มาตรวจดูนรกในชีวิตกันเถอะ

= คำโบราณว่า สวรรค์ในอกนรกในใจไม่ผิดแน่ เพราะเราสร้างและปลูกฝังขึ้นมาเอง=

= ในสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒  ข้อ ๙๒ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับของ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ  พิมพ์ครั้งที่ ๓ พุทธศักราช ๒๕๒๑ ในสังกิจจชาดก ว่าด้วยสังกิจจฤาษีแสดงธรรม (กุศลธรรมหรือความดี ๑๐ อย่าง) และอธรรม (อกุศลธรรมหรือความชั่ว ๑๐ อย่าง) แก่พระเจ้าพรหมทัตต์ มีว่า

= ธรรมหรือความดี (กุศลธรรม ๑๐) เป็นทางถูก ส่วนอธรรมหรือความชั่ว (อกุศลธรรม ๑๐) เป็นทางผิด อธรรมย่อมนำไปสู่ทุคติ (ทุคติ คือ ชีวิตเป็นไปในทางชั่ว ได้แก่ นรก เปรต เดียรัจฉาน อสุรกาย อมนุษย์ มาร) ส่วนธรรมย่อมให้ถึงสุคติ (สุคติ คือ ชีวิตไปในทางดี ได้แก่ มนุษย์ เทวดา พระพรหม อาจถึงพระอริยะบุคคลได้)

= นรก บาลีว่า นิรย แปลว่า โลกที่ไม่มีความเจริญ หมายถึง โลกทางด้านจิตหรือใจของคนผู้ทำอกุศลกรรม ๑๐ อย่างเป็นประจำวันตลอดชีวิต บางครั้งก็อาจได้ทำอนันตริยกรรมด้วย จิตหรือใจเขาย่อมเสื่อมจากความเป็นมนุษย์ใจสูง กลายเป็นคนใจต่ำลงสู่ “นรก” ซึ่งมีนรกอยู่ ๔๕๗ ขุม คือ (๑) มหานรก ๘ ขุม (๒) อุสสทนรก ล้อมรอบมหานรกอยู่ ๑๒๘ ขุม (๓) ยมโลกนรก ล้อมรอบมหานรกและอุสสทนรกอยู่ ๓๒๐ ขุม (๔) โลกันตนรก เป็นนรกเอกเทศไม่อยู่ในกลุ่มใด มีอยู่ ๑ ขุม รวมนรกทั้งหมดเป็น ๔๕๗ ขุม

= มหานรกหรือนรกใหญ่ ๘ ขุม =

๑. สัญชีวนรก นรกสัญชีพ คือ มีชีวิตอยู่ด้วยความสุขสบาย เหมือนสัตว์ที่คนเลี้ยงอย่างดี เช่น หมู วัว ควาย เป็นต้น เสพสุขสบาย แต่ไม่ทราบว่าเขาจะนำไปเชือดเมื่อไรไม่รู้ตัวสักนิด ฉันใด คนผู้เสพติดในความสุขสบาย ย่อมไม่ยินดีฝึกฝนอบรมตนเองให้มีปัญญาสัมมาทิฏฐิได้ (ปัญญาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ ไม่นับว่าเป็นการฝึกฝนอบรมตน) นายนิรยบาลจะนำไปลงโทษอย่างไรและเมื่อไรก็ย่อมไม่รู้ คนเช่นนี้จึงดำรงชีวิตอยู่ไม่ต่างอะไรกับสัตว์เลี้ยงมีหมู วัว เป็นต้น เหมือนกัน คนเช่นนี้เรียกว่าตกนรกขุมชื่อว่า  สัญชีวนรก คือ นรกสบาย

๒. กาฬสุตตนรก นรกเส้นด้ายดำ คือ เกิดโรคาพาธต่าง ๆ ในระบบกายทั้งอวัยวะภายในและภายนอก เช่น โรคมะเร็งตับ มะเร็งนม เป็นต้น หรือโรคในระบบจิตหรือใจ เช่น โรคจิตโลภอยากได้อย่างไม่มีขอบเขต โรคจิตโกรธ ทำร้ายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า เป็นต้น โรคจิตหลงงมงาย ถึงขนาดที่สัตบุรุษแนะนำพร่ำสอนไม่ได้เลย เป็นต้น และโรคระบบเจตสิก โดยเฉพาะมิจฉาทิฏฐิเจตสิก (คือ โรคความเห็นผิด ซึ่งเป็นโรคอย่างยิ่ง) คนเช่นนี้เรียกว่าตกนรกขุมชื่อว่า กาฬสุตตนรก คือ นรกเส้นด้ายดำ

