สนทนากับนักการเกษตรคนนี้จบ จำเนื้อหาสาระได้ด้วย และได้รับประทานมะม่วงที่เป็นผลผลิตของเขาด้วยตนเองด้วย เพียงเท่านี้จะถือว่าตนเองเป็นนักการเกษตรได้อย่างไรกัน เรื่องการเกษตร ฉันใด การไปวัดเพื่อวัดตนก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพื่อให้รู้หลักและวิธีการในการเข้าไปในสถานที่ที่เป็นวัด โดยการวัดคุณธรรมจริยธรรมในตนเองด้วยทานมัย สีลมัย ภาวนามัย อย่างแท้จริงได้นั้น ก็ควรปฏิบัติตนตามหลักจักร ๔ อย่างนี้ก่อน ซึ่งจักร ๔ นี้ เป็นพุทธศาสนา หรือเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหมวดหนึ่ง ซึ่งมีในสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อ ๓๑ ความว่า จักร ๔ คือ เครื่องจักรเครื่องยนต์อันเป็นสรีระ (ชีวิต) นี้ อันประกอบด้วยล้อ ๔ล้อหรืออิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน นี้นั้น เป็นเครื่องอันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลา ยประกอบแล้ว (ปฏิบัติจริงแล้ว) ย่อมถึงความเป็นใหญ่ และความไพบูลย์ในโภคทรัพย์ทั้งหลาย (สวิญญาณกทรัพย์ และอวิญญาณกทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์) ปัญญาหรือความรู้ก็จัดว่าเป็นโภคทรัพย์อย่างหนึ่ง คือ เป็นอริยทรัพย์ทางวิญญาณ และจิตใจของเราเอง ซึ่งมีจักรที่เราควรปฏิบัติก่อนแล้วจึงไปวัดตัวได้ มีอยู่ ๔ อย่าง คือ๑. ปฏิรูปเทสะวาสะ การใช้ชีวิตอยู่ในถิ่นที่สมควร
๒. สัปปุริสูปัสสยะ คลุกคลีอยู่กับสัตบุรุษผู้เป็นเจ้าสำนัก
๓. อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งปณิธานอันชอบไว้ในตน
๔. ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้มีบุญที่ตนได้กระทำไว้แล้วในปางก่อน
(๑) ปฏิรูปเทสวาสะ
ปฏิรูปเทสวาสะ แปลว่า การใช้ชีวิตอยู่ในถิ่นที่สมควร คือ อยู่ในสถานที่ที่มีการสั่งสอนให้มีการปฏิบัติปฏิรูปตนเองได้ ได้แก่ การปฏิรูปตนผู้ไม่มีการทำทาน ก็สามารถกลับเป็นคนยินดีในทานได้ และทานได้ทั้งทานปารมี ทานอุปปารมี ทานปรมัตถปารมี ด้วย และปฏิรูปตนได้ทั้งการปฏิบัติในศีล ตลอดถึงปฏิบัติในภาวนาด้วย เราพบเห็นหรือทราบว่า มีสถานที่สั่งสอนอย่างนี้อยู่ที่ไหนก็พยายามไปให้ได้
(๒) สัปปุริสูปัสสยะ
สัปปุริสูปัสสยะ แปลว่า คลุกคลีอยู่กับสัตบุรุษผู้เป็นเจ้าสำนัก คือ คลุกคลีเพื่อสอบถามให้ได้ปัญญา ตามกฎแห่งกุศลกรรม หรือ กรรมดี ในสุตตันติปิฎก เล่ม ๖ มัชณิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อ ๕๗๙ (๗) ว่า ถ้าใคร ปรารถนาให้ตนเป็นคนมีปัญญาดีก็ให้ถามสัตบุรุษว่าอะไรเป็น กุศลธรรม เป็นอกุศลธรรม เป็นอัพยากตธรรม เป็นต้น
สัตบุรุษ คือ คนผู้มีคุณธรรมจริยธรรมประจำชีวิต ๗ ประการ มีมา ในสุตตันตปิฎก เล่ม ๓ ทีฑนิกาย ปาฏิกวรรค ข้อ ๓๓๑ ว่า สัปปุริสธรรม (ธรรมที่ทำให้คนเป็นสัตบุรุษ) ๗ อย่าง คือ
