๕๗. วานรินทชาดก (ธรรมของผู้ล่วงพ้นศัตรู)

          พระบรมศาสดาได้ทรงปรารภการที่พระเทวทัต เพียรพยายามทำลายพระชนมชีพของพระองค์ให้เป็นต้นเหตุ จึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในอดีตกาล ครั้งเมื่อพระจอมภูมิบาลพรหมทัตเสวยสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีวานรอยู่ตัวหนึ่งมีร่างกายใหญ่เท่าลูกม้าอัศดรมีกำลังแข็งแรง เที่ยวหากินอยู่ตามลำเนาใกล้แม่น้ำแห่งหนึ่งแต่ตัวเดียว ในแม่น้ำนั้นมีเกาะอยู่เกาะหนึ่งซึ่งบริบูรณ์ด้วยต้นไม้อันมีผลต่าง ๆ มีมะม่วง มะปรางและขนุนเป็นต้น ลิงตัวนั้นได้กระโดดจากฝั่งแม่น้ำข้างนี้ ไปลงที่ก้อนหินก้อนหนึ่งซึ่งอยู่ในกลางแม่น้ำ แล้วกระโดดจากก้อนหินนั้นขึ้นไปที่เกาะนั้นอีกครั้งหนึ่ง แล้วเที่ยวเก็บกินผลไม้ตามความปรารถนา ครั้นถึงเวลาเย็นก็กระโดดมาที่ก้อนหินนั้น แล้วกระโดดขึ้นฝั่งกลับไปยังที่อยู่ของตน ทำอยู่อย่างนี้เสมอมาทุกวัน

          ในครั้งนั้น มีจระเข้ ๒ ตัวผัวเมียอาศัยอยู่ในแม่น้ำนั้น เมื่อนางจระเข้ผู้เป็นภรรยาได้เห็นวานรกระโดดข้ามไปมาอยู่นั้น ตัวกำลังแพ้ท้องก็ต้องประสงค์จะกินเนื้อหัวใจวานร จึงบอกสามีให้ทราบ ฝ่ายจระเข้ตัวเป็นสามีก็รับปากว่า เรื่องนี้ไม่เป็นไรเราจะเอาหัวใจวานรมาให้ด้วยอุบายอย่างหนึ่งให้จงได้ ครั้นว่าแล้วก็ขึ้นไปนอนอยู่บนก้อนหิน เมื่อวานรกลับจากเกาะนั้นในเวลาเย็นก็เห็นก้อนหินนั้นสูงขึ้นพ้นน้ำผิดกว่าแต่ก่อน จึงคิดสงสัยว่าคงจะมีอันตรายแน่นอน เพราะแต่ก่อนมาหินก้อนนี้สูงพอเสมอกับหลังน้ำเท่านั้น แต่บัดนี้ปรากฏสูงขึ้นมา ทั้งน้ำก็มิได้ลดลง คงจะมีจระเข้มานอนคอยจับเรากินเป็นแน่ ครั้นคิดดังนี้แล้วจึงทำทีเรียกก้อนหินว่าก้อนหิน ๆ ดังนี้ถึง ๓ ครั้ง ก็มิได้มีเสียงขานรับ มีอรรถาธิบายว่า วานรตัวนั้นได้กล่าวกับก้อนหินอีกว่า นี่แนะก้อนหิน เหตุไรในวันนี้ท่านจึงไม่ตอบเรา ฝ่ายจระเข้เมื่อได้ยินดังนั้น ก็สำคัญว่าก้อนหินเคยพูดโต้ตอบกับพญาวานรนั้นในวันก่อน ๆ จึงตอบไปว่า ดูก่อนพญาวานร ท่านจะต้องการอะไร พญาวานรจึงถามต่อไปว่านั่นคือใคร ? จระเข้ตอบว่า เราคือจระเข้  ท่านมานอนอยู่บนก้อนหินนี้เพราะเหตุไร เพราะเราต้องการหัวใจของท่าน ดูก่อนจระเข้ ถ้าอย่างนั้นท่านจงอ้าปากไว้เถิดเราจะกระโดดลงไปในปากของท่านให้ชีวิตเป็นทานแก่ท่าน ท่านจงคาบเอาเราไปตามปรารถนาเถิด ที่พญาวานรกล่าวดังนี้เพราะพญาวานรรู้เท่าทันธรรมดาของจระเข้ คือ ธรรมดาจระเข้ทั้งหลายเมื่ออ้าปากจะต้องหลับตา ฝ่ายจระเข้หารู้เท่าทันอุบายของพญาวานรไม่ จึงอ้าปากไว้คอยท่าพญาวานร ๆ จึงกระโดดลงไปจากเกาะเหยียบศีรษะจระเข้  แล้วกระโดดขึ้นฝั่งโดยรวดเร็วดุจดังสายฟ้าแลบฉะนั้น เมื่อจระเข้เห็นดังนั้นก็เกิดความอัศจรรย์ใจ จึงกล่าวสรรเสริญพญาวานรว่า ดูก่อนพญาวานร  ธรรมดาผู้มีคุณธรรม  ๔  ประการประจำมั่นอยู่ในใจแล้ว ย่อมครอบงำย่ำยีซึ่งปัจจามิตรได้ ครั้นกล่าวดังนี้แล้วจึงกล่าวเป็นสุภาษิตคาถาไว้ว่า

ยสฺเสเต   จตุโย   ธมฺมา      วานรินฺท   ยถา   ตว

สจฺจํ   ธมฺโม   ธิติ   จาโค     ทิฏฺฐํ   โส   อติวตฺตตีติ

          แปลว่า ดูก่อนพญาวานรผู้ใดมีธรรม ๔ ประการ คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ จาคะนี้ ผู้นั้นย่อมพ้นจากอำนาจศัตรูได้ เสมือนกับตัวท่านในบัดนี้ ดังนี้มีคำอธิบายตามอรรถกถาออกไปว่า คำว่า สัจจะ ได้แก่ความจริงทางวาจา  คือ พญาวานรว่าจะกระโดดลงไปหาจระเข้ ก็กระโดดลงไปจริงมิได้เหลวไหล ฯ คำว่า ธรรมะ ได้แก่ความตรึกตรองหาเหตุผลว่า เมื่อเราทำอย่างนี้จะมีผลดีอย่างนั้น ๆ เหมือนกับพญาวานรได้คิดฉะนั้น ฯ คำว่า ธิติ ได้แก่ ความเพียรพยายามทำการสำเร็จในทางที่ชอบ คำว่า จาคะ ได้แก่การสละซึ่งสิ่งของ หรือร่างกาย จิตใจ ยอมแลกเอาผลประโยชน์ เหมือนอย่างพญาวานร ได้ยอมสละชีวิตกระโดดลงไปเหยียบศีรษะจระเข้ โดยยอมเสี่ยงโชค ฉะนั้น คือพญาวานรได้ตกลงในใจแล้วว่า ถึงจระเข้จะคาบเอาเราไปกินได้โดยความว่องไวของเราก็ตามทีเถิด

          ครั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงเรื่องอดีตอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตพยายามทำลายชีพของเราไม่สำเร็จทั้งในชาตินี้และชาติก่อน แล้วทรงประชุมชาดกว่า จระเข้ในครั้งนั้นได้มาเกิดเป็นพระเทวทัตในบัดนี้ นางจระเข้ผู้เป็นภรรยา ได้มาเกิดเป็นนางจิญจมาณวิกา พญาวานร ได้มาเกิดเป็นเราตถาคตนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้แสดงให้เห็นความฉลาดของพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย แม้แต่พระองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็ยังมีปรีชาญาณรอบรู้ในเหตุผล เอาตัวรอดพ้นจากอันตรายได้ และในชาดกนี้มีธรรมสำหรับสู้ข้าศึกอีก ๔ ข้อ คือ ความจริงวาจา ๑ ความตรึกตรองหาเหตุผล ๑ ความพากเพียรพยายาม ๑ ความยอมสละชีวิต ๑ เมื่อผู้ใดใช้ธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้ ต่อสู้กับข้าศึกศัตรูผู้นั้นย่อมชนะศัตรูได้โดยไม่ต้องสงสัย มีพญาวานรที่แสดงมาแล้วนี้เป็นตัวอย่าง ดังนี้

“ดูกรพญาวานร ผู้ใดมีธรรม ๔ ประการนี้

คือ สัจจะ ธรรมคือวิจารณปัญญา ธิติคือความ

เพียร จาคะ เหมือนท่านผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูได้.”

วานรินทชาดกจบ.