๓. สังฆาตนรก นรกสังฆาต คือ ถูกฆาตกรรมหรือถูกกระทบกระแทกแดกดัน (ทางกาย วาจา ใจ) จากสิ่งต่าง ๆ จากคนต่าง ๆ จากธรรมชาติต่าง ๆ เช่น ภัยธรรมชาติบ้าง ภัยสังคมบ้าง ภัยในหน้าที่การงานบ้าง เป็นต้น แต่ชีวิตก็ยังดีอยู่และอยู่ด้วยความระทมขมขื่นใจเป็นอย่างยิ่ง ขมขื่นทั้งกลางวันและกลางคืน คนเช่นนี้เรียกว่าตกนรกขุมชื่อว่า สังฆาตนรก นรกที่ถูกกระทบกระแทกแดกดัน คนเช่นนี้เรียกว่าตกนรกขุมชื่อว่า สังฆาตนรก นรก ที่ถูกฆาตกรรมแต่ชีวิตยังอยู่

๔. โรรุวนรก นรกร้อง คือ ชีวิตประสบสิ่งที่เป็นอนิฏฐารมณ์ (สิ่งที่ไม่ปรารถนา) เกิดความเสียอกเสียใจจึงแสดงเสียงร้องออกมา เช่น ร้องไห้ ร้องขอความช่วยเหลือ ร้องครวญคราง ร้องด่า เป็นต้น คำพระว่า โสกะปริเทวะทุกขะโทมะนัสสะอุปายาส คือ ความโศกเศร้าเสียใจ ความร่ำไรรำพรรณ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ หรือความคับแค้นใจทั้งหลาย ก็เป็นทุกข์อย่างหนึ่ง คนเช่นนี้เรียกว่าตกนรกขุมชื่อว่า โรรุวนรก คือ นรกร้อง

๕. มหาโรรุวนรก นรกร้องดังหรือร้องแรง คือ ร้องดัง ร้องไกลหรือร้องนาน ร้องมาก ได้แก่ ร้องเรียนให้ผู้มีอำนาจลงโทษให้บ้าง เป็นคดีความฟ้องร้องที่โรงศาลบ้าง ปลุกระดมพลให้ก่อม๊อบมีพวกมาก ๆ เรียกร้องเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนปรารถนาบ้าง และเพื่อให้ขจัดปัดเป่าสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาให้สิ้นสลายไป เป็นต้น คนเช่นนี้เรียกว่าตกนรกขุมชื่อว่า มหาโรรุวนรก คือ นรกที่มีการร้องดังมาก ๆ

๖. ตาปนนรก นรกร้อน คือ ชีวิตประสบปัญหาหรือความทุกข์ทางใจ เช่น ราคัคคิ ไฟราคะหรือไฟแห่งความรักใคร่เพศตรงข้ามบ้าง รักใคร่หวงแหนในทรัพย์สินบ้าง  เป็นต้น เผาผลาญใจให้เร่าร้อนบ้าง โทสัคคิไฟโทสะหรือไฟแห่งความโกรธแค้นในคน ในสัตว์ที่ตนเกลียดชังหรือขลาดกลัว เป็นต้นบ้าง โมหัคคิ ไฟโมหะหรือไฟแห่งความหลงผิด (มิจฉาทิฏฐิ) จนทำให้ชีวิตถลำลามไปหากองไฟราคะ ลามไปหากองไฟโทสะ โดยไม่รู้สึกตัว เกิดความเร่าร้อนใจ กระวนกระวาย กระสับกระส่าย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เป็นต้น คนเช่นนี้เรียกว่าตกนรกขุมชื่อว่า ตาปนนรก คือ นรกเร่าร้อน