๑. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักธรรม คือ รู้จักกุศลธรรม ๑๐ อกุศลธรรม ๑๐ อัพยากตธรรม ๔ (สติปัฏฐาน ๔) ซึ่งปรากฏอยู่ในชีวิตของทุกๆ คน เป็นต้น และรู้ว่าธรรมเหล่านี้ เป็นสาเหตุให้คนเป็นคนดีหรือไม่ดีหรืออยู่เหนือดีและไม่ดีได้ ในเมื่อประพฤติปฏิบัติไปแล้ว ๒. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประโยชน์ คือ รู้จักว่ากุศลธรรม ๑๐ เป็นเหตุนำประโยชน์มาให้ในภายหลัง ทั้งประโยชน์ในทิฏฐธรรม ทั้งประโยชน์ในสัมปรายิกภพ และประโยชน์ปรมัตถ์ ส่วนอกุศลกรรม ๑๐ เป็นเหตุนำโทสานุโทษมาให้ ในภายหลัง ทั้งโทษในปัจจุบัน ทั้งโทษ ในภายหน้า และโทษอย่างยิ่ง และรู้ว่าอัพยากตธรรม ๔ อย่าง อันได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ นั้น ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง คือ หลุดพ้นทั้งความดีและความไม่ดีหมด๓. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน คือ รู้จักเพศ อายุ ความรู้ความสามารถ คุณธรรม ฐานะ เป็นต้น ของตนว่าเป็นไปอย่างไร รู้แล้วก็จะได้วางตัวหรือวางความประพฤติไปตามฐานะที่สมควรแก่ตน
๔. มัตตัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดีในทุกๆ อย่าง เช่น ความพอดีในการบริโภคอาหาร ความพอดีในการแสวงหาปัจจัย ความพอดีในการใช้จ่าย ความพอดีในการทำงาน การนอน การพักผ่อน เป็นต้น
๕. กาลัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักเวลา คือ รู้จักเวลาในกิจการ รู้ว่ากิจการไหนควรทำเวลาใด กิจการไหนควรใช้เวลามากน้อยเท่าไรจึงจะเหมาะสมแก่ความพอดี เป็นต้น
๖. ปริสัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักบริษัทหรือชุมชน คือ รู้จักว่าชุมชนนี้ควรจะแสดงความเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรือควรจะแสดงอุเบกขาดี และเมื่อรู้ว่าดีแล้วก็ควรรู้ต่อไปว่า ดีไปในด้านใดบ้าง เป็นต้น
๗. ปุคคลัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือรู้ว่าบุคคลนี้มีดีมีเลวอย่างไรบ้าง รู้ว่าเขาดำรงตนอยู่ในอาชีพชนิดใดควรคบหรือไม่ควรคบ หรือว่าเขาถนัดทางไหน ควรมอบงานอะไรให้ทำจึงจะเหมาะกับนิสัยใจคอ เป็นต้น
(๓) อัตตสัมมาปณิธิ
อัตตสัมมาปณิธิ แปลว่า การตั้งปณิธานอันชอบไว้ในตน คือ การไปใช้ชีวิตอยู่ในสำนักของสัตบุรุษนั้น ควรมีความตั้งใจชอบไว้กับสัตบุรุษว่า เราโง่ มีปัญญาไม่เพียงพอ ประสบกับความทุกข์ก็แก้ไขไม่ได้ และชีวิตเราก็ถูกความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ครอบงำอยู่ ทำอย่างไรหนอจึงจะได้ปัญญาจากสัตบุรุษ เอาละ ! เราจะพยายามปฏิบัติตามคำสั่งสอนของสัตบุรุษ เท่าที่กำลังเราจะปฏิบัติได้ เป็นต้น
(๔) ปุพเพกตปุญญตา
ปุพเพกตปุญญตา แปลว่า ความเป็นผู้มีบุญที่ตนได้กระทำไว้แล้วในปางก่อน ข้อนี้สำคัญมาก คือ เมื่อผู้มีบุญอันตนทำไว้แล้วในปางก่อนมีก็ย่อมได้พบเห็นถิ่นที่สมควร แล้วก็มีศรัทธาเข้าไปอยู่ จากนั้นก็มีความสนิทสนมกับสัตบุรุษ การตั้งใจตั้งปณิธานก็ไปในทางที่ชอบได้ แต่ถ้าขาดบุญแล้วก็ขาดหมด ดังนั้น จึงควรเริ่มกันที่บุญ มีบุญทานบ้าง บุญศีลบ้าง บุญภาวนาบ้าง แต่ให้ชอบด้วย เป็นต้น
