การปฏิบัติพรหมวิหาร

 

= พรหมวิหารธรรม =

พรหมวิหารธรรม แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ในใจของคนผู้มีใจประเสริฐ คือ มีใจดีเลิศ มีอยู่ ๔ อย่าง คือ

๑. เมตตา ความรักใคร่ มีใจปรารถนาให้คนและสัตว์ดำรงชีวิตอยู่เป็นสุข

๒. กรุณา ความเอ็นดู ความเห็นอกเห็นใจในความทุกข์ของคนและสัตว์ คือ มีใจปรารถนาในการทำให้เขาพ้นทุกข์

๓. มุทิตา ความพลอยยินดีด้วย ในเมื่อเขาปฏิบัติไปตามทางพ้นทุกข์ได้ และเขาก็พ้นทุกข์ไปแล้วด้วย

๔. อุเปกขา ความวางเฉยได้ในเมื่อเขาประสบเคราะห์กรรมอันหนัก หรือได้รับผลของอกุศลกรรม อนันตริยกรรมอันเป็นผลสุดยอดแล้ว

อนึ่ง มีความวางเฉยได้ ในเมื่อเขาประสบความดีที่เขาพอใจที่สุดแล้ว (อันที่จริงเป็นความชั่ว) และเราก็รู้ว่านั่นเป็นความดีที่หลงผิดเป็นชอบเท่านั้น สุดท้ายก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้

หลักการแผ่เมตตา (ตามหลักวิชาการ)

๑. คำแผ่เมตตาให้ตนเอง (ปรารถนาให้ตนเป็นสุข ตามหลักวิชาการ)

– อะหัง สุขิโต โหมิ. ขอให้ข้าพเจ้า จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด

– นิททุกโข โหมิ. ขออย่าได้มีความทุกข์เลย

– อเวโร โหมิ. อย่าได้มีเวรมีภัยแก่กันและกันเลย

– อัพยาปัชโฌ โหมิ. อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

– อนีโฆ โหมิ. อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย

– สุขี อัตตานัง ปะริหรามิ. รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด

. คำแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ (ปรารถนาให้สัตว์เป็นสุข ตามหลักวิชาการ)

– สัพเพ สัตตา. สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

– อเวรา โหนตุ. อย่าได้มีเวรมีภัยแก่กันและกันเลย

– อัพยาปัชฌา โหนตุ. อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

– อนีฆา โหนตุ. อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย

– สุขี อัตตานัง ปะริหรันตุ. จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด

๓. คำแผ่กรุณาให้สรรพสัตว์ (ปรารถนาให้สัตว์พ้นทุกข์ ตามหลักวิชาการ)

– สัพเพ สัตตา สัพพะทุกขา ปะมุญจันตุ. สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่มีความทุกข์ จงพ้นจากความทุกข์นั้นเถิด

๔. คำแผ่มุทิตาให้สรรพสัตว์ (มีจิตยินดีด้วยเมื่อสัตว์สุขสบาย ตามหลักวิชาการ)

– สัพเพ สัตตา ยะถาลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ. สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่มีความสุขความเจริญ จงมีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปเถิด จงอย่าได้เสื่อมสูญ จงอย่าได้พลัดพราก จากความสุขความเจริญนั้นเลย

๕. คำแผ่อุเปกขาให้สรรพสัตว์ (จิตไม่ยินดีไม่ยินร้าย เมื่อช่วยไม่ได้)

– สัพเพ  สัตตา  กัมมะสะกะตา  กัมมะทายาทา  กัมมะโยนิ  กัมมะพันธุ กัมมะปะฏิสะระณา ยัง กัมมัง กะริสสันติ กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาทา

ภะวิสสันติสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งพาอาศัย สัตว์ทั้งหลายเหล่าใด ทำกรรมดีไว้ก็ตาม (ทำกุศลกรรมสิบอย่าง)ทำกรรมชั่วไว้ก็ตาม (ทำอกุศลกรรมสิบ อนันตริยกรรมห้า) สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมจักได้รับผลของกรรมนั้น ๆ โดยแท้.

