ชาดกนี้ พระพุทธองค์ทรงยกภิกษุผู้ว่ายากรูปหนึ่งให้เป็นต้นเหตุว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในปางก่อนภิกษุนี้ก็เป็นผู้ว่ายาก ไม่เชื่อฟังคำของนักปราชญ์ทั้งหลาย จึงติดบ่วงของนายพรานตาย ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงชาดกนี้ต่อไปว่า ครั้งสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีเนื้อฝูงหนึ่งอยู่ในป่าใหญ่แห่งนึ่ง นางเนื้อตัวหนึ่งได้นำเอาบุตรของตนไปมอบให้แก่เนื้อพี่ชายผู้เป็นนายฝูง เพื่อให้ช่วยสั่งสอนเล่ห์กลมารยาแห่งเนื้อ เนื้อผู้เป็นพี่ชายก็รับว่าจะช่วยสั่งสอนให้ แล้วจึงสั่งเนื้อนั้นให้มาเรียนตามเวลาที่กะไว้ แต่ลูกเนื้อหาได้มาเรียนตามคำสั่งไม่ จนล่วงไปได้ ๗ วัน ได้แต่เที่ยวซุกซนอยู่ตามลำพังของตน ไม่ช้าก็ได้ไปติดบ่วงของนายพรานป่า เมื่อมารดาได้ทราบจึงไปไต่ถามพี่ชายว่า ท่านได้สอนอุบายให้แก่หลานแล้วหรือ พี่ชายตอบว่าเจ้าอย่าได้คิดถึงบุตรหัวดื้อของเจ้าเลย เขาไม่ได้มาเล่าเรียนตามเราสั่งแม้แต่ครั้งเดียว ครั้นกล่าวดังนี้แล้วเมื่อไม่ประสงค์จะสอนลุกเนื้อนั้นต่อไป จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
อฏฺฐกฺขุรํ ขราทิเย มิคํ วงฺกาติวงฺกินํ
สตฺตกาเลหติกฺกนฺตํ น นํ โอวทิตุสฺสเหติ
แปลว่า ดูก่อนนางเนื้อผู้มีชื่อว่าขราทิยา เราไม่สามารถจะสั่งสอนเนื้อซึ่งเป็นสัตว์มีเท้า ๘ กีบ มีเขาคดแต่โคนขึ้นไปถึงที่แตกเป็นหลายกิ่งก็ยิ่งคดเคี้ยวหนักขึ้น ผู้ดื้อดึงไม่เชื้อคำของเราถึง ๗ วัน เราไม่ยินดีที่จะว่ากล่าวลูกเนื้อผู้ว่ายากนั้นเลย ดังนี้ ส่วนลูกเนื้อที่ติดบ่วงของนายพรานนั้น นายพรานก็ได้ฆ่าแล่เนื้อเถือหนังเอาไปตามอัชฌาศัยของตน ครั้นพระพุทธองค์ตรัสเรื่องอดีตจบลงแล้ว จึงตรัสว่าลูกเนื้อผู้ว่ายากในครั้งนั้น ได้เกิดมาเป็นภิกษุผู้ว่ายากในบัดนี้ มารดาแห่งลูกเนื้อนั้นเป็นนางอุบลวัณณา ส่วนเนื้อผู้เป็นนายฝูง คือเราตถาคตนี้แล ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นว่า การว่ายากดื้อดึงไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของนักปราชญ์ ย่อมถึงซึ่งความพินาศในปัจจุบัน เหมือนกับลูกเนื้อนั้นเป็นอุทาหรณ์ ดังนี้
“ดูกรนางเนื้อขราทิยา ฉันไม่สามารถจะสั่งสอน
เนื้อตัวนั้น ผู้มีเท้า ๘ กีบ มีเขาคดแต่ โคนจน
ถึงปลายเขา ล่วงเลยโอวาทเสียตั้ง ๗ วัน.”
ขราทิยชาดก จบ.