หลักการเผยแผ่พุทธศาสนา หรือ การสั่งสอนธรรมของสัตบุรุษ
สัตบุรุษ คือ คนผู้ไปอยู่ในสถานที่วัดโดยวัดตัวเองได้สำเร็จแล้ว มี พระอัสสชิ พระสารีบุตร พระอุบาลี พระมหากัสสปะ นางวิสาขา เป็นต้น และก็วัดได้ทั้งทานมัย ๓ ระดับ ศีลมัย ๓ ระดับ และวัดได้ทั้งภาวนามัย ๓ ระดับเช่นกัน จึงมีคุณธรรมจริยธรรมของสัตบุรุษประจำชีวิต ๗ อย่าง มีธัมมัญญุตา เป็นต้น ดังนั้น สัตบุรุษจริงๆ จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ในเมื่อเห็นเพื่อนร่วมโลกประสบทุกข์ คือ ประสบความเกิด แก่ เจ็บ และความตายด้วยกันทั้งสิ้น ท่านจึงมีแผนการหลักๆ ในการเผยแผ่พุทธศาสนาหรือการสั่งสอนชาวโลกอยู่ ๓ หลักใหญ่ๆ ซึ่งเป็นหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ใน อภิธรรมปิฎกเล่ม ๑ ธรรมสังคณีปกรณ์ ติกมาติกา ๒๒ ติก คือ หมวดธรรมที่เป็นแม่แห่งธรรมทั้งหลาย ๒๒ แม่ๆ ละ ๓ หมวด (๘) ทัสสนติก มีว่า
๑ ทัสสเนน ปหาตัพพา ธัมมา. (โลกัตถจริยา)
๒. ภาวนาย ปหาตัพพา ธัมมา. (พุทธัตถจริยา)
๓. เนว ทัสสเนน น ภาวนาย ปหาตัพพา ธัมมา. (ญาตัตถจริยา)
(๑) ทัสสเนน ปหาตัพพา ธัมมา.
ทัสสเนน ปหาตัพพา ธัมมา. แปลว่า ธรรมที่บุคคลพึงละได้ด้วยทัศน (ตำราระบุว่า สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส) ว่าในทางปฏิบัติจริงๆ แล้ว หมายถึง ธรรมส่วนที่เป็นอกุศลหรือธรรมฝ่ายบาปที่ไม่ฉลาดบางอย่าง อันบุคคลพึงละได้ด้วยทัศน คือ สัมมาทัศนหรือความเห็นชอบก็ละได้ เช่น บางคนมีความเห็นผิดเกี่ยวกับวัน เดือน ปีว่า วันอังคาร เป็นวันแข็ง เป็นวันไม่ดี เป็นต้น แต่เมื่อสัตบุรุษ ถามว่า วันอังคารจริงๆนั้น ปรากฏอยู่ที่ไหนมีอะไรเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่า วันทั้งเจ็ด เดือนทั้งสิบสอง และปีทั้งสิบสองจริงๆ ปรากฏอยู่ที่ไหนภายในโลกใบนี้ ถ้าโดนถามอย่างนี้เขาจะตอบไม่ได้แน่ จะตอบได้เพียงว่า วัน เดือน ปี มีอยู่ที่ปฏิทินอันคนทำขึ้นใช้แต่ละปีๆไปเท่านั้น ดังนี้เป็นต้น แล้วสัตบุรุษก็ให้ความเห็นใหม่ว่า ความจริงแล้ว วัน เดือน ปี ไม่มีในโลก เป็นการสมมุติบัญญัติใช้เป็นการสื่อความหมายกันเท่านั้น ดี – ชั่ว อยู่ที่การกระทำของคน เมื่อคนทำบาปหรือทำชั่ววันไหนก็ชั่วทันทีในวันนั้น คนงดเว้นจากการทำชั่ววันไหน คนผู้งดเว้นก็ดีทันทีในวันนั้น ผู้ฟังเข้าใจซาบซึ้งแล้วก็เปลี่ยนความเห็นผิดเป็นชอบว่า วันอังคารไม่มีในโลก ดี – ชั่ว อยุ่ที่กรรมของคน ดังนี้ เป็นต้น แม้ความเห็นเรื่อง นรก สวรรค์ โรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้นก็ตาม การเปลี่ยนความเห็นผิดเป็นชอบได้ก็เข้าหลักแห่งการละสักกายทิฏฐิทั้งสิ้น การพูดให้คนเลิกละมิจฉาทิฎฐิให้เป็นสัมมาทิฏฐิใน วัน เดือน ปี เช่นนี้ก็เข้าหลักการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลักษณะที่ว่า ทัสสเนน ปหาตัพพา ธัมมา. คือ ธรรมที่บุคคลพึงละได้ด้วยทัศน เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ คือ โลกัตถจริยา ของสัตบุรุษ
(๒) ภาวนาย ปหาตัพพา ธัมมา.