พรหมวิหารธรรม (ตามหลักปฏิบัติจริง)

๑. หลักและวิธีการปฏิบัติเมตตา กรุณา มุทิตาจริง ๆ

ตนมีจิตเมตตา ความรักใคร่ในตนในคนหรือในสัตว์ โดยปรารถนาใคร่จักให้ตนและคนอื่นสัตว์อื่นได้รับความสุขสบายทั้งในปัจจุบันและในภายภาคหน้า ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “มีจิตเมตตา” โดยไม่มีจิตหรืออารมณ์อื่น ๆ แอบแฝง และเป็นไปในทางจิตเท่านั้น โดยยังไม่ได้ทำทางกาย  ไม่ได้พูดทางวาจาแต่อย่างใด

ขั้นต่อมา ก็ใช้ปัญญาที่ประกอบด้วยเมตตาจิตนั้น ตรวจตราดูตน ดูคน หรือดูสัตว์ว่า พวกเขาเหล่านั้นกำลังประสบกับทุกข์ หรือประสบกับปัญหาอะไรอยู่ หรือปัญหายังไม่มี แต่เขากำลังใช้ชีวิตไปตามวิถีทางแห่งความทุกข์หรือทางแห่งปัญหาอยู่ (ทางให้เกิดทุกข์ คือ อกุศลกรรม ๑๐ อนันตริยกรรม ๕) โดยตรวจดูว่า จะมีทางช่วยให้พ้นจากทุกข์หรือพ้นจากปัญหาได้ไหม ถ้าได้จะได้ในลักษณะใด ช่วยให้พ้นได้ชั่วคราวหรือให้พ้นได้อย่างถาวร หรือว่าเป็นความทุกข์เป็นปัญหาที่ช่วยในลักษณะใด ๆ ก็ไม่มีทางจะพ้นทุกข์หรือพ้นปัญหาได้เลย เมื่อตรวจตรารอบคอบแล้วเห็นว่าช่วยได้แน่ ๆ และรู้ว่าช่วยได้อย่างถาวรหรือชั่วคราวด้วย จากนั้นก็ลงมือช่วยทันทีโดยไม่รอช้า ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “ความกรุณา” ความเอ็นดูเห็นใจใคร่จะทำให้ตนให้คนอื่นสัตว์อื่นพ้นจากทุกข์หรือพ้นจากปัญหา โดยไม่หวังการตอบแทนใด ๆ จากคนอื่นสัตว์อื่นที่เราช่วยเหลือไป หากมีหวังอย่างใด อย่างหนึ่งในใจอยู่ชื่อว่าไม่ใช่ เมตตา ไม่ใช่กรุณา (มารยา เล่ห์เหลี่ยม หลอกลวง ทุจริต มรรยาทวิบัติ ปอกลอก)

อย่าลืมว่า หลักและวิธีการปฏิบัติกรุณาธรรม ซึ่งต่อเนื่องมาจากเมตตาธรรมนั้น หมายถึง ความกรุณาหรือความช่วยเหลือด้วยการปล่อยวาง คือ ไม่ผูกพันธ์กัน เช่น  คนมีทุกข์เพราะไม่มีข้าวจะกินเราก็ตรวจดูแล้วว่าช่วยได้ ก็ให้ข้าวเปลือกเขาไป โดยให้เขานำไปเป็นทุนปลูกเอง ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับเราอีกต่อไป เป็นต้น แต่ถ้าให้ข้าวสุกพร้อมอาหารทุก ๆ วันแก่พระไปฉันเรียกว่า “ทาน” อาจเรียกว่าเมตตาหรือไม่ก็ได้ เมื่อเขาได้ข้าวเปลือกเป็นทุนจากเราแล้ว หลายเดือนต่อมาก็ได้ข่าวว่าคนนั้นปลูกข้าวได้ผลดี ไม่อดอยากอีกต่อไป เราก็พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาพ้นทุกข์เพราะอดข้าวกิน ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “มุทิตา” คือ มีจิตยินดีเมื่อคนที่เราช่วยได้พ้นทุกข์ไปแล้ว

การปฏิบัติเมตตากรุณาที่ชอบนั้น ย่อมอาศัยหลักปวารณาธรรม คือ หลักแห่งการยินยอม ได้แก่ เขายินยอมมาหาเพื่อให้เราเมตตากรุณาไหม ? หรือเขายินยอมให้เราไปเมตตากรุณาเขาไหม ? ถ้าหากเขายินยอมตามรูปแบบใดก็ได้ แต่ก็ตรวจตราดูก่อนว่า ความทุกข์นี้เข้าหลักที่เราจะแสดงเมตตากรุณาได้หรือไม่ หากเห็นว่าช่วยได้ก็ช่วยทันที แต่ถ้าเห็นว่าช่วยไม่ได้แน่ ก็ควรหันไปปฏิบัติตามหลักพรหมวิหารข้อ ๔ คือ “อุเปกขาธรรม” ความวางเฉยได้ คือ ไม่มีจิตยินดีและยินร้ายในคนนั้น ๆ ในสัตว์นั้น ๆ อีกต่อไป ลักษณะที่ควรแสดงเมตตากรุณา ตามหลักปวารณาธรรม คือ หลักแห่งการยินยอม ซึ่งเป็นการยินยอมตามธรรมชาติแห่งอุปนิสัยใจคอของคนหรือสัตว์โดยไม่มีเจตนาก็ตาม หรือยินยอมด้วยจิตใจที่มีเจตนาตรง ๆ ก็ตาม มีอยู่ ๔ ลักษณะ คือ