๗. มหาตาปนนรก นรกร้อนอย่างมาก คือ เร่าร้อนถึงขั้นทำให้ชีวิตตนหรือชีวิตคนอื่นสัตว์อื่น ตลอดถึงทรัพย์สินสมบัติอื่น ๆ ทั้งที่เป็นทรัพย์สินสมบัติของตนและของผู้อื่นสัตว์อื่น เกิดความวิกฤตเสียหายมากมาย ทางพระเรียกอาการเช่นนี้ว่า “เกิดวิปฏิสารทางใจ” ต่าง ๆ นานา เช่น ถึงขั้นได้ทำร้ายตนเองบ้าง ทำร้ายคนอื่นสัตว์อื่นบ้าง ลักลอบเผาบ้านเรือนตนเองหรือบ้านเรือนคนอื่นบ้าง จนทำให้ชีวิต ทรัพย์สิน เป็นต้น พินาศฉิบหายไป คนเช่นนี้เรียกว่าตกนรกขุมชื่อว่า มหาตาปนนรก คือ นรกที่เร่าร้อนมาก

๘. อเวจีนรก นรกที่ปราศจากคลื่น คือ คลื่นเสียงที่เป็นเสียงธรรม อันสัตบุรุษ (ผู้มีคุณธรรมประจำชีวิต ๗ อย่าง) เทศหรือแสดงไว้ในรูปแบบ “ธรรมวินัย ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์” ทั้งที่เป็นเสียงในอดีต อนาคต และเสียงปัจจุบัน ก็ตาม เขาจะไม่ได้ยิน ไม่ได้พบเห็น ไม่ได้รู้ ไม่ได้เข้าใจ และไม่เกิดความสนใจแต่อย่างใด เพราะคนผู้ตกนรกขุมนี้จะมีหู ตาภายในทั้งสี่หนวกและบอดอย่างสนิทแล้ว คือ (๑) มังสจักษุ ตาเนื้อหูเนื้อ อาจดีอยู่หรือหนวกบอดจริง ๆ ก็ได้ (๒) ทิพพจักษุ ตา หูที่เป็นทิพย์ก็ดี (๓) พุทธจักษุ ตา หูที่ให้เกิดความตื่นตัวก็ดี (๔) สมันตจักษุ ตา หูที่ให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินชีวิตก็ดี (๕) ปัญญาจักษุ ตา หูที่ให้เกิความรู้ในกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรมก็ดี ตา หู ที่เป็นตาเนื้อหูเนื้อนั้นจะยังดีอยู่ก็ตาม ส่วนตาหูภายในทั้งสี่นั้น ถ้าบอดหนวกเสียแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถได้เห็นสัตบุรุษ และไม่ได้ยินเสียงสัตบุรุษแสดงธรรมได้ (แม้ได้เห็นตัว หรือได้ยินเสียงก็ไม่ยอมรับ) แต่ถ้าเป็นตัวตนของอสัตบุรุษและเป็นเสียงของอสัตบุรุษแสดงธรรม ย่อมได้เห็นและได้ยินหมด (เพราะความหลงผิดเป็นชอบเอง) คนเช่นนี้เรียกว่าตกนรกขุมชื่อว่า อเวจีนรก คือ นรกที่ปราศจากคลื่นเสียงแห่งธรรมที่สัตบุรุษแสดงแล้วหรือเขียนจารึกไว้แล้ว

(เหตุคือกรรมชั่วที่สร้างและปลูกฝังนรกไว้ในชีวิต) ได้แก่ อกุศลกรรมหรือกรรมชั่ว ๑๐ อย่าง อนันตริยกรรมหรือกรรมชั่วที่สุด ๕ อย่าง ที่ใครทำไว้ตลอดชีวิตเขา นั่นเป็นตัวเหตุให้ได้รับผลเป็นนรก ๘ ขุมดังที่กล่าวมานั้น ปรากฏขึ้นในอกในใจจริง ๆ สนใจจะรู้เรื่องชีวิตว่าตนตกนรกหริอไม่และจะพ้นได้อย่างไรนั้น โปรดทำบุญไว้มาก ๆ แล้วก็ไปพบและสอบถามสัตบุรุษท่านจะแนะนำให้ปฏิบัติใหม่ คือ ให้ปฏิบัติทางกุศลกรรม อัพยากตกรรม เรื่องนี้เราจะปฏิบัติเองนั้นเป็นไปไม่ได้แน่ !

(โปรดติดตามคราวหน้า)

ด้วยความปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมโลก

ธัมมิกะ

watnongriewnang@gmail.com

๒  ตุลาคม  ๒๕๕๑