ภาวนาย ปหาตัพพา ธัมมา. แปลว่า ธรรมที่บุคคลพึงละได้ด้วยภาวนา คือ วิปัสสนาภาวนาที่ประกอบด้วยสติปัฏฐาน ๔ และเป็นไปในทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา ประกอบด้วยองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น) เท่านั้น ธรรมเหล่านี้ คือ อาสวะ ๔ อนุสัย ๗ สังโยชน์ ๑๐ และธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันได้กับธรรมเหล่านี้ก็นับเนื่องเข้าด้วย บุคคลพึงละได้ด้วยภาวนา (วิปัสสนาภาวนาสายกลาง) อย่างเดียว จะไปสนทนากับสัตบุรุษเพื่อเปลี่ยนมิจฉาทัศน ให้เป็นสัมมาทัศนเท่าไรก็ละธรรม คือ อาสวะ เป็นต้นไม่ได้แน่ เพราะอยู่ลึกลับมาก
สัตบุรุษมองเห็นอุปนิสัยของบางคนว่า มีปุพเพกตปุญญตามากพอ จึงสั่งสอนให้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ประกอบด้วยสติปัฏฐาน ๔ และเป็นไปในทางสายกลาง ผู้ปฏิบัติจะได้พบเห็นวิปัสสนาญาณ ๑๖ ระดับ และวิปัสสนาญาณ ๓ อีกสุดท้าย คือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (เกิดปัญญาระลึกชาติหนหลังได้) จุตูปปาตญาณ (เกิดปัญญารู้เห็นการเคลื่อนและการอุบัติของสัตว์โลก) อาสาวักขยญาณ (เกิดปัญญารู้เห็นวิธีการทำอาสวะหรือกิเลสที่หมักดองในสันดานให้สิ้นได้) ที่สุดก็ละอาสวะ ละอนุสัย ละสังโยชน์ เป็นต้น ได้หมดด้วยถาวนามยปัญญาตามหลักแห่งอริยสัจ กลายเป็นสัตบุรุษคนใหม่เกิดขึ้นในโลกแล้วสัตบุรุษท่านนี้ก็ทำการเผยแผ่พุทธศาสนาให้สืบเนื่องต่อไปอีก ดังนั้นการเผยแผ่พุทธศาสนา หรือการสั่งสอนธรรมของสัตบุรุษในลักษณะนี้เรียกว่า พุทธัตถจริยา ประพฤติเป็นประโยชน์แก่คนผู้ปารถนาเป็นพุทธ คือ เป็นอนุพุทธบุคคล และเป็นไปตามหลักที่ว่า ภาวนา ปหาตัพพา ธัมมา. คือ ธรรมที่บุคคลพึงละได้ด้วยภาวนา(๓) เนว ทัสสเนน น ภาวนาย ปหาตัพพา ธัมมา.