๑. ปวารณาหรือยินยอมให้ขอ (ให้เขาขอเรา – เขาให้เราขอ เฉพาะสิ่งที่ควร)

๒. ปวารณาหรือยินยอมให้ใช้ (ให้เขาใช้เรา – เขาให้เราใช้ เฉพาะกิจที่ควร)

๓. ปวารณาหรือยินยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน (ให้เขาตักเตือนเรา – เขาให้เราตักเตือน)

๔. ปวารณาหรือยินยอมให้แนะนำพร่ำสอน (ให้เขาแนะนำพร่ำสอนเรา – เขาให้เราแนะนำพร่ำสอน)

สรุปความ การแสดงเมตตา กรุณา ตามหลักปฏิบัติจริง ๆ นั้น มีการแสดงออกด้วยการปฏิบัติจริงอยู่ ๔ประการ คือ

๑. ให้วัตถุสิ่งของที่ควรให้ ให้แก่คนสัตว์ที่ควรให้ ในเวลาอันควรด้วย หากไม่เหมาะไม่ควรก็ทำกาย วาจา และใจให้เป็น อุเบกขา (ดูปวารณาข้อ ๑) 

๒. ช่วยแรงงาน คือ ช่วยคนสัตว์ที่ควรช่วย ในเวลาอันควรด้วย หากไม่เหมาะไม่ควรก็ทำกาย วาจา และใจให้เป็น อุเบกขา (ดูปวารณาข้อ ๒)

๓. ว่ากล่าวตักเตือน คือ ตักเตือนคนสัตว์ที่ควรตักเตือน ในเวลาอันควรด้วย หากไม่เหมาะไม่ควรก็ทำกาย วาจา และใจให้เป็น อุเบกขา (ดูปวารณาข้อ ๓)

๔. แนะนำพร่ำสอนในทางที่ชอบ (สัตบุรุษ จะปฏิบัติเมตตา กรุณาตามหลักที่สี่นี้ คือ แนะนำพร่ำสอนให้รู้ อกุศลกรรม ๑๐ เป็นความชั่วไม่ควรทำ ส่วนกุศลกรรม ๑๐ เป็นความดีควรทำตาม อัพยากตกรรม ๔ พ้นจากความชั่วและความดี ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ควรทำเช่นกัน) แต่ถ้าตรวจตราดูแล้วเห็นว่า คนนี้สัตว์นี้เป็นคนสัตว์ที่ไม่ควรที่เราจะปฏิบัติเมตตา กรุณา ก็ทำกาย วาจา และใจให้เป็น อุเบกขา คือ วางเฉยเสีย (ดูปวารณาข้อ ๔)

การปฏิบัติอุเปกขา (มีปัญญาสัมมาทิฏฐิเท่านั้นจึงจะรู้และปฏิบัติอุเบกขาธรรมได้) 

อุเปกขา หรือ อุเบกขา แปลว่า ความวางเฉย คือ เมื่อเราได้พบเห็นหรือได้ยินได้ฟังเรื่องของคนสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากก็ดี หรือว่ามีความรู้สึกนึกคิดขึ้นในใจที่จะปฏิบัติเมตตา กรุณาแก่คนสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากก็ดี(คือ เขาประสบกับปัญหาอย่างหนัก) ดังนี้ อันดับแรกก็ใช้ปัญญาตรวจตราดูว่า กรณีเช่นนี้จะเข้าข่ายที่เราควรปฏิบัติเมตตา กรุณาหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายก็แสดงเมตตา กรุณาทันที โดยไม่หวังผลตอบแทนกลับมาและก็ไม่มีการผูกพันธ์กัน แต่ถ้าเห็นว่าไม่เข้าข่ายที่จะปฏิบัติเมตตา กรุณาแล้วก็ทำกาย วาจา และใจให้เป็นอุเบกขา คือ วางเฉยเสีย โดยภาวนาในใจว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน ทำกรรมใดก็ย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้น ดังนี้

สำหรับคน (ยกเว้นสัตว์ บางกรณีก็อาจเป็นสัตว์) ในโลกนี้ ที่เราควรปฏิบัติอุเปกขาธรรมแก่เขานั้น มีคนอยู่ ๒ ประเภท คือ คนเขาประสบปัญหาหรือความทุกข์ถึงขั้นวิกฤติแล้ว ๑ หรือคนเขาเป็นคนมีชีวิตถึงความวิบัติเต็มที่แล้ว ๑ เมื่อพบคนสองประเภทนี้แล้ววางเฉยเสีย (ขืนช่วยอาจจะได้รับถ่ายทอดวิบากหรือได้รับเชื้อบาปติดต่อถึงผู้ช่วยก็ได้) คนสัตว์ที่