เนว ทัสสเนน น ภาวนาย ปหาตัพพา ธัมมา. แปลว่า ธรรมที่บุคคลพึงละได้ด้วยทัศนก็ไม่ใช่ละได้ด้วยภาวนาก็ไม่ใช่ ในทางปฏิบัติจริง หมายถึง การแสดงออกและก็แสดงออกตามธรรมชาติแห่งอุปนิสัยของเขาจริงๆ โดยไม่มีเจตนาหรือแผนการด้วยความคิดแอบแฝงแต่อย่างใด และในชีวิตมีปุพเพกตปุญญตาด้วย ทางพระว่า “สุจริตชน” เพราะสุจริตและทุจริตย่อมเป็นทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล ถ้าประพฤติสุจริตในกุศลธรรมก็ได้รับความสุข ถ้าประพฤติสุจริตในอกุศลธรรมก็ได้รับความทุกข์ การได้รับสุขหรือได้รับทุกข์ก็ตามในเมื่อดำเนินชีวิตไปจะถึงจุดอิ่มตัวแล้วก็ย่อมได้พบกับสัตบุรุษ และมีการแสดงอุปนิสัยใจคอออกไปต่อหน้าสัตบุรุษ ที่สุดก็เข้ากันได้กับคำสั่งสอนของท่านด้วยสัมมาทัศนบ้าง ด้วยวิปัสสนาภาวนาสายกลางๆ บ้าง
บาลีในสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๗ ธัมมปทัฏฐกถา ขุททกนิกาย ข้อ ๒๓ มีว่า “ธมฺมํ สุจริตํ จเร, น ตํ ทุจฺจริตํ จเร” แปลว่า พึงประพฤติธรรมให้สุจริต ไม่พึงปะพฤติให้ทุจริต และมีการแสดงออกอยู่ ๓ ทาง๑. การแสดงออกทางวาจา บ้างก็พูดตามความเห็นที่คล้อยตาม บ้างก็พูดตามความเห็นที่ขัดแย้ง บ้างก็พูดตามความเห็นที่ไม่เข้าหลักทั้งคล้อยตามและขัดแย้ง มีความเห็นที่สงสัย ความเห็นที่ไม่เข้าใจ ความเห็นที่ยังงงๆ อยู่ เป็นต้น
๒. การแสดงออกทางร่ายกาย ร่างกายเคยเป็นลมชักก็แสดงการชักออกมา ร่างกายเคยฟ้อนรำ ก็ให้แสดงการฟ้อนรำออกมา ร่างกายเคยแสดงฤทธิ์ด้วยการพ่นไฟ ก็ให้แสดงการพ่นไฟออกมา เป็นต้น
๓. การแสดงออกทางความคิดเห็น มีการแสดงออกตามความคิดเห็นในลักษณะการแนะแนวในการวางแผนอบรม การวางแผนในการประสานงาน การวางแผนประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
การแสดงออกทางวาจาก็ดี ทางกายก็ดี หรือทางความคิดก็ดี และแสดงออกโดยความสุจริตใจ อยู่ต่อหน้าสัตบุรุษ และมีปุพเพกตปุญญตาติดตามมาด้วย ไม่มีความคิดแอบแฝงแต่อย่างใด การแสดงออกอย่างนี้เรียกว่า เนว ทัสสเนน น ภาวนาย ปหาตัพพา ธัมมา. คือ ธรรมที่บุคคลพึงละได้ด้วยทัศนก็ไม่ใช่ด้วยภาวนาก็ไม่ใช่ แต่ละได้ด้วยการแสดงออก ตัวอย่างการแสดงออกทางกาย เช่น เรื่อง หญิงสหายของนางวิสาขา มีในธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔ ในวรรคที่ ๑๑ ชราวรรค ความว่า ครั้งหนึ่ง นางวิสาขาได้ไปทำพุทธบูชา พร้อมกับหญิงสหายหลายคนในเชตวันมหาวิหาร บรรดาหญิงสหายของนางวิสาขาเหล่านั้น ล้วนติดสุราทุกคน จึงพากันซ่อนขวดที่มีสุราไว้ในตัวไปทุกคน พอเข้าเขตวิหารก็แอบดื่มกันจนหมดเกลี้ยงแล้วทิ้งขวดเสีย โดยไม่ให้นางวิสาขารู้ เมื่อถึงเวลาฟังธรรมในโรงธรรม หญิงสหายของนางวิสาขาทั้งหมด ก็แสดงอาการตัวสั่นเทิ้มด้วยฤทธิ์เมา