ประสบภัยพิบัติถึงขั้นวิกฤต

คำว่า “วิกฤต” นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามไว้ว่า คนหรือสัตว์ที่ประสบภัย ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงขั้นล่อแหลมต่ออันตราย เช่น อันตรายทางตา ทางหู ทางจมูก ทางปากหรือลิ้น ตลอดถึงอันตรายทางร่างกาย มีขา แขน ศีรษะ ลำตัว ตับ ไต ปอด เป็นต้น หรือทรัพย์สินสมบัติเขาประสบอันตรายถึงขั้น “วิกฤต” ดังนี้ ก็ควรปฏิบัติพรหมวิหารข้อ อุเปกขา วางเฉยเสีย คือ ไม่ซ้ำเติมเขา ไม่รำพึงรำพันถึงเขาหรือถึงเมตตา กรุณา  ควรระลึกถึงคำว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นทายาท  มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งพาอาศัย สัตว์ทั้งหลายเหล่าใด ทำกรรมดีไว้ก็ตาม ทำกรรมชั่วไว้ก็ตาม สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมจักได้รับผลของกรรมนั้น ๆ  ดังนี้

คนที่มีชีวิตถึงความวิบัติ

คำว่า “วิบัติ” บาลีว่า “วิปัตติ” แปลว่า ชีวิตถึงความเป็นไปต่าง หมายถึง ชีวิตของคนผู้นั้นต่างจากชีวิตมนุษย์ คือ คุณธรรมจริยธรรม (กุศลธรรม ๑๐ อย่าง อัพยากตธรรม ๔ อย่าง) ของมนุษย์ในใจเขาเสื่อมสูญไปจากชีวิตเขาแล้ว เรียกว่า ชีวิตถึงความวิบัติ ในธรรมวิภาค ปริเฉทที่ ๒ หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษา ชั้นโท ของมหามกุฏราชวิทยาลัย กล่าวถึงวิบัติ มีอยู่ ๔ อย่าง คือ

๑. สีลวิบัติ ถึงความเสื่อมแห่งศีล (ภาคปฏิบัติ หมายถึง คนมีอวัยวะในร่างกายผิดปรกติผิดธรรมชาติ อาจผิดปรกติมาแต่กำเนิด หรืออาจผิดปรกติใหม่)

๒. อาจารวิบัติ ถึงความเสื่อมแห่งมรรยาท (ภาคปฏิบัติ หมายถึง คนผู้แสดงกาย วาจา ใจไม่ตรงกัน)

๓. ทิฏฐิวิบัติ ถึงความเสื่อมแห่งความเห็น (ภาคปฏิบัติ หมายถึง บุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทิฏฐิวิปัลลาส)

๔. อาชีววิบัติ ถึงความเสื่อมแห่งอาชีพ (ภาคปฏิบัติ หมายถึง อาชีพที่ให้คุณธรรมของมนุษย์เสื่อม)

คนมีศีลวิบัติ (ตามหลักวิชาการ)

ในสุตตันตปิฎก เล่ม ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ ๗๙ ความว่า โทษแห่งศีลวิบัติของคนผู้ทุศีล (ทำผิดศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗) มีอยู่ ๕ ประการ คือ :-

๑. ถึงความเสื่อมไปแห่งโภคะทรัพย์อย่างใหญ่หลวง อันมีความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เสื่อม เช่น อวัยวะผิดปรกติ (อวัยวะในกายก็เป็นโภคะสมบัติอย่างหนึ่ง)

๒. เกียรติศัพท์อันชั่วของคนทุศีล มีศีลวิบัติแล้วย่อมกระฉ่อนไป (ผู้มีอำนาจเป็นคนทุศีล กลุ่มคนพาลจะยกย่องสรรเสริญ แต่กลุ่มบัณฑิตจะเมินเฉย)

๓. เมื่อเข้าไปในบริษัท (ชุมชนผู้มีศีล) ใด ๆ ก็ตามย่อมครั่นคร้าม เก้อเขิน

๔. เป็นคนหลงกระทำกาละ (ตายโดยไม่รู้ตัว)

๕. เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกแล้ว ย่อมเข้าถึง (เกิด) ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก (เกิดเป็นสัตว์นรก เปรต เดียรัจฉาน อสุรกาย อมนุษย์ มาร)

โดย ธัมมิกะ

thammiga@hotmail.com

๒๒   สิงหาคม   ๒๕๕๑