ลืมตัวแสดงทั้งการฟ้อน การรำ การปรบมือ ตรงพระพักตร์พระศาสดานั่นเอง เพื่อให้หญิงเมาเหล่านั้นสังเวช พระพุทธองค์จึงแปล่งรัศมี จากพระโลมาระหว่างพระโขนง (เส้นขนระหว่างคิ้ว) ตรงไปยังพวกเธอ ทันใดนั้น สุราในท้องของหญิงเหล่านั้นก็สร่างหายคลายไป เมื่อหญิงเหล่านั้นสร่างเมาแล้ว พระศาสดาจึงตรัสว่า เมื่อโลกสันนิวาส อันไฟ (ไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ) ลุกโพลงอยู่เป็นนิตย์ พวกเธอทั้งหลายยังจะร่าเริง บันเทิงอะไรกันหนอ ? เธอทั้งหลาย ! ผู้อันความมืดปกคลุมแล้ว ทำไมจึงไม่แสวงหาประทีป (หาแสงสว่างทางปัญญา) กันเล่า ? ดังนี้ เป็นต้น เมื่อหญิงเหล่านั้นได้น้อมรับเอาคำตักเตือนมาปฏิบัติด้วยดี ย่อมได้บรรลุความเป็นสัมมาทิฏฐิ (เกิดความเห็นชอบเกี่ยวกับสุรา) มีสัมมาทิฏฐิซึมซาบอยู่ในชีวิตตลอดไป ที่เคยติดอยู่ในรสสุราก็เลิกและละไม่ดื่มอีกต่อไป การที่หญิงสหายของนางวิสาขาเหล่านั้นเลิกและละโดยไม่ดื่มสุราอีกต่อไปเพราะการแสดงออกด้วยการเมาสุรา จึงได้ฟังธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ลักษณะอย่างนี้เป็นการสั่งสอนธรรมแก่ญาติให้ได้ปฏิบัติ ญาตัตถจริยา ประพฤติเป็นประโยชน์แก่ญาติ คือ กลุ่มชนผู้เป็นพุทธบริษัท หรือเป็นพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะ ตามหลักที่ว่า เนว ทัสสเนน น ภาวนาย ปหาตัพพา ธัมมา. คือ ธรรมที่บุคคลพึงละได้ด้วยทัศนก็ไม่ใช่ ละได้ด้วยภาวนาก็ไม่ใช่ แต่ละได้ด้วยการแสดงออกตามอุปนิสัยโดยไม่มีเจตนาใดๆ ทั้งสิ้น และเป็นผู้มีบุญที่ตนได้กระทำไว้แล้วในปางก่อนด้วย
วัด
(measure)
วัด คือสถานที่เป็นที่สอบขนาดแห่งคุณธรรมในใจของคนผู้เกี่ยวข้องกับวัด จะตรงกับภาษาคนภาคอีสานว่า “แทก” ภาษาอังกฤษว่า measure (เม็ชเชอ) เพื่อเช็ค check (เช็ค) หรือเพื่อตรวจสอบคุณธรรมในชีวิต โดยมีการวัดอยู่ ๓ มิติหรือ ๓ ขนาดคือ
๑.วัดความกว้างแห่งคุณธรรมในใจด้วยทาน ซึ่งมีการทานอยู่ ๓ ระดับ ได้แก่ ทานปารมี ๑ ทานอุปปารมี ๑ ทานปรมัตถปารมี ๑ ชีวิตของคนผู้ที่วัดได้ด้วยทานปรมัตถปารมี เป็นชีวิตที่ประเสริฐที่สุด (การทาน คือ คุณธรรมที่ทำให้รวยทรัพย์ ทั้งภายในและภายนอก) ๒. วัดความยาวแห่งคุณธรรมในใจด้วยการประพฤติปฏิบัติในศีล ซึ่งมีศีลอยุ่ ๓ ระดับ ได้แก่ จุลศีล ๑ มัชฌิมศีล ๑ มหาศีล ๑ ชีวิตที่วัดได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติมหาศีล เป็นชีวิตที่ประเสริฐที่สุด (ศีล คือสิ่งที่นำชีวิตให้เป็นระเบียบมองเห็นการณ์ไกล ทั้งฝ่ายโทษและฝ่ายคุณ) ๓. วัดความสูงหรือความลึกแห่งคุณธรรมในใจด้วยความรู้หรือปัญญา ซึ่งมีความรู้หรือปัญญาอยู่ ๓ ระดับ ได้แก่ สุตามยปัญญา คือ ปัญญาจากการได้ยินได้ฟัง ๑ จินตามยปัญญา คือ ปัญญาจากการคิด วิจัย วิจารณ์ ๑ ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาจากการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ๑ ชีวิตคนโดยไม่เลือกเพศ วัย ที่ไปวัดตนในวัดได้ถึงขั้นภาวนามยปัญญา เป็นชีวิตที่ประเสริฐที่สุด เพราะปัญญานั้นเป็นเครื่องมือยังชีวิตให้หลุดพ้นจากปัญหา หรือหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
พุทธศาสนสุภาษิตท้ายเล่ม
มาในสุตตันตปิฎก เล่ม ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ ๗๒๕
————————
เนสา สภา ยตฺถ น สนฺติ สนฺโต,
สนฺโต น เต เย น วทฺนติ ธมฺมํ
ราคญฺจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ
ธมฺมํ วทนฺตา จ ภาวนฺติ สนฺโต
แปลว่า ในชุมชนใดไม่มีสัตบุรุษ ชุมชนนั้นไม่ชื่อว่า สภา คนเหล่าใดไม่กล่าวธรรม (กุศลธรรม) คนเหล่านั้นไม่ชื่อว่า สัตบุรุษ คนสัตบุรุษ คือ คนผู้ละราคะ โทสะ และโมหะแล้วกล่าวธรรม (กุศลธรรม) อยู่
– ชุมชน คือคนผู้เข้ามาร่วมประชุมในห้องประชุมนั้น – สัตบุรุษ คือ ผู้คนมีความสงบกาย วาจา ใจ ไม่กระวนกระวาย – คนผู้ไม่กล่าวธรรมในที่ประชุม ไม่ชื่อว่าสัตบุรุษ คือ ไม่กล่าววาจาเป็นกุศลธรรม กล่าวแต่วาจาเป็นอกุศลธรรม – สัตบุรุษ คือ จะเป็นหญิงหรือชายก็ได้ ย่อมเป็นผู้ละราคะหรือละความยินดี ละโทสะหรือความยินร้าย ละโมหะหรือละความมัวเมาหลงใหลในสิ่งที่ไร้ประโยชน์ กล่าวแต่กุศลว่าเท่านั้น – สภา พจนานุกรมมคธ – ไทย โดย พันตรี ป. หลงสมบูรณ์ หน้า ๗๐๙ ว่า (อิต) วิเคราะห์ว่า สนฺเตหิ ภาติ ทิปฺปตีติ สภา ที่ประชุมอันรุ่งเรืองด้วยสัตบุรุษ ผู้มีดวงประทีป คือ ปัญญา (ปัญญาสัมมสทิฏฐิ) เป็นเครื่องนำทาง เรียกว่า “สภา” – สนฺติ (สัตบุรุษหรือคนสงบ) เป็นบทหน้า ภาติ ว่าความรุ่งเรือง ทิปฺปติ ว่าประทีปหรือแสงสว่าง กฺวิ ปัจจัยในนามกิตก์ ดังนั้น คำว่า “สภา” จึงหมายถึง ที่ประชุมอันรุ่งเรืองด้วยสัตบุรุษผู้มีดวงประทีป คือ ปัญญาเป็นเครื่องนำทาง เรียกว่า “สภา” – ถ้าไม่มีสัตบุรุษในที่ประชุม ที่นั้นไม่ชื่อว่า สภา หมายความว่า อาจประชุมกันเล่นละคร เล่นดนตรี ร่วมกันหาผลประโยชน์เฉพาะตัว โต้วาที ประชันวาทศิลป์ หรือเวทีมวย เป็นต้น โปรดย้อนอ่านดูเรื่องของสัตบุรุษพร้อมคุณธรรมจริยธรรม ๗ ข้อบ่อยๆ จักแจ่มแจ้งได้.
พระครูสุคนธ์คณารักษ์
(พิมพ์ พันสวัสดิ์ ป.ธ. ๓, น.ธ. เอก, ปริญญาโท ค.ม., M.Ed.,)
เจ้าอาวาสและเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด
วัดหนองริวหนัง ตำบลลำหนองแสน อำเภอหนองกุงศรี
จังหวัดกาฬสินธุ์ ๔๖๒๒๐
วิปัสสนาจารย์และอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
โทร (๐๔๓) ๘๘๑๐๙๕ โทรสาร (๐๔๓) ๘๘๑๐๙๕
e-Mail thammiga@hotmail.com, www.watnongriewnang.com